เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
16 มิถุนายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” แจ้งข่าวดีในการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กเล็ก หลังจาก องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA พิจารณาอนุมัติให้ใช้ วัคซีน mRNA ในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ขวบได้แล้ว มีรายละเอียดระบุว่า..
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 455,939 คน ตายเพิ่ม 910 คน รวมแล้วติดไป 542,172,181 คน เสียชีวิตรวม 6,335,159 คน โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 75.74 ของทั้งโลก
ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 58.68 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 32.25 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 23.84
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยคิดเป็น 8.29% ของทวีปเอเชีย หากปรับตามคาดประมาณสัดส่วนของคนที่มีโรคร่วมเหมือน UK จะเป็น 11.55%
ข่าวดีวัคซีนโควิดในเด็กเล็ก
ล่าสุดเมื่อคืนนี้ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ US FDA ได้ประชุมและสรุปผลว่า แนะนำให้มีการให้ วัคซีน mRNA แก่เด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน - 5 ปี
หลังการพิจารณาของ FDA จะเป็นขั้นตอนการพิจารณาของ US CDC ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ ก็จะมีการประกาศใช้ในอเมริกาได้ ถือเป็นข่าวดี เพราะกลุ่มเด็กเล็กนั้นยังไม่มีวัคซีนเพื่อใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19
“ การใส่หน้ากากเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงของตัวท่านเองระหว่างการดำรงชีวิตประจำวันนอกบ้าน
ย้ำอีกครั้งว่า โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก ติดเชื้อ ไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อความผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ” หมอธีระ กล่าวในตอนท้าย
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ “หมอยง” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.65 ถึง "โควิด 19 การให้วัคซีน ในเด็ก 5-11 ปี" ไว้อย่างน่าสนใจ มีรายละเอียดระบุว่า
ผลการศึกษาของศูนย์ฯ ในการให้ วัคซีนในเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี ในวิธีการให้ด้วยวัคซีนชนิดต่างๆได้ผลสรุปได้ดังนี้
1. การให้วัคซีนเริ่มต้นด้วย วัคซีนชิโนแวก ตามด้วย ไฟเซอร์ เข็ม 2 ที่ 1 เดือน ได้ผลไม่ด้อยกว่าการให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 2 เดือน ภูมิต้านทานจำเพาะต่อหนามแหลม ที่เป็น immunoglobulin G จะสูงกว่า แต่ ภูมิต้านทานรวม (globulin ที่รวม IgG IgA IgM) ในกลุ่มไฟเซอร์ จะสูงกว่า
2. ระยะเวลาห่างของสูตรไขว้จะเป็น 4 สัปดาห์ การให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มจะห่างกัน 8 สัปดาห์ โดยหลักการแล้วยิ่งห่าง ภูมิจะสูงขึ้นกว่า การใช้สูตรไขว้ระยะห่างเป็นเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ได้ผลเร็วกว่าการให้ไฟเซอร์ ห่างกัน 2 เดือน
3. เด็กตอบสนองภูมิต้านทานได้ดีกว่าผู้ใหญ่อย่างชัดเจน
4. การให้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มในเด็ก 5 ถึง 11 ปี (ชิโนแวก หรือชิโนฟาร์ม) แล้วตามด้วย ไฟเซอร์ ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก เช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ใหญ่ที่ผ่านมา สามารถป้องกันสายพันธุ์ omicron ได้ดี
5. การให้วัคซีนชิโนแวก 2 เข็มก่อน จะได้ภูมิสูงกว่าการให้วัคซีน ชิโนฟาร์ม 2 เข็มก่อน เช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ใหญ่ที่ผ่านมา
6. ข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา การให้วัคซีน 2 เข็ม ระดับภูมิต้านทานไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้ถึง 3 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ในเด็กก็เช่นเดียวกัน ไฟเซอร์ 2 เข็มก็ไม่เพียงพอ ต่อไปก็จะต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3
7. การให้วัคซีนเชื้อตายก่อน เป็นการหลีกเลี่ยงลดจำนวนการให้วัคซีน mRNA ให้น้อยลง อาการข้างเคียงของ mRNA จะเกิดขึ้นในเข็มที่ 2 และ 3 มากกว่าเข็มแรก
การศึกษานี้รอให้สมบูรณ์ รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เพิ่มขึ้น เหมือนกับที่เราทำในการศึกษาผู้ใหญ่ และจะได้เผยแพร่ในวารสารนานาชาติเป็นที่ยอมรับมาแล้วต่อไป
ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” , เพจเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan”