“พระเกี้ยว” หรือ จุลมงกุฎ เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทั้งนี้ พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ “จุฬาลงกรณ์” ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือ จุลมงกุฎ ซึ่งมีความหมายเชื่อมโยงกับพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นคือ "มงกุฎ"
อีกทั้ง พระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีหมายความว่า “พระจอมเกล้าน้อย” อีกด้วย
เมื่อพระนามาภิไธยเดิมและพระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความหมายว่า “พระเกี้ยว” หรือ “จุลมงกุฎ” จึงได้ใช้ “พระเกี้ยว” หรือ จุลมงกุฎวางบนเบาะ เป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลของพระองค์
สำหรับ การใช้ “พระเกี้ยว” เป็นเครื่องหมายประจำสถาบันการศึกษานั้น มีมาตั้งแต่สมัย "โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน" โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียน
ต่อมาเมื่อโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ “พระเกี้ยว” เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก
ต่อมาเมื่อ โรงเรียนมหาดเล็ก กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็น เครื่องหมายของโรงเรียน ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน
กระทั่ง โรงเรียนมหาดเล็ก ได้วิวัฒน์ขึ้นเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนข้อความใต้ “พระเกี้ยว” ตามชื่อ ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ ตราพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัย ตราบจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ “พระเกี้ยว” องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็น “พระเกี้ยว” ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อสร้างจำลองจาก “พระเกี้ยว” จริง ที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้าง “พระเกี้ยว” จำลอง เมื่อ พ.ศ.2529 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายที่องค์พระเกี้ยว แล้วพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2532
สำหรับ สถานศึกษาที่ใช้ “พระเกี้ยว” เป็นสัญลักษณ์ มีหลายระดับการศึกษา ทั้งในระดับสถาบันอุดมศึกษา และในระดับโรงเรียนมัธยม
สถาบันอุดมศึกษา ที่ใช้ “พระเกี้ยว” หรือ “จุลมงกุฎ” เป็นสัญลักษณ์ มีดังนี้
โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่ใช้ “พระเกี้ยว” หรือ “จุลมงกุฎ” เป็นสัญลักษณ์ มีดังนี้
อ้างอิง :
สัญลักษณ์มหาวิทยาลัย "พระเกี้ยว" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร้อยเรื่องราวจากรั้วจามจุรี
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี