น่าสนใจมาก Omicron (โอมิครอน) เก่งกว่าที่เราคิด
แม้ติดเชื้อหายดีแล้ว ภูมิคุ้มกันก็ไม่ค่อยพอในการป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจ
โดย อิมพิเรียลคอลเลจ (Imperial College London) ที่ อังกฤษ
ซึ่งทำการศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ (HCW) จำนวน 731 คน ในช่วงมีนาคม 2563 ถึงมกราคม 2565
โดยที่บุคลากรดังกล่าวมีประวัติที่หลากหลาย ทั้งติดโควิดด้วยไวรัสที่แตกต่างกัน ทั้งอู่ฮั่น อัลฟ่า และเดลตา แต่ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน mRNA 3 เข็ม
เมื่อทำการศึกษาแล้ว พบความจริงที่น่าสนใจได้แก่ พบว่าผู้ที่ติดโควิด-19 จากไวรัสโอมิครอน เมื่อหายดีแล้ว
มีระดับภูมิคุ้มกัน (Antibody) ที่ขึ้นสูงไม่มากพอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำ(Reinfection)
และการฉีดวัคซีน 3 เข็ม ซึ่งเป็นชนิด mRNA ก็มีระดับภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับไวรัสโอมิครอนสูงไม่มากนัก ทำให้มีโอกาสติดไวรัสโอมิครอนได้มากพอสมควร
เพียงแต่สามารถป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ดี ทั้งนี้เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันแบบเซลล์ที่ต่อสู้ป้องกันอาการไม่ให้รุนแรงนัก
สาเหตุที่การฉีดวัคซีน มีระดับภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัสโอมิครอนต่ำกว่าไวรัสสายพันธุ์เดิม ไม่ว่าจะเป็นอู่ฮั่น อัลฟ่า หรือเดลตา
เนื่องจากไวรัสโอมิครอน มีการกลายพันธุ์ที่ส่วนหนาม (Spike) มากถึง 36 ตำแหน่ง
ทำให้วัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 1 ซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดยใช้โครงสร้างส่วนหนามของไวรัสสายพันธุ์เดิม รับมือกับส่วนหนามของไวรัสโอมิครอนได้ไม่เต็มที่
และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ การติดโอมิครอน และมีภูมิคุ้มกันเพื่อจะป้องกันโอมิครอนเอง ก็ป้องกันได้ไม่ดีนักเช่นกัน
ข้อค้นพบดังกล่าว
จึงทำให้ความหวังในการที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จากการระดมฉีดวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 1 มีความเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
มีความจำเป็นที่ต้องเร่งการพัฒนาวัคซีนเจนเนอเรชั่นที่ 2 ที่ใช้โครงสร้างส่วนหนามของไวรัสโอมิครอนเป็นหลัก
นอกจากนั้น ก็ทำให้เชื่อว่า การจะจบหรือยุติของโควิดโดยสมบูรณ์ ก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น และต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น
เนื่องจากจะยังมีผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ และผู้ที่จะติดเชื้อทั้งที่มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมากพอสมควร