svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอยง แนะ ยาต้านโควิด-19 ควรกินอย่างไร เตือนกลุ่มเสี่ยงต้องรับยาเร็วที่สุด

12 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอยง แนะ ชีวิตต้องเดินไปข้าง โพสต์แนะนำวิธีกินยาต้านโควิด ควรกินอย่างไร ย้ำเตือน กลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษและต้องได้รับยาเร็วหรืออย่างช้าไม่เกิน 5 วัน สาระดีๆทางวิชาการที่คอข่าวไม่ควรพลาด รวบรวมให้ครบจบที่นี่ เพื่อก้าวทันวายร้ายโควิด

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ โควิด 19 โดยระบุว่า

...

"โควิด 19 ชีวิตต้องเดินหน้า ยง ภู่วรวรรณ" 

 

ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ติดเชื้อ โควิด 19 ที่กำลังติดเชื้ออยู่ทุกคน ถึงแม้ขณะนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง เพราะส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับเกิน 3 เข็มขึ้นไป จะเป็น 4 เข็ม 5 เข็ม ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่อาการจะน้อยลง

 

ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สูงอายุ จะเป็น 608, 708, หรือ 808 นอกจากได้รับวัคซีนแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษ ขณะนี้ ยาต้านไวรัส สำหรับผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง หรือนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต จำเป็นจะต้องให้เร็วที่สุด ทันทีที่ทราบว่าติดเชื้อ หรืออย่างช้าก็ไม่เกิน 5 วัน

 

ยาที่ใช้ในกลุ่มเสี่ยงในการป้องกันความรุนแรงดังกล่าว เช่น Remdesivir ให้เข้าเส้นเลือด  3 วัน จะให้เป็นผู้ป่วยนอก ให้แล้วกลับมานอนบ้าน หรือผู้ป่วยในก็ได้ จะลดความรุนแรงได้มาก

ยาไวรัสชนิดรับประทาน Paxlovid ในกลุ่มเสี่ยงก็สามารถใช้ได้ดี แต่จะมีปฏิกิริยากับยาอื่นหลายชนิด รับประทาน 5 วัน มีรายงานหลังรับประทานครบแล้ว มีอาการเป็นซ้ำ เมื่อรับประทานยาครบแล้วมีอาการเกิดขึ้นอีก ที่ต้องติดตาม

ยาอีกตัวหนึ่งคือ Monulpiravia ใช้รับประทานมีอาการข้างเคียงต่ำ แต่ห้ามให้ในคนท้องและเด็กเด็ดขาด เพราะยาอาจจะไปมีผลต่อการเปลี่ยนพันธุกรรม ซึ่งยังไม่ทราบระยะยาว ขณะนี้เริ่มมีใช้แพร่หลายขึ้น และได้ทราบว่ามีการหาซื้อกันเอง หรือนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ขอให้พิจารณาและปรึกษาแพทย์ให้ดี

เด็กนักเรียน ก็ต้องเดินหน้า การติดในโรงเรียน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นขณะเรียนหนังสือ การเรียนหนังสือในชั้นเรียนมีความจำเป็น จึงไม่ควรปิดโรงเรียน โรงเรียนควรมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้ออย่างเต็มที่

เด็กนักเรียนมักจะติดในช่วงรับประทานอาหาร หรือเล่นด้วยกัน ก่อนเข้าเรียน หรือหลังเลิกเรียนแล้ว ก่อนกลับบ้าน มีการซื้ออาหารรับประทานกัน จุดดังกล่าวจึงเป็นการแพร่กระจายเชื้อหรือติดต่อโรค ดังนั้นถ้าเป็นไปได้

การไปโรงเรียนควรรีบไปและรีบกลับ ลดการติดต่อให้น้อยที่สุด ดูแลสุขอนามัย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่าง

การทำกิจกรรมบางอย่างที่เป็นการรวมกลุ่ม เช่นการเข้าค่ายของนักเรียน ก็ควรจะงดกิจกรรมทั้งหมด เน้นเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนในชั้นเรียน ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ก็จะช่วยได้มาก

การศึกษาของเด็กนักเรียนในวัยนี้ จะมีผล เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงานที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ"

 

อีกความเคลื่อนไหวที่นำมาฝากกันในช่วงโควิดกำลังระบาดหนัก 

นายกฯ เป็นห่วง เตือนประชาชนอย่าซื้อยารักษาโควิดกินเองเสี่ยงไม่ปลอดภัย ยันมีเวชภัณฑ์เพียงพอ ขณะที่ “อนุทิน” ย้ำยารักษาโควิด 3 ตัวดัง สธ.ส่งให้ รพ.รักษาคนตามสิทธิ ห้ามนำไปขาย แต่ รพ.เอกชนออกแพ็กเกจการรักษาเอง ทำได้ ไม่ผิด ด้านอธิบดีกรม สบส.เด้งรับ ชี้ใช้ยาคนละส่วน แต่หากสั่งจ่ายนอกเหนืออาการป่วย จ่อเข้าข่ายผิดเรื่องการประกอบวิชาชีพ พร้อมเล็งพิจารณาขยายเวลาการเปิดฮอสพิเทล ที่จะยกเลิกสิ้น ก.ค.นี้ หลัง รพ.เอกชนร้องผู้ป่วยโควิดพุ่ง แต่คราวนี้คนไข้ต้องจ่ายเองทั้งหมด ขณะที่พบ กทม. ติดสายพันธุ์ BA.4/ BA.5 พุ่ง ส่อมีความรุนแรงกว่าตัวเดิม สธ.ห่วงช่วงวันหยุดยาว หวั่นทำเชื้อกระจายสู่ต่างจังหวัด แนะระมัดระวังตัวเองเต็มที่ ทั้งเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในไทยยังเป็นขาขึ้นตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.รายงานเมื่อวันที่ 11 ก.ค.พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,811 คน เป็นผู้ป่วยในประเทศ 1,809 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,268 คน อยู่ระหว่างรักษา 24,076 คน อาการหนัก 786 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 349 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาอีก 24 คน ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 4,546,854 คน หายป่วยสะสม 4,491,919 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 30,859 คน ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ฉีดได้เพิ่ม 41,329 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 2,337 คน เข็มที่สอง 4,155 คน และเข็มที่สามขึ้นไป 34,837 คน ตั้งแต่ ก.พ.2564 รวมฉีดสะสม 140,453,963 โดส

 

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีพบมีการโฆษณาแอบอ้างขายยารักษาอาการป่วยโรคโควิด-19 ในตลาดมืด หรือการจำหน่ายนอกระบบที่ผิดกฎหมาย เช่น โมลนูพิราเวียร์ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความเป็นห่วงและฝากเตือนประชาชนอย่าซื้อยานอกระบบจากตลาดมืด หรือทางออนไลน์มารับประทานเอง เนื่องจากมีความเสี่ยงไม่ปลอดภัย หากติดเชื้อโควิด-19 ขอให้เข้าสู่การรักษาตามระบบ เพราะการกินยาโดยไม่ได้อยู่ในความดูแลของแพทย์ อาจทำให้เกิดอันตราย ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขไทยมีเวชภัณฑ์เพียงพอสำหรับดูแลประชาชน

 

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ รวมทั้งแพกซ์โลวิด ยังเป็นยาที่กระทรวงสาธารณสุขให้การสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในการรักษาประชาชนตามสิทธิ ไม่สามารถนำไปขายต่อได้ แต่ในกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนออกแพ็กเกจ อาจเป็นการซื้อความสะดวก เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ป่วย ซึ่งไม่ผิดหลักเกณฑ์ใดๆ แต่หากมีกรณีไหนที่ประชาชนสงสัยให้สอบถามมายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเพื่อตรวจสอบ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นหลักฐานชัดเจน ทุกวันนี้ยังปิด รพ. เอกชนไม่ได้สักแห่ง และในช่วงหยุดยาวนี้ขอให้ประชาชนป้องกันตนเอง เราเคยผ่านเทศกาลหยุดยาวมาหลายครั้ง ปีนี้มีความแตกต่างจากปีก่อน เพราะประชาชนได้รับวัคซีนแล้วจำนวนมาก แต่ขอให้ระวังตนเองในการเข้ารวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การร่วมงานเลี้ยง ดนตรี หนังกลางแปลง ถ้าทุกคนระมัดระวัง เชื่อว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้

 

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นช่วงนี้ว่า หากรักษาตามสิทธิ โรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยได้ เพราะรัฐเป็นผู้สนับสนุนยาไปยังโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังโรงพยาบาลเอกชนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบาย และมีกำลังจ่าย ประชาชนสามารถเลือกแพ็กเกจการรักษาได้ แต่ย้ำว่าการจ่ายยาต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้และอาการของคนไข้เป็นหลัก ซึ่งส่วนนี้เป็นยาของโรงพยาบาลเอกชนที่ไปซื้อจากบริษัทยาที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว และนำยาโมลนูพินาเวียร์เข้ามา ทั้งนี้ การออกแพ็กเกจจะต้องแจ้งราคาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้าและแพทย์ต้องรักษาตามอาการ หากทำผิดนอกเหนือจากนี้ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และหากแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยานอกเหนืออาการ จะเข้าข่ายผิดเรื่องการประกอบวิชาชีพ แพทยสภาจะเป็นผู้ตรวจสอบ

 

 

///

 

นพ.ธเรศกล่าวอีกว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้ ทางโรงพยาบาลเอกชนได้แจ้งมาว่า คนไข้โควิดมีมากขึ้น จึงขอให้กรม สบส.ขยายเวลาการปิดสถานพยาบาลชั่วคราว ได้แก่ ฮอสพิเทล โฮเทลไอโซเลชัน ออกไปอีก 1-2 เดือน เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริการคนไข้โรคอื่นๆ ซึ่งเดิมจะมีการยกเลิกสถานพยาบาลชั่วคราวสิ้นเดือน ก.ค.65 เรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสถานพยาบาล และหากให้โรงพยาบาลเอกชนเปิดฮอสพิเทลได้ จะถือเป็นทางเลือกของประชาชนอีกทางหนึ่ง ในกรณีที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ และไม่ไปรักษาตามสิทธิของตนเอง จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

 

ส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 2-8 ก.ค.2565 กรมตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 จำนวน 570 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์ BA.1 จำนวน 5 ราย BA.2 จำนวน 283 ราย BA.4/BA.5 จำนวน 280 ราย ไม่สามารถแยกได้ 2 ราย โดยกลุ่มผู้ที่เดินทางเข้าประเทศที่พบ BA.4/BA.5 คิดเป็นร้อยละ 78.4 ส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศ แยกข้อมูลการติดเชื้อใน กทม.กับภูมิภาค พบว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กทม.มีการติดเชื้อ BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 72.3 ถือว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ใน กทม.จะเป็น BA.4/BA.5 ส่วนภูมิภาคค่อยๆเพิ่มขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 34.7

 

สำหรับความรุนแรงของ BA.4/BA.5 นพ.ศุภกิจกล่าวว่า คนที่อาการไม่รุนแรง พบ BA.4/ BA.5 ประมาณร้อยละ 72 คน อาการรุนแรงมีข้อมูลเพียง 13 คน พบ BA.4/BA.5 ประมาณร้อยละ 77 จากข้อมูลเบื้องต้นนี้ น่าจะบอกได้ว่า BA.4/BA.5 มีความรุนแรง ส่วนภูมิภาค กลุ่มคนอาการไม่รุนแรง 309 คน พบ BA.4/BA.5 ร้อยละ 33 กลุ่มคนอาการรุนแรง พบ BA.4/BA.5 ที่ร้อยละ 46.6 ดังนั้นสำหรับประเทศไทยในเบื้องต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า BA.4/BA.5 น่าจะมีความรุนแรงมากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ปกติอยู่บ้าง ขณะที่องค์การอนามัยโลกยังไม่ระบุชัดเจนว่า BA.4/BA.5 มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดิม ต้องรอฟังข้อมูลเพิ่มเติม แต่ยืนยันว่าแพร่ได้เร็ว โดยเฉพาะ BA.5 ขณะที่การหลบภูมิคุ้มกัน มีงานวิจัยของญี่ปุ่นในห้องปฏิบัติการ BA.4/BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ทำให้บางคนที่เคยติดโควิดมาแล้วติดซ้ำได้ และทดลองในกลุ่มหนูทดลองพบว่า หนูที่ติดเชื้อ BA.4/BA.5 ป่วยหนักกว่าหนูที่ติดเชื้อ BA.2

 

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลกและทวีปเอเชีย มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เกิดการระบาดเป็นคลื่นเล็กๆ ส่วนไทย กระทรวงสาธารณสุขจะรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้เสียชีวิต เป็นหลัก โดยผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มจาก 638 เป็น 786 คน ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 290 เป็น 349 คน ซึ่งระบบการแพทย์และสาธารณสุข เตียง ยา เวชภัณฑ์ ยังรองรับได้ ส่วนกลุ่มคนที่ติดเชื้อและลงทะเบียนรับยากลับไปรักษาตัวที่บ้าน มีจำนวนลดลงจาก 2 แสนคนเศษ เหลือ 149,537 คน แต่เนื่องจากมีติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ และมีวันหยุดยาวก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแพร่ระบาดไปต่างจังหวัดได้เร็วขึ้น สิ่งที่จะต้องช่วยลดการแพร่ระบาดได้คือการป้องกันตนเองส่วนบุคคลด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งตั้งเป้าการฉีดเข็มกระตุ้นตั้งแต่เข็ม 3 ให้ได้ร้อยละ 60 แต่ยังฉีดได้เพียงร้อยละ 40 โดยเฉพาะกลุ่ม 608 หากเกิน 3-4 เดือน ไม่ว่าเข็มใดก็ควรฉีดเข็มกระตุ้น หรือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ฉีดเข็ม 5 มาแล้วเกิน 3-6 เดือน ควรฉีดเข็มที่ 6

 

นพ.จักรรัฐกล่าวอีกว่า กระทรวงทำแบบจำลองคาดการณ์การระบาด ในกรณีที่ประชาชนหย่อนยานมาตรการการป้องกันโรค หากเกินที่เกณฑ์กำหนด จะต้องมีการปรับมาตรการให้มากขึ้น เช่น มีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลมากกว่าวันละ 4,000 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบมากกว่าวันละ 400 คน ผู้เสียชีวิตเกินวันละ 40 คน มาตรการที่เพิ่มขึ้น เช่น เตือนให้ทุกคนสวมหน้ากากให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เว้นระยะห่าง ผู้ป่วยให้ได้รับยาเร็วขึ้น และเร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างแดน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามาเก๊า เขตบริหารพิเศษของจีน ที่มีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่กว่า 1,500 คน ถูกกักบริเวณอีกกว่า 19,000 คน ส่งผลให้ ทางการมาเก๊าประกาศมาตรการปิดบ่อนกาสิโนทั้งหมดกว่า 30 แห่ง เป็นเวลา 7 วัน ถือเป็นการปิดกาสิโนครั้งแรกในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2563 ที่ครั้งนั้นสั่งปิดเป็นเวลา 15 วัน นอกจากนี้ ประชาชนมาเก๊ายังถูกสั่งให้อยู่แต่ในที่พักอาศัยเป็นเวลา 5 วัน จะออกจากบ้านได้เฉพาะไปซื้อของใช้ที่จำเป็น และทางการจะตรวจหาเชื้อประชากรทั้งหมด 4 ครั้งภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกิดเหตุทะเลาะวิวาทที่ศูนย์ตรวจเชื้อแห่งหนึ่ง หลังมีคนไม่พอใจที่ต้องต่อคิวรอรับการตรวจหาเชื้อเป็นเวลานานกว่า 20 ชั่วโมง

 

ขอขอบคุณที่มาเพจ Yong Poovorawan

logoline