svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สิงคโปร์นำเข้าพลังงานหมุนเวียนจากลาว

24 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สิงคโปร์เริ่มนำเข้าพลังงานหมุนเวียนจาก สปป.ลาว โดยผ่านไทยและมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการค้า "พลังงานไฟฟ้า" พหุภาคี ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นครั้งแรกของสิงคโปร์ที่นำเข้าพลังงานหมุนเวียนด้วย

การนำเข้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ของสิงคโปร์ เป็นโครงการนำร่องซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศของ 4 ชาติสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย สปป. ลาว, ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (Lao PDR-Thailand-Malaysia-Singapore Power Integration Project) ซึ่งเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นในปี 2557 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดน โดยสิงคโปร์จะนำเข้าไฟฟ้าจากเขื่อนของ สปป. ลาว 100 เมกะวัตต์ คิดเป็นประมาณ 1.5% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของสิงคโปร์ในปี 2563 เพื่อจ่ายไฟไปตามอาคารชุดของการเคหะแห่งชาติ (Housing & Development Board) ในแต่ละปี 

 

สิงคโปร์นำเข้าพลังงานหมุนเวียนจากลาว

 

ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จะส่งผ่านสายส่งในไทยกับมาเลเซีย อันเป็นก้าวแรกสู่การเชื่อมโครงข่ายระบบไฟฟ้าของอาเซียน (Asen Power Grid) จากการที่สิงคโปร์นับรวมไฟฟ้าจากเขื่อนเป็นพลังงานหมุนเวียน ที่จะสามารถนำไปใช้คำนวณในฐานะแหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และทำให้บรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนประเทศได้ 

 

ในส่วนของการดำเนินการอยู่ภายใต้ข้อตกลงระหว่างบริษัทไฟฟ้าสิงคโปร์ "Keppel Electric" และการไฟฟ้าลาว (Electricite Du Laos) หรือ EDL เมื่อวันที่ 15 กันยายน ปี 2564 ซึ่งตั้งเป้าร่วมกันในการสำรวจโอกาสที่จะส่งออกพลังงานจากแหล่ง "พลังงานหมุนเวียน" ไปยังสิงคโปร์ผ่านความเป็นหุ้นส่วนของความร่วมมือ โดยการไฟฟ้าลาวจะเป็นผู้ส่งออกและ Keppel เป็นผู้นำเข้าไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งข้ามแดนที่มีอยู่ในไทยกับมาเลเซีย 

สิงคโปร์นำเข้าพลังงานหมุนเวียนจากลาว

 

การนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ของสิงคโปร์ เริ่มต้นขึ้นหลังการจัดการด้านกฏระเบียบและกฏหมายด้านพาณิชย์และด้านเทคนิคเสร็จสิ้น โดยรัฐบาลของทั้ง 4 ชาติสมาชิกอาเซียน ตามด้วยการเซ็นสัญญาซื้อขายยระหว่าง Keppel Electric กับการไฟฟ้าลาว

 

สิงคโปร์นำเข้าพลังงานหมุนเวียนจากลาว

 

สื่อสิงคโปร์ The Straits Times รายงานว่า การนำเข้าพลังงานหมุนเวียนมีความสำคัญต่อสิงคโปร์ ในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายโลกร้อนหรือการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ข้อตกลงสากลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (UNFCCC) แต่ในปัจจุบันสิงคโปร์ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมากกว่า 95% ที่มาจากแหล่งพลังงงานฟอซซิล ที่ปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อผ่านกระบวนการเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้องแบกรับแรงกดดันให้ต้องลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงาน ในขณะที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ สำหรับทำโครงการโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) หรือ โครงงานผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ อีกด้วย

การนำเข้าไฟฟ้าจะช่วยปลดปล่อยสิงคโปร์จากแรงกดดัน ทั้งยังจะขยายการเชื่อมต่อกับแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พลังงานลมและพลังงานคลื่น ไปพร้อม ๆ กับการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น เทคโนโลยีการใช้แหล่งเชื้อเพลิงไฮโดรเจน หรือเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนจากอากาศ ซึ่งยังคงอยู่ที่จุดเริ่มต้นในปัจจุบัน 

 

สิงคโปร์นำเข้าพลังงานหมุนเวียนจากลาว

 

ดร.ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ลาว กล่าวว่า สปป. ลาว มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมากกว่า 8,000 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเติบโตอีกในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศและการส่งออกในอนาคต โครงการนี้พิสูจน์ว่าเรามาถูกทางแล้วในขณะที่เราส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาด รวมทั้งการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานลม

 

สิงคโปร์นำเข้าพลังงานหมุนเวียนจากลาว

logoline