รายงานการใช้จ่ายด้านอาวุธนิวเคลียร์ประจำปี ที่จัดทำโดยคณะกรรมการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์หรือไอแคน ระบุว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุด 44,200 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว หรือเกินครึ่งหนึ่งจากยอดการใช้จ่ายของประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 9 ประเทศในโลก รวมกัน 82,400 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.89 ล้านล้านบาท
ส่วนจีนอยู่ในอันดับ 2 มียอดใช้จ่ายด้านอาวุธนิวเคลียร์ 11,700 ล้านดอลลาร์, รัสเซีย 8,600 ล้านดอลลาร์, อังกฤษ 6,800 ล้านดอลลาร์, ฝรั่งเศส 5,900 ล้านดอลลาร์, อินเดีย 2,300 ล้านดอลลาร์, อิสราเอล 1,200 ล้านดอลลาร์, ปากีสถาน 1,100 ล้านดอลลาร์ และเกาหลีเหนือ 642 ล้านดอลลาร์
ไอแคนระบุด้วยว่าการใช้จ่ายด้านอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้ช่วยยับยั้งสงครามในยุโรป และยังสิ้นเปลืองทรัพยากรอันมีค่า ที่อาจนำไปใช้ในเรื่องความท้าทายด้านความมั่นคงอื่น ๆ หรือใช้ต่อสู้กับโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก และวงจรการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลืองเช่นนี้ควรยุติได้แล้ว
นอกจากนี้ไอแคนเปิดเผยว่าผู้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์ เพื่อล็อบบีให้ได้สัญญาจัดซื้ออาวุธ โดยทุก 1 ดอลลาร์ ที่ทุ่มไปกับการล็อบบี จะนำไปสู่ราคาเฉลี่ย 256 ดอลลาร์ ของสัญญาซื้อขายอาวุธนิวเคลียร์แต่ละฉบับ
เมื่อวันจันทร์สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มหรือ SIPRI เผยแพร่รายงานว่า จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับจากยุคสงครามเย็น โดยมีปัจจัยจากความขัดแย้งทั่วโลก และ 9 ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ได้เพิ่มจำนวนหรืออัปเกรดหัวรบนิวเคลียร์มากขึ้น และความเสี่ยงที่อาวุธเหล่านี้จะถูกนำมาใช้จริง ก็เพิ่มขึ้นสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับจากยุคสงครามเย็น
รายงานฉบับนี้ระบุว่ารัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก 5,977 ลูก จากจำนวนทั้งหมด 12,705 ลูกใน 9 ประเทศ ตามด้วยสหรัฐฯ ที่มี 5,428 ลูก โดยทั้งสองชาติมีหัวรบนิวเคลียร์รวมกันคิดเป็น 90% ของทั้งโลก