จากเหตุการณ์คนร้ายซึ่งเป็นชายเก็บของเก่าวัย 50 ปี เข้าไปขโมยทรัพย์สินภายในพิพิธภัณฑ์ขอนแก่น และมีอาการคลุ้มคลั่ง พลเมืองดีเห็นท่าไม่ดีรีบโทรศัพท์แจ้ง 191 ก่อนสายตรวจ สภ.เมืองขอนแก่นเข้าตรวจค้น ชายเก็บของเก่าดิ้นสู้ควักระเบิด M61 วิ่งหนีและจับตัวหญิงวัย 54 ปี เป็นตัวประกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาเกลี่ยกล่อมกว่า 4 ชั่วโมง แต่ไม่เป็นผล กระทั่งผู้ก่อเหตุเผลอ ตัวประกันจึงวิ่งหนีแต่ถูกผู้ก่อเหตุวิ่งตามทำท่าจะขว้างระเบิดใส่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยิงปืนสกัดจนผู้ก่อเหตุล้มลง ก่อนเข้าความคุมสถานการณ์ไว้ได้สำเร็จ
และหนึ่งในอุปกรณ์ยุทธวิธีที่ตำรวจใช้เมื่อวานนี้คือ รถโรบอท ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นจาก “ผู้กองหมูแฮม” หรือ ร.ต.อ.รณเดช เตชะเกรียงไกร รองสารวัตร ฝ่ายวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค4 พร้อมกับคณะร่วมกันคิดค้นขึ้น เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สำรับแนวคิดรถโรบอทตัวนี้ได้ศึกษามาจากอินเตอร์ จัดอยู่ในประเภท “แทคติคอล โรบอต” เป็นรถโรบอทที่ใช้ในเชิงกลยุทธ ยุทธวิธี ขนาดความยาว25 นิ้ว สูง10 นิ้ว กว้าง 15 นิ้ว มีอุปกรณ์ติดตั้ง 4-5อย่าง เช่น มีกล้องมองกลางคืน มีระบบสื่อสารตอบโต้ได้ มีสปอร์ตไลท์ไฟไซเลน และมีกล่องสำหรับใส่ของส่งของ รถโรบอทตัวนี้ดัดแปลงมาจากรถไฟฟ้าบังคับของเด็ก แล้วนำมาดัดแปลงเสริมอุปกรณ์ต่างเข้าไป รวมแล้วประมาณ4,000บาท หากจะซื้อมาใช้จากต่างประเทศราคาอยู่ที่หลักแสนบาท
ความสามารถของรถโรบอทตัวนี้ มีลักษณะพิเศษ สามารถเคลื่อนที่ไปได้ในสภาพที่เข้าถึงยาก ตามตรอก ซอกซอย ที่คนร้ายหลบซ่อน พร้อมกับติดกล้องสามารถมองเห็นรอบทิศ360องศาอย่างมีระบบ มองเห็นในเวลากลางคืน มีระบบสื่อสารโต้ตอบ บังคับผ่านระบบรีโมทวิทยุ โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวานได้นำรถโรบอทตัวนี้มาใช้เพื่อก่อกวน หรือเบี่ยงเบนความสนใจของคนร้าย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ เมื่อวานนี้ พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ผู้บังคับบัญชาได้วางกลยุทธในการจับคนร้าย คืออันดับแรกจะส่งรถโรบอทเข้าไปส่งน้ำที่ใส่ยานอนหลับให้คนร้ายดื่ม จังหวะที่รถโรบอทเข้าไปก็พยามยามพูดกับคนร้ายให้เขาใจเย็นๆ ก่อนที่คนร้ายจะเอาน้ำพร้อมกับยกรถโรบอตไปด้วย คนร้ายดื่มน้ำผสมยานอนหลับพอสมควร จนนั่งกับพื้นมีการอาการคอตกก้มๆเงยๆ ทำให้ตัวประกันหาจังหวะในการวิ่งหนีและปลอดภัยในที่สุด
สำหรับอุปกรณ์ตัวนี้ ถ้าในต่างประเทศจะใช้รถตัวนี้วิ่งเข้าไปสำรวจก่อนว่าคนร้ายอยู่ตรงไหน เมื่อเห็นคนร้ายแล้วตำรวจจะสามรถวางแผนได้ว่าจะจู่โจมทางไหนอย่างไร โดยบังคับผ่านรีโมทวิทยุ แต่ตัวกล้องที่แพนได้360องศา จะบังคับผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อบนหน้าจอมือถือ กล้องทุกตัวสามารถแชร์ภาพสดเปิดภาพเรียลไทม์ได้ สามารถมอนิเตอร์ได้หมด หากเป็นพื้นที่อับสัญญาณก็สามารถใช้กล้องวิทยุแทนได้ มีวิทยุสำรองต่างหาก สามาถวิ่งได้ระยะสูงสุดอยู่ที่100-150 เมตร แต่ระยะส่วนใหญ่ที่ใช้จริงอยู่ก็ไม่เกิน 50 เมตร ใช้บนถนนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ใช้ในบ้านนอกบ้าน สนามหญ้าได้หมด แม้แต่ในถนนที่ผิวขรุขระก็ไม่มีปัญหา ส่วนเสียงที่พูดกับคนร้ายเป็นเสียงของเจ้าหน้าที่สื่อสารผ่านวิทยุ เสียงก็จะไปออกที่ลำโพงโรบอท เพราะบางทีการที่เจ้าหน้าที่สื่อสารโดยตรงกับคนร้าย อาจทำให้คนร้ายกลัวหรือเครียด และทำในสิ่งไม่คาดคิด หากเจ้าหน้าที่เข้าไปใกล้ๆจะกลายเป็นเพิ่มความกดดันให้คนร้าย รถโรบอทจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนร้ายเย็นลง
ปัญหาการระงับเหตุ ที่มีความรุนแรง ผู้ร้ายมักจะมีพฤติกรรมหลบซ่อนตัว หรือยู่ในที่กำบัง หรือใช้ผู้บริสุทธิ์เป็นเครื่องกำบัง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียเปรียบ และทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยง การใช้รถโรบอทยุทธวิธีส่วนมากจะใช้เข้าไปดูจุดเสี่ยงก่อนที่จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไป หรือจุดที่อาจตกเป็นเป้า อาจจะมีการซุ่มอยู่ของคนร้าย จึงต้องส่งโรบอทเข้าไปสอดส่องเพื่อเฝ้าระวัง โดยรถโรบอทคันนี้สามารถแพนได้รอบตัว ซูมภาพได้ ฟังเสียงได้ โดยการติดจานพาราโบริก ซึ่งเป็นจานรวมคลื่นเสียง ดัดแปลงมาจากจานฟังเสียงนกที่ใช้ล่าสัตว์ แต่นำมาประยุกต์ สามารถฟังเสียงได้ไกลประมาณ30-50 เมตร
ด้าน พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า เหตุการณ์คนร้ายมีระเบิดและจับตัวประกันนั้น ทางผู้บังคับบัญชามีความห่วงใยตำรวจผู้ปฏิงาน เพราะเหตุลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อย ทางพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ก็ได้ส่งทีมมาอบรมทบทวนยุทธวิธีให้อย่างต่อเนื่อง เมื่อก่อนจะมีไม้ง่ามในการระงับเหตุ มีปืนยิงกระสุนยาง แหอวนยิง อุปกรณ์มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน
ภาพ/ข่าว - สุริยา ปะตะทะโย สำนักข่าวเนชั่น ศูนย์ข่าวภาคอีสาน