- 24 มิ.ย. 2565
- 2.4k
หมอธีระ เตือนกลุ่มอาชีพสุ่มเสี่ยง "ฝีดาษลิง" ย้ำแม้ติดยากกว่าโควิด แต่ต้องรู้เท่าทันสถานการณ์และป้องกันตัวเองให้ดี ขณะสถานการณ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 น่าห่วง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น
24 มิถุนายน 2565 “หมอธีระ” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ห่วงการแพร่ระบาดของ ฝีดาษลิง พร้อมเปิดกลุ่มเสี่ยงว่ามีกลุ่มใดบ้าง ย้ำการป้องกันตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ขณะสถานการณ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 เริ่มน่ากังวล เมื่อมีจำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้น มีเนื้อหาดังนี้
คนทำงานในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านบริการและบันเทิงอาจต้องระมัดระวังให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานบริการในรูปแบบต่างๆ ที่ต้องคลุกคลี สัมผัสใกล้ชิดลูกค้า เพราะฝีดาษลิงนั้นมีการขยายตัวไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว จาก 63 ราย ณ 18 พฤษภาคม 2565 ผ่านไปเพียงเดือนเดียว พุ่งไปเป็น 3,453 ราย ณ 22 มิถุนายน 2565 ใน 55 ประเทศทั่วโลก กระจายทุกทวีป เพิ่มขึ้นถึงกว่า 50 เท่า ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสใกล้ชิดทางกาย
สำหรับไทยเรา แหล่งท่องเที่ยวที่มีสถานบันเทิงกลางคืนจำนวนมาก และมีบริการใกล้ชิด รวมถึงการมีความสัมพันธ์ทางเพศในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะระหว่างเพศเดียวกัน หรือต่างเพศก็ตาม รวมถึงคนชอบเที่ยวหาความสัมพันธ์แบบ ONS ด้วย
ขอให้สังเกตอาการผิดปกติของคนที่เราไปสัมผัสใกล้ชิดด้วยเสมอ หากพบว่ามีไข้ ผื่น ตุ่ม หรือแผล ก็ขอให้หลีกเลี่ยงไม่ไปบริการหรือคลุกคลีใกล้ชิด และรีบไปตรวจรักษาโดยเร็ว
หมอธีระ ระบุว่า ดูการขยายตัวของการระบาดเช่นนี้ เป็นแบบ pandemic อย่างไม่ต้องสงสัย แม้จำนวนยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับโรคโควิด-19 แต่ประชาชนในแต่ละประเทศก็จำเป็นต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ และป้องกันตัวเองให้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่อาจมีอาชีพเสี่ยง หรืออยู่ในกิจการกิจกรรมหรือสถานที่เสี่ยง
นอกจากนี้ หมอธีระ ยังคงกังวลถึงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 โดย อัพเดตสถานการณ์ระบาดในสหราชอาณาจักร ระบุว่า
ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า กำลังเจอระบาดระลอกใหม่จากไวรัส Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 อย่างชัดเจน โดยส่งผลให้จำนวนติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น และที่สำคัญคือจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
สถานการณ์ของไทยเรานั้น ล่าสุดยกเลิกมาตรการต่างๆ ไปมาก ทำให้มีความเสี่ยงระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันสูงขึ้น หากเหลียวมองรอบตัวจะพบว่ามีคนติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ยิ่งเมื่อวานนี้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้สวมหน้ากากอนามัยโดยสมัครใจทั่วประเทศภายใต้ conditions ต่างๆ จึงขอเรียนเน้นย้ำให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีความใส่ใจต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของตนเองและครอบครัว
" นาทีนี้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน โควิด...ไม่กระจอก และไม่ใช่หวัดธรรมดา ติดเชื้อแล้วไม่ใช่แค่ชิลๆ แต่ป่วยได้ ตายได้ และที่สำคัญที่สุดคือ มีความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ได้ การใส่หน้ากากเสมอ ใช้ให้คุ้นชิน เป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกาย จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก "
อัพเดต Long COVID ในเด็กและวัยรุ่น
ล่าสุด Lopez-Leon S และทีมจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ เผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ Scientific Reports ในเครือ Nature เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
ประมวลผลจากงานวิจัยทั่วโลก 21 ชิ้น โดยมาจากเด็กและวัยรุ่นที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 80,071 คน พบว่า อัตราการเกิดภาวะ Long COVID มีสูงถึง 1 ใน 4 (25.24%) โดยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นมีหลากหลายระบบของร่างกาย รวมถึงภาวะผิดปกติทางอารมณ์
อาการที่พบบ่อยสุด ดังนี้
- ความผิดปกติทางอารมณ์ 16.5%
- รองลงมาคืออาการเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย 9.66%
- ปัญหาการนอนหลับ 8.42%
แม้งานวิจัยต่างๆ ที่ทำการทบทวนรวบรวมมาอย่างเป็นระบบนั้น จะมีรายละเอียดระเบียบวิธีวิจัยแตกต่างกันมาก แต่ผลการงานวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มว่า อาการผิดปกติระยะยาว หรือ Long COVID ในเด็กและวัยรุ่นนั้นมีโอกาสเกิดได้มากพอสมควร และมากกว่าที่หลายคนเคยประเมินกันไว้ก่อนหน้านี้ว่าโอกาสเกิดน้อยกว่าผู้ใหญ่
“ จึงเป็นข้อมูลวิชาการที่ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญ ที่ผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงคุณครู จะต้องช่วยกันดูแล ให้คำแนะนำเด็กๆ และวัยรุ่น เพื่อป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ”
อ้างอิง : Lopez-Leon S et al. Long-COVID in children and adolescents: a systematic review and meta-analyses. Scientific Reports. 23 June 2022.