svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

เมื่อศรีลังกาหนีไม่พ้นรานิล วิกรมสิงเห

21 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด ชาวศรีลังกาก็ได้นายรานิล วิกรมสิงเห มาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เพื่อทำหน้าที่แทนนายโคฐาภยะ ราชปักษา ที่หนีออกนอกประเทศ หลังผู้ประท้วงบุกทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ในวาระการดำรงตำแหน่งที่เหลือจนถึงปี 2567

นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรี 6 สมัยของศรีลังกา คว้าชัยชนะในการลงคะแนนลับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธ ด้วยเสียงส่วนใหญ่ 134 จากทั้งหมด 225 เสียง โดยเป็นการดำรงตำแหน่งในวาระที่เหลือของประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษา ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2567 ตอนนี้ ชาวศรีลังกาส่วนใหญ่พูดถึงเขาว่า "โชคดี" ที่ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุด ท่ามกลางความคาดไม่ถึงของนักวิเคราะห์และนักการเมืองอีกหลายคน เพราะแม้จะเป็นนักการเมืองที่คร่ำหวอด แต่ก็ไม่สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 ด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบันเขาได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีที่กุมอำนาจสูงสุด ซึ่งนักการเมืองที่คุ้นเคยกับเขาคนหนึ่งบอกว่า ไม่ว่าจะเลือกประธานาธิบดีสักกี่ครั้ง ก็มีชื่อของนายรานิลเสมอ 

 

รานิล วิกรมสิงเห

แม้จะเสี่ยงต่อการเผชิญการประท้วงรอบใหม่ เพราะคนส่วนใหญ่ยังกล่าวโทษว่านายรานิลเป็นพวกเดียวกับตระกูลราชปักษา และยังจุดไฟเผาบ้านพักส่วนตัวของเขาด้วย แต่สมาชิกสภาฯ ส่วนใหญ่ยอมเดิมพันเพราะมองว่านายรานิลเป็นคนที่ไว้ใจได้มากที่สุด เพราะเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 6 สมัย อยู่ในสภาฯ มานานถึง 45 ปี ถือเป็นผู้มีประสบการณ์อย่างกว้างขวาง ที่น่าจะสามารถนำพาศรีลังกาออกจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดได้ ทั้งยังเป็นคนเดียวที่ "คุย" กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้รู้เรื่องที่สุดแล้ว 

 

เมื่อศรีลังกาหนีไม่พ้นรานิล วิกรมสิงเห

 

นายรานิลที่ครั้งหนึ่งเคยเรียกการเมืองศรีลังกาว่าเป็น "กีฬาเลือดเช่นเดียวกับมวย และต้องการความแข็งแกร่งพอ ๆ กับการวิ่งมาราธอน" กำลังเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของเขา นั่นคือการนำพาประเทศที่เป็นเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ ออกจากวิกฤตเศรษฐกิจในขณะที่ความนิยมของเขาอยู่ในระดับที่ต่ำสุด 

 

เมื่อศรีลังกาหนีไม่พ้นรานิล วิกรมสิงเห

นายรานิลเกิดในตระกูลการเมืองที่มั่งคั่ง จบการศึกษาจาก University of Ceylon มีคุณสมบัติในการเป็นทนายจาก Ceylon Law College ก่อนจะเข้าสู่การเมืองเมื่อกลางทศวรรษที่ 1970 ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาฯ ครั้งแรกปี 2520 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ โดยประธานาธิบดีเจ.อาร์. เจย์วาร์เดน ซึ่งเป็นลุงของเขาเอง หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกิจการยุวชนและการจ้างงาน ทำให้เขาเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของศรีลังกาในขณะนั้น ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2536 ภายใต้สถานการณ์เลวร้าย เหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีรณสิงห เปรมดาสา ก่อนที่อีกกว่า 40 ปีหลังจากนั้น นายรานิลก็เป็นทั้งผู้นำรัฐบาลและฝ่ายค้านโดยมีฉายาว่า "เก่งกาจแต่เย่อหยิ่ง" "ร่ำรวยแต่ไม่ทุจริต" ให้ความสำคัญกับมิตรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์กับสหรัฐฯ และอินเดีย ยึดนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อตลาด และการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬ

 

เมื่อศรีลังกาหนีไม่พ้นรานิล วิกรมสิงเห

 

นักวิเคราะห์การเมืองคนหนึ่งให้ความเห็นว่า อาวุธทางการเมืองของรานิลคือการฉวยโอกาส รอคอยอย่างมีไหวพริบ และลงมือเมื่อถึงเวลา เช่น ตอนที่เขาเข้าร่วมกับคู่แข่งทางการเมืองอย่างนายไมตรีปาละ สิริเสน เมื่อปี 2558 เพื่อขับไล่ตระกูลราชปักษาในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต เมื่อศรีลังกามาถึงภาวะล้มละลายในปีนี้ เขาก็พูดต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของตระกูลราชปักษาว่าก้าวไปในทางที่ผิด แต่พอนายมหิทา ราชปักษา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาก็รับตำแหน่งแทนทันทีเมื่อได้รับข้อเสนอจากประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษา และเมื่อนายโคฐาภยะ หนีออกนอกประเทศ เขาก็ขึ้นรักษาการประธานาธิบดีก่อนได้รับตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน 

 

เมื่อศรีลังกาหนีไม่พ้นรานิล วิกรมสิงเห

logoline