svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เจตนารมณ์การโหวต "เสียงประชาชน" ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจคู่ขนานสภาฯ

"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ผู้ประสานงานโครงการ"เสียงประชาชน" แถลงเหตุผลการเปิดคู่ขนานอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รมต. ถือเป็นพลังประชาชนตรวจสอบคู่ขนานสภา

 

ตามที่โครงการ "เสียงประชาชน" อันประกอบด้วยนักวิชาการจาก 4 มหาวิทยาลัย และองค์กรภาคประชาชน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม โดยความร่วมมือของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล 4 ช่อง ได้จัดทำโครงการ "เสียงประชาชน" เพื่อให้ประชาชนสามารถลงมติไว้วางใจ-หรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 11 คน คู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฏรนั้น โครงการ "เสียงประชาชน" มีประเด็นที่ขอแถลงก่อนปิดการโหวตในเวลา 11.00 น. ดังต่อไปนี้

 

1.วัตถุประสงค์ของโครงการ "เสียงประชาชน" คือการสร้างแพลตฟอร์มหรือช่องทางให้ประชาชนในฐานะที่เป็น “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” ตามรัฐธรรมนูญ สามารถแสดงออกว่าจะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้ง 11 คน เพื่อให้ “เสียงประชาชน” เจ้าของประเทศสามารถส่งออกมาได้  “โดยตรง” ซึ่งจะเหมือนหรือจะต่างไปจากการลงมติของ ส.ส. ซึ่งเป็น “ตัวแทนของประชาชน” ก็เป็นเรื่องของประชาชนที่เข้ามาโหวต แม้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่คือ “เสียงประชาชน” ที่ฝ่ายการเมืองพึงต้องรับฟัง

 

2. กติกาในการโหวตคือ "หนึ่งเครื่องหนึ่งเสียง" โดยการโหวตจะแยกลงมติรัฐมนตรีทั้ง 11 คนเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับการลงมติของสภาผู้แทนราษฏร การโหวตได้เริ่มในวันสุดท้ายของการอภิปรายคือเมื่อวานนี้ เวลา 18.00 น. เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้ฟังการอภิปรายและการชี้แจงจากรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายก่อนที่จะมีการโหวต โดยจะปิดการโหวตในวันนี้ ซึ่งเป็นวันลงมติของสภาผู้แทนราษฏรลงมติ โดยปิดเวลา 11.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการปิดโหวตของสภาผู้แทนราษฎร 

 

เจตนารมณ์การโหวต \"เสียงประชาชน\" ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจคู่ขนานสภาฯ

 

3.ผลการโหวต "เสียงประชาชน" สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลทั้ง 4 ช่อง จะประกาศหลังจากสภาผู้แทนราษฏรได้ลงมติเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผลการลงมติ “เสียงประชาชน” มีผลต่อการลงมติของ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร จนอาจถูกครหา หรือเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อเจตนารมณ์ของการดำเนินโครงการได้ว่าไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในสภาผู้แทนราษฎร

เจตนารมณ์การโหวต \"เสียงประชาชน\" ลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจคู่ขนานสภาฯ

4.อย่างไรก็ตามแม้ว่าประชาชนทุกคนจะมีสิทธิโหวต และในปัจจุบันการใช้โทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับประชาชนโดยทั่วไปแล้ว แต่เนื่องจากยังอาจจะมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต "เสียงประชาชน" ที่โหวตในครั้งนี้ ผลที่ออกมาจึงเป็น "เสียงประชาชนที่มาโหวต" ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเสียงของประชาชนทั้งหมด การนำ "ผล"การโหวตไปใช้ไม่ว่าในทางใด จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้ด้วย

 

แต่ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงอีกประการที่ต้องไม่ลืมคือ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด จะไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 11 คน ทุกคนและทุกฝ่ายก็มีโอกาสเสมอกันในการโหวตหรือชวนคนมาโหวต ดังนั้น ผลที่ออกมาไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือจะให้ประโยชน์หรือให้โทษกับฝ่ายใด ผลที่ออกมาคือเสียงประชาชนที่มาโหวต ที่ทุกฝ่ายมีโอกาสโหวตและชักชวนคนให้มาโหวตได้อย่างเสมอกัน

 

4.ในขณะที่แถลง (09.00 น.) มีประชาชนมาร่วมลงมติแล้วกว่า 400,000 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่การดำเนินการเป็นครั้งแรกของประเทศไทยมีประชาชนเข้าร่วมมากเช่นนี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการโหวตจะออกมาอย่างไร การให้ประชาชนได้โหวตออนไลน์โดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางที่สะดวกสำหรับประชาชน จัดการง่าย ค่าใช้จ่ายน้อย จึงควรใช้เป็นช่องทางในการรับฟัง "เสียงประชาชน" ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ประชาชนได้ตัดสินใจในเรื่องสาธารณะต่างๆ และใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขความขัดแย้งของฝักฝ่ายที่เห็นต่างอย่างสันติโดยไม่มีการเผชิญหน้า เพื่อให้ "เสียงประชาชน" ได้ดังขึ้น และนำไปสู่ “ประชาธิปไตยโดยตรง” ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป