นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของอีสท์ วอเตอร์ 30 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง มีการลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างเสถียรภาพในระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำมูลค่ามากกว่า 22,000 ล้านบาท เกิดเป็นโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ (Water Grid) ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และสมบูรณ์ที่สุดในอาเซียน ความยาวรวม 512 กิโลมตร เชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมด เชื่อมโยง 2 ลุ่มน้ำใน 4 จังหวัด ทำให้ อีสท์ วอเตอร์ สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่อีอีซี ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในสภาวะภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง
นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์มีการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำดิบที่สะท้อนต้นทุนให้ได้กำไรที่เหมาะสมต่อความสามารถในการนำไปใช้ในการลงทุนได้ต่อเนื่อง และสามารถที่จะจัดสรรปันผลตอบแทนต่อนักลงทุนในอัตราเหมาะสม โดยจะเห็นได้จากในระยะเวลา 10 ปีแรกอัตราค่น้ำดิบเฉลี่ย 7.00 บาทต่อ ลบ.ม. และในระยะปีที่ 11-20 อัตราค่าน้ำดิบเฉลี่ย8.50 บาทต่อ ลบ.ม. และในระยะปีที่ 21-30 อัตราค่าน้ำดิบเฉลี่ย 11.00 บาทต่อ ลบ.ม.
“30 ปีที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานความโปร่งใส บรรษัทภิบาลและความยั่งยืน รวมถึงการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อทุกภาคส่วน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน จึงได้สนับสนุนงบประมาณด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน และสิ่งแวดล้อม กว่า 100 ล้านบาทในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา” นายเชิดชาย ระบุ
นายเชิดชาย กล่าวด้วยว่า อีสท์ วอเตอร์ มีระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำ Water Grid ที่ใช้ในการบริหารจัดการส่งน้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา และอยู่ะหว่างการพัฒนาระบบโครงข่ายท่อเพิ่มเติมด้วยความยาวอีกกว่า120 กม. เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต การขยายการลงทุนครั้งนี้เพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้ใช้น้ำว่า อีสท์ วอเตอร์ ยังคงมีขีดความสามารถในการให้บริการส่งจ่ายน้ำในพื้นที่อีอีซีได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปและยังคงยึดมั่นภารกิจในการบูรณาการการบริหารและจัดการระบบท่อส่งน้ำดิบในพื้นที่ภาคตะวันออก เน้นความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพ รวมถึงดูแลบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำให้สามารถตอบสนองความต้องการการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอ ทันต่อเหตุการณ์ และสามารถขยายระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่อีสท์ วอเตอร์ ยึดมั่นมาโดยตลอดระยะเวลา 30 ปี" นายเชิดชาย ระบุ
รายงานข่าวแจ้งถึงประเด็นการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ของ อีสท์ วอเตอร์ แก่กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ในโครงการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่มีการระบุว่า อีสท์ วอเตอร์ จ่ายค่าเช่าหรือบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 - 2564 ของโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่กรมธนารักษ์ต่เกินไป ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาการบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกซึ่งทำไว้เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2536 ระหว่างกระทรวงการคลัง โดย นายนิพัทธ พุกกะณะสุข อธิบดีกรมธนารักษ์ขณะนั้นกับ นายวันชัย กู้ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ ขณะนั้น สาระสำคัญระบุว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อรับผิดชอบในการพัฒนาและจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก โดยรับโอนสิทธิการใช้ระบบท่อส่งน้ำที่มีอยู่แล้ว มาดำเนินการรวมทั้งพัฒนาแแหล่งน้ำ และระบบท่อส่งน้ำใหม่ตามความจำเป็น โดยกระทรวงการคลังยินยอมให้บริษัทเข้าบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2537 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทบริหารระบบท่อส่งน้ำและเก็บค่าน้ำดิบ ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไงให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ระบบเศรษฐกิจ โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประชาชนโดยส่วนรวมด้วย
ส่วนการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน กำหนดไว้ชัดเจนว่าบริษัทตกลงที่จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในการได้รับสิทธิบริหารระบบท่อส่งน้ำให้แก่กระทรวงการคลัง ตามอัตราและระยะเวลาที่ระบุไว้ ตามสัญญาระบุให้บริษัทต้องดำเนินการดังนี้
1. บริษัทตกลงจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ให้แก่กระทรวงการคลังในอัตรา 2 ล้านบาทต่อปี
2.ในปีใดบริษัทมียอดขายน้ำดิบเกินกว่า 200 ล้านบาทต่อปี บริษัทจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ให้กับกระทรวงการคลังในอัตรา 1% ของยอดขายน้ำดิบ
3. นอกเหนือจากผลประโยชน์ตอบแทนตามข้อ 1 และ 2 แล้ว หากในปีใดบริษัทมีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(Return on Equity ) เกินกว่า 20% บริษัทจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน (Profit Sharing) ให้กับกระทรวงการคลังเพิ่มอีกในอัตรา 15 % ของส่วนที่เกิน 20%
ทั้งนี้อัตราผลประโยชน์ตอบแทนรวมตามข้อ 1 และ 2 เมื่อรวมกับผลประโยชน์ตอบแทนในข้อ 3 จะต้องไม่เกิน 6% ของมูลค่าที่แท้จริง ที่ได้มีการประเมินตามระยะเวลา และหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ของทรัพย์สินที่บริษัทเช่าจากกระทรวงการคลังตามสัญญนี้
ตามสัญญาที่ทำไว้มีความชัดเจนที่สุดว่า อีสท์ วอเตอร์ จะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กรมธนารักษเท่าใด การที่ออกมาระบุว่า อีสท์ วอเตอร์ จ่ายน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะไม่ได้ศึกษารายละเอียดของสัญญาที่ทำไว้
สำหรับผลตอบแทนแก่ภาครัฐ นอกเหนือจากการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในแต่ละปีให้แก่กรมธนารักษ์ตั้งแต่ปี2537- 2564 รวมกว่า 600 ล้านบาท ตามข้อตกลงที่ อีสท์ วอเตอร์ และกรมธนารักษ์ ได้ตกลงกันแล้ว อีสท์ วอเตอร์ยังมีการจัดสรรกำไรในแต่ละปี โดยได้จัดสรรเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภาครัฐ ที่ถือหุ้นอยู่ใน อีสท์ วอเตอร์ จำนวน45% เป็นเงินรวมประมาณ 5,500 ล้านบาท หลังจากจัดสรรปันผลแล้ว จะสะสมเป็นกำไรสะสมในงบการเงิน ซึ่ง ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนรวมประมาณ 6,800 ล้านบาท หากคำนวณเป็นผลประโยชน์ส่วนเพิ่มของผู้ถือหุ้นหลักภาครัฐ 45% คิดเป็น 3,060 ล้านบาท
นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ ได้กำหนดราคาจำหน่ายน้ำดิบที่สะท้อนต้นทุน ให้ได้กำไรที่เหมาะสมต่อความสามารถในการนำไปใช้ในการลงทุนได้ต่อเนื่อง เห็นได้จากช่วงระยะเวลา 10 ปีแรก อัตราค่าน้ำดิบ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ7.00 บาทต่อลบ.ม. ในระยะปีที่ 11-20 อัตราค่าน้ำดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8.5 บาทต่อ ลบ.ม. และในระยะปีที่ 21-30 อัตราค่าน้ำดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 11.00 บาทต่อ ลบ.ม.
ทั้งนี้ รายได้ในแต่ละปีที่ได้รับ อีสท์ วอเตอร์ นอกจากนำไปขยายการลงทุนเพิ่มตามแผนที่วางไว้ อีสท์ วอเตอร์ ยังได้ส่งภาษีเงินได้สู่ภาครัฐอย่างชัดเจน โดยปี 2559 ส่งเข้ารัฐ 331 ล้านบาท ปี 2560 ส่งเข้ารัฐ 339 ล้านบาท ปี 2561 ส่งเข้ารัฐ 588 ล้านบาท ปี 2562 ส่งเข้ารัฐ 262ล้านบาท ปี 2563 ส่งเข้ารัฐ 207ล้านบาท ปี 2564 ส่งเข้ารัฐ 263 ล้านบาท