svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ย้อนประวัติ “หนังกลางแปลง” มหรสพที่เกือบถูกลืม ก่อนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

07 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย้อนทำความรู้จัก “หนังกลางแปลง” มหรสพยามค่ำคืนที่เกือบถูกลืม ก่อนถูก “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ปลุกขึ้นมาอีกครั้งในงาน "กรุงเทพฯ กลางแปลง"

     หลังจาก “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผุดไอเดียฉายหนังกลางแปลง ในงานเทศกาล "กรุงเทพฯ กลางแปลง" ฉายหนังทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ​ โดยความร่วมมือระหว่าง​ กรุงเทพมหานคร สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ และชมรมหนังกลางแปลง​ ได้จัดขึ้น​ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปลอบขวัญคนกรุง และส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังไทย  โดยจะเริ่มฉายตั้งแต่เวลา​ 19.00  น.​ เป็นต้นไป ประเดิมจอวันนี้ (7 ก.ค.65) เป็นแรกด้วยเรื่อง อันธพาลครองเมือง 2499 ซึ่ง ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี ดารานำให้เรื่อง จะมาร่วมชมด้วย

ย้อนประวัติ “หนังกลางแปลง” มหรสพที่เกือบถูกลืม ก่อนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

     ย้อนทำความรู้จัก “หนังกลางแปลง” มหรสพกลางแจ้งยามค่ำคืน  ที่เป็นศูนย์รวมสิ่งต่างๆ งานบุญ งานวัด ประเพณีต่างๆ ตลอดจนการพบปะสังสรรค์

     ก่อนเข้าสู่เรื่องราวของ “หนังกลางแปลง” ต้องเริ่มด้วยการเล่าถึงภาพยนตร์ซึ่งหากนับจนถึงปัจจุบันเข้ามาในประเทศไทย แล้วกว่า 125 ปี โดยภาพยนต์เริ่มเข้ามาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยคณะละครเร่ชาวฝรั่งนามว่า เอส จี มาร์คอฟสกี (S.G. Marchovsky) ได้นำภาพยนตร์ฝรั่งเข้ามาจัดฉายสู่สายตาสาธารณะชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการนับตั้งแต่นั้นมาภาพยนตร์ได้กลายเป็นมหรสพใหม่ ด้วยความนิยมในการรับชมภาพยนตร์ที่เพิ่มมากขึ้นผนวกกับข้อจำกัดในเรื่องการฉายภาพยนตร์ที่ต้องฉายในสถานที่ปิดทำให้คณะหนังเร่เริ่มปรับและดัดแปลงรูปแบบการฉายหนังเพื่อให้คนดูเข้าถึงได้มากขึ้น จึงนำมาสู่การฉายหนังกลางแปลงมหรสพบันเทิงยามค่ำคืนของชาวสยาม

ย้อนประวัติ “หนังกลางแปลง” มหรสพที่เกือบถูกลืม ก่อนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

     หนังกลางแปลงเริ่มเฟื่องฟูขึ้น ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตกลายเป็นประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลก แต่ด้วยชุดอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน โดยสหรัฐอเมริกายึดนโยบายเสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งตรงข้ามกับสหภาพโซเวียตที่ยึดอุดมการณ์สังคมนิยม แต่ละค่ายต่างพยายามแผ่ขยายอิทธิพลของตนเข้าสู่ประเทศต่างๆ โดยให้ความช่วยเหลือและพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร ในช่วงระยะเวลานี้สหรัฐอเมริกามุ่งหวังให้ไทยเป็น “ป้อมปราการต่อต้านคอมมิวนิสต์” จึงให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการทหาร

     ส่งผลให้หนังกลางแปลงกลายเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ภาครัฐและภาคเอกชนต่างใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ตนเอง โดยจะเห็นได้จาก หน่วยเคลื่อนที่ประชาสัมพันธ์ที่โฆษณาข่าวสารจากรัฐและหนังขายยาที่โฆษณาและขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทตามหมู่บ้านและจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

     สำหรับชื่อเรียกของหนังกลางแปลงนั้นมีชื่อเรียกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “หนังล้อมผ้า/รั้ว หนังเร่ หนังขายยา หน่วยประชาสัมพันธ์” ในแต่ละชื่อที่ใช้เรียกหนังกลางแปลงนั้นต่างแสดงลักษณะเฉพาะ เช่น ลักษณะเด่นของหนังล้อมผ้าคือการฉายหนังโดยล้อมผ้าหรือสังกะสีรอบๆ จอหนังและเก็บค่าเข้าชมจากคนดู หรือลักษณะเด่นของหนังขายยา คือ การฉายหนังให้ชมฟรีสลับกับการขายสินค้า เป็นต้น

ย้อนประวัติ “หนังกลางแปลง” มหรสพที่เกือบถูกลืม ก่อนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

     แม้จะมีหลากหลายชื่อเรียก แต่ก็มีอยู่ 3 สิ่งที่เหมือนกันคือ หนึ่ง หนังกลางแปลงที่ต้องฉายในเวลากลางคืน สอง อุปกรณ์ที่ใช้ในการฉายหนังได้แก่ จอผ้าสีขาวขนาดยักษ์ ลำโพงกระจายเสียง และเครื่องฉายหนัง และสาม หนังและนักพากย์หนังอันเป็นของคู่กันกับหนังกลางแปลง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหนังกลางแปลงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแม้บางสิ่งบางอย่างจะเริ่มหายไปอย่างการพากย์สดหรือการฉายหนังด้วยเครื่องฉายหนัง 16 มม. หรือ 35 มม.

ย้อนประวัติ “หนังกลางแปลง” มหรสพที่เกือบถูกลืม ก่อนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

     กระทั่งยุคหลังพ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เนื่องจากมีแผ่น วีซีดี ดีวีดี โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ หรือแม้แต่การดูหนังผ่านช่องทางออนไลน์อย่างที่หลายคนทำอยู่ในทุกวันนี้ ทำให้มีการว่าจ้างหนังกลางแปลงลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบันหนังกลางแปลง มหรสพบันเทิงยามค่ำคืนหรือมหรสพแห่งท้องทุ่งค่อยๆ หายไป เหลือเพียงไม่กี่หน่วยเท่านั้นที่ยังคงจัดฉายอยู่ กลายเป็นเพียงมหรสพเพื่อใช้ในการแก้บนสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือฉายตามงานวัด

     สาเหตุหลักมาจากความเจริญทางเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ มือถือ แท็บเล็ท ฯลฯ ที่ทำให้คนสมัยใหม่ไม่มีความจำเป็นต้องออกไปนั่งตบยุงดูหนังกลางท้องไร่ท้องนา ซึ่งก็ดูเหมือนจะโดนตึกรามบ้านช่อง หรือความเป็นเมืองกลืนเข้าไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งล่าสุด “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่า ฯ กทม. ได้ปลุกหนังกลางแปลงมาให้คนกรุงได้ชมอีกครั้ง

ย้อนประวัติ “หนังกลางแปลง” มหรสพที่เกือบถูกลืม ก่อนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

     สำหรับโปรแกรมการฉายหนังกลางแปลง เริ่มเวลา 19.00 น. ดังนี้

- ลานคนเมือง

  • 7 ก.ค. 2499 อันธพาลครองเมือง (2540)
  • 8 ก.ค. เวลาในขวดแก้ว (2534)
  • 9 ก.ค. แพรดำ (2504)

- True Digital Park เขตพระโขนง

  • 7 ก.ค. รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (2552)
  • 8 ก.ค. 36 (2555)
  • 9 ก.ค. แม่นาคพระโขนง (2502)

- ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย

  • 14 ก.ค. RRR (2565)
  • 15 ก.ค. มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544)
  • 16 ก.ค. บุญชูผู้น่ารัก (2531)

- สวนรถไฟ เขตจตุจักร

  • 14 ก.ค. 4Kings (2564)
  • 15 ก.ค. Portrait of a Lady on Fire (2562)
  • 16 ก.ค. สวรรค์มืด (2501)

- สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย

  • 21 ก.ค. หมานคร (2547)
  • 22 ก.ค. อนธการ (2558)
  • 23 ก.ค. Wheel of Fortune and Fantasy (2564)

- ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค

  • 21 ก.ค. Fast and Furious (2552)
  • 22 ก.ค. ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)
  • 23 ก.ค. เพื่อนสนิท (2548)

- Block I สยามสแควร์

  • 28 ก.ค. รักแห่งสยาม (2550)
  • 29 ก.ค. Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549)
  • 30 ก.ค. สยามสแควร์ (2527)

- สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง

  • 28 ก.ค. คู่กรรม (2556)
  • 29 ก.ค. พี่นาค (2562)
  • 30 ก.ค. มือปืน (2526)

- สวนครูองุ่น เขตวัฒนา

  • 31 ก.ค. School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน (2563)

- มศว. ประสานมิตร เขตวัฒนา

  • 31 ก.ค. One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ (2564)

ขอบคุณภาพข้อมูล silpa-mag

 

logoline