svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ราชกิจจาฯ"ออกข้อกำหนด ปรับมาตรการรับมือ "โควิดกลายพันธุ์โอมิครอน"

28 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ราชกิจจาฯ" เผยแพร่ ข้อกำหนดมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปรับมาตรการรับมือ"โควิดกลายพันธุ์โอมิครอน" คงคุมเข้มการรวมตัว ชุมนุมในที่สาธารณะ ถ่ายทำรายการโทรทัศน์ พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันในสถานศึกษาเตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอนตามสถานการณ์ เริ่มมีผล 1 ส.ค.นี้

 

28 ก.ค.65  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา "ราชกิจจาฯ" เผยแพร่ ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๔๗)

 

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป อย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น

 

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในทวีปเอเชียมีแนวโน้มพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในลักษณะที่เป็นการระบาดระลอกเล็ก ๆ (Small Wave) อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน (Omicron) BA.4 และ BA.5 ภายหลังที่หลายประเทศได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศควบคู่กับการผ่อนคลาย มาตรการควบคุมและป้องกันโรค

 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยแม้ว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ที่เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงปรากฏการระบาด ลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่เสี่ยงโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งจังหวัด ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษาและผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม

 

ขณะที่องค์การอนามัยโลกยังคงระดับการเฝ้าระวัง การป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) กอปรกับโรคติดเชื้อนี้ยังคงกำหนดเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระยะ Post-Pandemic รัฐบาลโดยข้อเสนอของ ฝ่ายสาธารณสุขจึงเห็นควรปรับมาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคที่จำเป็นสำหรับการดำเนิน กิจกรรมบางประการ

 

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ย่อยใหม่ต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการ โรคโควิด-19 เข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านอันจะทำให้การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปิดประเทศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจดำเนินไป ควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างเข้มแข็งและสมดุล

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑ การกำหนดพื้นที่สถานการณ์จำแนกตามเขตพื้นที่จังหวัด ให้การกำหนดระดับ ของพื้นที่สถานการณ์ที่ทุกเขตพื้นที่จังหวัดทั่วราชอาณาจักรเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ ๑๒/๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป

 

"ราชกิจจาฯ"ออกข้อกำหนด ปรับมาตรการรับมือ "โควิดกลายพันธุ์โอมิครอน"

 

ข้อ ๒ การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ให้บรรดามาตรการ ควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้ง มาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เฉพาะ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๔) ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เฉพาะการปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ และการปรับปรุง การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๕) ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เฉพาะมาตรการควบคุม และป้องกันโรคสำหรับสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ทั่วราชอาณาจักร ข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๖) ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ เฉพาะแนวปฏิบัติ สำหรับการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การผ่อนคลายมาตรการควบคุม แบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวัง และมาตรการเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ในพื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว ยังคงมีผลใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ ข้อกำหนดนี้

 

ข้อ ๓ กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่อาจเกิดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสและสามารถแพร่โรคได้ ยังคงจำเป็นต้องห้ามดำเนินการและห้าม จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เว้นแต่การจัดกิจกรรมนั้นได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาในแต่ละกรณี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์จริงในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้นำข้อจำกัดเรื่อง จำนวนบุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมจำแนกตามระดับพื้นที่สถานการณ์ตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ และมาตรการเฝ้าระวังเพื่อการควบคุมและป้องกัน การระบาดของโรคในพื้นที่เฝ้าระวังตามข้อ ๗ แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ ๔๖) ลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๕ มาใช้บังคับกับการจัดกิจกรรมนี้ด้วย การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทำได้ภายใต้ ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้ง การชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้ โดยอนุโลม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถเข้าตรวจสอบ ระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมนุมการทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ที่จัดขึ้นโดยมี ลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม รวมไปถึงกำหนดมาตรการอื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม กับสถานการณ์ได้

 

"ราชกิจจาฯ"ออกข้อกำหนด ปรับมาตรการรับมือ "โควิดกลายพันธุ์โอมิครอน"

 

ข้อ ๔ การเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางบกผ่านจุดผ่อนปรน การค้า จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนพิเศษ จุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว และจุดผ่อนปรน เพื่อการท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรทางบกผ่านจุดผ่อนปรน การค้า จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนพิเศษ จุดผ่านแดนชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยว และจุดผ่อนปรน เพื่อการท่องเที่ยว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย เปิดประเทศควบคู่กับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งและสมดุล โดยให้ กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อ ทั้งนี้ ให้ผู้รับผิดชอบจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคและกำกับการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไป ตามกฎ ระเบียบ และเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดด้วย

 

"ราชกิจจาฯ"ออกข้อกำหนด ปรับมาตรการรับมือ "โควิดกลายพันธุ์โอมิครอน"

 

ข้อ ๕ มาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันการระบาดระลอกใหม่ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมความพร้อมโดยบูรณาการ และประสานการปฏิบัติงานเพื่อจัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ วัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 บุคลากร ทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร รวมถึงระบบการช่วยเหลือและรักษาผู้ติดเชื้อ สถานที่และ เตียงรองรับผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยวิกฤตในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีจำนวนที่เพียงพอและพร้อมเพื่อการรับมือ กับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะหากเกิดกรณีที่ผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องเข้ารับ การรักษาพยาบาลมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งรัด ประชาสัมพันธ์ รวมถึงพิจารณามาตรการสนับสนุนและ จูงใจให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเชิงรุกโดยเฉพาะการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งนี้ ให้ประสานความร่วมมือ กับประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม และชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หญิงมีครรภ์ (กลุ่ม ๖๐๘) และเด็กเล็ก สามารถเข้ารับบริการและรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในส่วนของการเรียนการสอนในสถานศึกษาทั่วประเทศ ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณายกระดับ มาตรการป้องกันเพื่อการเตรียมความพร้อมดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีแนวปฏิบัติหรือแผนเผชิญเหตุที่จำเป็นเพื่อมุ่งสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาและการจัดการเรียน การสอน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็น สำคัญ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่ กรณี ร่วมดำเนินการกำกับ ติดตาม เฝ้าระวัง และทบทวนมาตรการต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมและ สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย 

 

"ราชกิจจาฯ"ออกข้อกำหนด ปรับมาตรการรับมือ "โควิดกลายพันธุ์โอมิครอน"

ข้อ ๖ การเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรคโควิด - 19 จากโรคติดต่อ อันตรายไปสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด - 19 จากโรคติดต่ออันตรายไปสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อให้บรรลุเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือ ปรับตัว และดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย ภายใต้หลักการและแนวคิด ที่ว่า "ประชาชนปลอดภัย เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง" ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 ดำเนินการ ดังนี้

 

(๑) เตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการโรคโควิด - 19 จากโรคติดต่ออันตราย ไปสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อและประสานการปฏิบัติกับทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดนโยบาย วางระบบ แผนปฏิบัติการ แนวทางปฏิบัติ และกลไกในการกำกับติดตามและ ประเมินผลในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด - 19 ที่ครอบคลุมทั้งมาตรการทางการแพทย์ และสาธารณสุข มาตรการทางสังคมและองค์กร มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการด้านการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี นำไปปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับแนวทาง ที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล หรือ ศบค. กำหนดหรือได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว

 

(๒) ประสานการปฏิบัติกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนเชิงรุกในทุกกลุ่มเป้าหมาย ประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังตามที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนด หญิงมีครรภ์ (กลุ่ม ๖๐๘) และเด็กเล็กซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับวัคซีนได้ โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำ กับ ติดตามการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข ที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาล หรือ ศบค. กำหนดหรือได้พิจารณาเห็นชอบ

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๕

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

คลิกอ่านฉบับเต็ม >>>

 

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๔๗)

 

 

 

logoline