svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ร้องแบรนด์ระดับโลกให้ถอนตัวออกจากเมียนมา

26 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบรนด์แฟชั่นระดับโลกกำลังถูกกดดันให้ตระหนักถึงสถานการณ์ในเมียนมา ว่าสภาพการทำงานที่ดีไม่ได้มีอยู่แล้ว คนงานเผชิญการถูกล่วงละเมิดทางเรื่องค่าแรงและทางเพศ ถ้าแบรนด์เหล่านี้ไม่สามารถรับประกันว่าปกป้องสิทธิของแรงงานได้ หนทางเดียวที่ทำได้คือถอนตัวออกมาเสีย

แบรนด์แฟชั่นระดับโลกกำลังล้มเหลวในการคุ้มครองแรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเมียนมา เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ซึ่งอลิชชา คัมเบย์ หัวหน้าฝ่ายสิทธิแรงงานของกลุ่ม NGO ชื่อ "ศูนย์ทรัพยากรธุรกิจและสิทธิมนุษยชน" ที่ติดตามเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีผลกระทบต่อบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ได้เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดว่า มีการล่วงละเมิดแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของบรรดาแบรนด์ระดับโลก ตั้งแต่ Zara จนถึง H&M อย่างแพร่หลายและเป็นระบบ ที่รวมถึงการโกงค่าแรง บังคับทำงานล่วงเวลาโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และมีการใช้ความรุนแรงทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ 

 

ร้องแบรนด์ระดับโลกให้ถอนตัวออกจากเมียนมา

NGO กลุ่มนี้และหุ้นส่วนอื่น ๆ ได้รวบรวมเคสการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้อย่างน้อย 60,800 เคส นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว โดยทั้งหมดเกิดขึ้นในโรงงาน 70 แห่ง ที่ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แบรนด์ระดับโลก และห้างค้าปลีกของโลกอย่างน้อย 32 แห่ง รวมทั้ง adidas, Inditex (Zara Bershka Fast Retailing (Uniqlo), H&M (Hennes&Mauritz) และ Primark ทางกลุ่มได้ขอร้องให้บริษัทเหล่านี้ถอนการลงทุน "ออกจากเมียนมาด้วยความรับผิดชอบ" และจำเป็นต้อง "ตื่น" ขึ้นมารับรู้ความจริงอันโหดร้ายที่ว่า สภาพการทำงานที่ดีไม่อีกต่อไปแล้วในเมียนมา การยังคงฝืนดำเนินธุรกิจต่อไปตามปกติก็ไม่ได้ช่วยปกป้องงานและแรงงาน อย่างที่เคยมีการเตือนมาแล้วหลายครั้ง และแม้ทหารจะไม่ได้ไปตรวจตามบ้านหรือหอพักแล้ว แต่โรงงานต่าง ๆ กลับให้พวกเขาเข้าไปคอยคุมเชิงอยู่ ก็ถือว่าเป็นการข่มขู่คนงานอย่างเงียบ ๆ

 

ร้องแบรนด์ระดับโลกให้ถอนตัวออกจากเมียนมา

ข้อมูลที่ว่านี้ไม่เพียงแต่เน้นย้ำถึงขนาดและขอบเขตของการละเมิดสิทธิแรงงานในช่วง 18 เดือน นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ แต่รวมถึงการไม่ต้องรับโทษ "ในวงกว้าง" ของผู้กระทำผิดด้วย การละเมิดที่พบบ่อยที่สุด คือการโกงค่าจ้าง 55 คดี การกำหนดอัตราค่าแรงที่ไม่เหมาะสมและบังคับทำงานล่วงเวลา 35 คดี และขัดขวางหรือโจมตีเสรีภาพในการสมาคม 31 คดี 

 

ยังมีรายงานการสังหารหรือจับกุมคนงานตามอำเภอใจ โดยเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงติดอาวุธ ซึ่งคัมเบย์บอกว่าทุกคดีที่บันทึกไว้ในฐานข้อมูล ได้เกี่ยวข้องกับการร้องเรียนและส่งผลกระทบต่อคนงานตามโรงงาน บางเคสเชื่อมโยงกับคนงานเพียงคนเดียว แต่บางเคสเกี่ยวข้องกับหลายพันคน และแม้จะรู้ว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่รู้จำนวนที่แท้จริง ซึ่งหมายความว่าคนงานที่ได้รับผลกระทบจริงอาจมากกว่า 60,800 คน และตัวเลขนี้เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น 

 

ร้องแบรนด์ระดับโลกให้ถอนตัวออกจากเมียนมา

logoline