วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่รัฐสภา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... (ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว) ว่า มาตรา 14 เป็นมาตราที่เรียกว่า เป็นการปฏิรูปองค์กรตำรวจ โดยคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เป็นหนึ่งในองค์กรตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 60 และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว
และสิ่งหนึ่งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปคือ เรื่องการบริหารงานบุคคลและการรับผิดชอบต่อองค์กร ผู้นำองค์กรที่กฎหมายให้อำนาจหน้าที่คือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. มีหน้าที่ในการบริหารบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตนเห็นด้วยกับคณะกรรมการที่เสียงส่วนใหญ่เสนอ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า แต่ส่วนตนไม่เห็นด้วยใน 2 ประการ คือ ประธาน ก.ตร. จะต้องเป็น ผบ.ตร. ไม่ควรที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการกำหนดนโยบายอยู่แล้ว รวมถึงในฐานะอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ก็สามารถย้าย ผบ.ตร. ได้ตลอดเวลา การที่ให้นายกฯ หรือนักการเมือง หรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลเข้ามาอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว นอกจากจะไม่เป็นการปฏิรูปแล้วก็จะมีสภาพเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีตำรวจ ถึง 2.1 แสนคน ถึงเวลาที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับตำรวจ คือให้ตำรวจเข้ามาเป็นประธาน เพราะในอดีตที่ผ่านมาระบบอุปถัมภ์เข้าครอบงำตำรวจอย่างมากมาย โดยเฉพาะหลังจากการยึดอำนาจ ในการแต่งตั้งครั้งแรกนายกฯ ก็ไม่เอาอาวุโสอันดับ 1 อันดับ 2 แต่เอาอาวุโสท้าย ๆ ขึ้นมา และการแต่งตั้ง ผบ.ตร. อีก 2 คนสุดท้าย นายกฯ ก็เอาคนสุดท้ายขึ้นมา แม้จะมีรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วก็ตาม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนจึงอยากเรียกร้องให้คืนตำรวจให้กับตำรวจ ใน ก.ตร. ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คนเราให้ข้าราชการตำรวจทั้ง 2 แสนคนเป็นผู้เลือก ไม่ใช่เป็นผู้ถูกหยิบยื่นขึ้นมาเหมือนในอดีต แม้แต่ว่า บุคคลดังกล่าวจะถูกคัดเลือกโดย ก.ตร. ยิ่งให้นายกฯ มาเป็นประธาน ก็อาจจะเอาตัวเลือกที่มีน้อยนิด จาก 6 คน เหลือ 3 คน หรือเอาคนรอบข้างนายกฯ 6 คน ไปให้ข้าราชการตำรวจ 2 แสนคนเลือก มันก็เหมือนไม่ได้มีการปฏิรูป จึงควรที่จะให้ ผบ.ตร. เป็น ก.ตร.
อีกข้อใน (3) ที่ข้าราชการที่มาจากเลขา กพ. รอง ผบ.ตร. ยกเว้น รอง ผบ.ตร.(2) ที่เรียงอาวุโส 4 คน กรณีที่เป็นจเรตำรวจ ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่า รอง ผบ.ตร. นั้น เนื่องจากในการปฏิรูปครั้งนี้ บทบาทจเรตำรวจได้หมดไปแล้ว จึงมีการเสนอยุบ ซึ่งก็ไม่ใช่มาตรานี้ จเรตำรวจที่มีตำแหน่งเป็น รอง ผบ.ตร. หรือเป็น ผช.ผบ.ตร. จึงไม่ค่อยมีตำแหน่งนี้
สุดท้าย คิดว่า มาตรานี้เป็นมาตราแห่งการปฏิรูปตำรวจ ในบรรดาคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดก็คือผู้นำ ถ้าผู้นำยังอยู่ใต้อาณัติของผู้มีอำนาจทางการเมือง เราจะเห็นว่าอำนาจเผด็จการที่เข้มแข็ง หรือคนชั่วที่แข็งแกร่งจะใช้คนในตำแหน่งที่อ่อนแอ โดยเฉพาะถ้าผู้นำตำรวจที่อ่อนแอต้องพึ่งกับผู้มีอำนาจ ประชาชนจะเดือดร้อนทั้งประเทศ เพราะในเรื่องความยุติธรรมตำรวจถือว่าเป็นองค์กรที่สัมผัสประชาชนมากที่สุด