svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ม็อบอิรักบุกยึดสภา หลังไร้รัฐบาลนาน 290 วัน

28 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวอิรักหลายร้อยคนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเมื่อวันพุธ เพื่อแสดงความโกรธแค้นต่อปัญหาชะงักงันทางการเมือง ที่ทำให้ไม่มีรัฐบาลครบ 290 วันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ม็อบอิรักบุกยึดสภา หลังไร้รัฐบาลนาน 290 วัน

 

ชาวอิรักหลายร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนของม็อกตาดา อัล-ซาดร์ ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ สามารถรื้อกำแพงซีเมนต์เข้าไปในเขตกรีนโซนที่มีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนาในกรุงแบกแดดและเข้าไปยึดอาคารรัฐสภาเมื่อวันพุธ แม้ตำรวจพยายามฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายผู้ประท้วง ผู้ชุมนุมต้องการคัดค้านการเสนอชื่อโมฮัมหมัด อัล-ซูดานี เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่ามีความใกล้ชิดกับอิหร่านมากเกินไป แต่ไม่มีสมาชิกรัฐสภาอยู่ในอาคารในเวลานั้น

 

ผู้ประท้วงบอกว่าต้องการส่งสารให้รู้ว่า พวกเขาต่อต้านทุจริต และนักการเมืองทุจริต และประเทศทุกข์ยากนานหลายปีเพราะคอร์รัปชันและการบริหารที่ผิดพลาด

 

ม็อบอิรักบุกยึดสภา หลังไร้รัฐบาลนาน 290 วัน

 

 

พรรคการเมืองของอัล-ซาดร์ คว้าที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 73 ที่นั่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน ต.ค. 2564 ทำให้เป็นพรรคใหญ่ที่สุดในสภาที่มีสมาชิกรวม 329 ที่นั่ง แต่การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลหยุดชะงัก และพรรคของ อัล-ซาดร์ได้ถอนตัวจากการเจรจา

 

การขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มชาวชีอะห์ และกลุ่มชาวเคิร์ด ทำให้ยังไม่สามารถสรรหาประธานาธิบดีและนายกรัฐมตรี และส่งผลให้ประเทศไม่มีผู้นำประเทศหรือคณะรัฐมนตรียาวนานถึง 290 วัน ทำลายสถิติเดิมในปี 2553 ที่เกิดภาวะสุญญากาศยาวนาน 289 วันหลังจากนายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกิได้รับเลือกตั้งสมัยที่สอง

 

ม็อบอิรักบุกยึดสภา หลังไร้รัฐบาลนาน 290 วัน

 

นอกจากนี้ภาวะชะงักงันทางการเมืองนาน 9 เดือนทำให้อิรักไม่มีงบระมาณสำหรับปีนี้ ทำให้การใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและการปฏิรูปเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไปด้วย

 

หากพรรคการเมืองต่าง ๆ ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ นายกรัฐมนตรีมุสตาฟา อัล-คาดิมี จะยังคงบริหารประเทศชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่

 

 

ม็อบอิรักบุกยึดสภา หลังไร้รัฐบาลนาน 290 วัน

  

ผู้ประท้วงยึดอาคารรัฐสภาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สลายตัวออกไป หลังจากอัล-ซาดร์ โพสต์ในทวิตเตอร์บอกว่า ข้อเรียกร้องของพวกเขาได้รับการสื่อสารออกไปแล้ว และขอให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย

    

การประท้วงครั้งนี้ส่งสัญญาณเตือนว่า หากยังมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายซูดานีเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะเกิดความวุ่นวายมากยิ่งขึ่น ก่อนหน้านี้ผู้สนับสนุนของอัล-ซาดร์เคยบุกรัฐสภาในปี 2559 เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง

 

 

logoline