22 มิถุนายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ที่สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมการประชุม คณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board: PCB) ครั้งที่ 50 โดย นายอนุทิน ได้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมครั้งนี้ เนื่องในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธาน UNAIDS PCB ปี 2565
นายอนุทิน กล่าวภายหลังการเปิดประชุมว่า ตลอดการประชุมระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย. ประเทศไทยในฐานะประธาน UNAIDS PCB ได้สื่อสารและผลักดันให้ผู้ร่วมประชุมได้เล็งเห็นความสำคัญว่า ปัจจุบัน โรคเอดส์ ยังเป็นโรคที่คุกคามระบบสาธารณสุขโลก โดยไทยจะขับเคลื่อนใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
ประการแรก การปกป้องวัยรุ่นคนหนุ่มสาว ให้พ้นจากโรคเอดส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่เป็นทั้งอนาคตของประเทศและของโลก หากต้องเป็นผู้ติดเชื้อนอกจากต้องทนทุกข์จากโรคและกระทบกับการใช้ชีวิตแล้ว ในระดับประเทศยังจะเป็นปัญหาที่ลดทอนศักยภาพในการพัฒนา ดังนั้น การสร้างความรู้ที่จำเป็นให้ได้ตระหนักถึงวิธีการป้องกันตัวเองและการการใช้ชีวิตที่ปลอดภัย
ประการที่ 2 หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รวมการให้บริการเอชไอวีหรือเอดส์ การเข้าถึงบริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและการรักษาเมื่อติดเชื้อไปแล้ว เนื่องจากประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องที่กังวลในหลายประเทศ ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง โดยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UHC ของไทย เป็นตัวอย่าง ของระบบสาธารณสุขไทยที่ประสบความสำเร็จในการจัดบริการ สำหรับเอชไอวีหรือเอดส์แบบบูรณาการภายใต้สิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิกทุกคน ประเทศไทยเชิญชวนให้ทุกประเทศร่วมกันผลักดันให้จัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่รวมสิทธิประโยชน์ด้านเอชไอวี/เอดส์ด้วย
สำหรับประการสุดท้าย ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ ซึ่งต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและดำเนินการ เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ทั้งในการให้บริการสุขภาพ สถานศึกษา ที่ทำงาน และชุมชน ตลอดจนต้องมีนโยบายและกฎหมายที่ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และประกันการเข้าถึงบริการที่จำเป็น
“การลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงการพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกประเทศในโลก เพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด การที่ประเทศไทยได้เป็นประธาน UNAIDS PCB ในปี 2565 ผมได้สื่อสารเป้าหมายนี้อย่างครบถ้วน และในที่ประชุมต่างก็เห็นด้วย เราหวังว่า ในปี 2030 หรืออีก 7-8 ปีข้างหน้า เราจะไม่ต้องมาพูดในเรื่องนี้อีก เพราะหวังว่าวันนั้นปัญหาโรคเอดส์ได้ยุติลงแล้ว”นายอนุทิน กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อ การประชุม UNAIDS PCB ครั้งที่ 50 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย. ที่สำนักงานใหญ่ WHO นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิก 22 ประเทศ หน่วยงานที่เป็นผู้สนับสนุน 11 องค์กรและภาคประชาสังคม หรือ NGOs ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกเพื่อนำเสนอเป้าหมาย และผลการดำเนินงานด้านการยุติเอดส์ให้ได้ในปี 2030 โดยหลังการประชุมครั้งนี้แล้ว จะมีการประชุมอีกครั้งระหว่างวันที่ 13-15 ธ.ค. 2565 ที่ประเทศไทย