svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"นโยบาย 3 ข." เป็นเหตุ หวั่นสภาวะล้มละลาย ชงแนวทางแก้ไขกองทุนประกันสังคม

12 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อนุสรณ์ ธรรมใจ เสนอแนวทางแก้ไขผลกระทบฐานะการเงินกองทุนประกันสังคมจาก "นโยบาย 3 ข." เพิ่มเพดานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบทุกปี ปีนี้ให้ปรับเพิ่มจาก 15,000 (ไม่ได้ปรับมา 30 ปีแล้ว) เป็น 17,500-20,000 บาท เพิ่มอัตราเงินสมทบ ขยายอายุสิทธิในการรับบำนาญ

 

เมื่อวันที่  12 มิ.ย. 65 รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม ได้เสนอแนวทางแก้ไขผลกระทบฐานะการเงินกองทุนประกันสังคมจากนโยบาย 3 ขอ (ให้นำ “เงิน” จากกองทุนชราภาพ ออกมาใช้ก่อน และ ให้เลือกรับบำเหน็จแทนบำนาญได้ และ ขอคืนหรือขอกู้จากกองทุนได้) ว่า 

 

"นโยบาย 3 ขอ" แม้นมีเป้าหมายต้องการช่วยเหลือผู้ประกันตนเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าแต่เป็นการละเมิดต่อหลักการประกันสังคม และอาจนำมาสู่ปัญหาฐานะทางการเงินของกองทุนชราภาพได้ จึงขอเสนอให้ทบทวนนโยบายดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม หากต้องการเดินหน้านโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องมีมาตรการและแนวทางเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้กองทุนชราภาพเข้าสู่สภาวะการล้มละลายภายใน 30 ปี และผู้ประกันตนที่รับบำเหน็จอาจใช้จ่ายเงินหมดภายใน 5 ปีหลังการเกษียณ โดยแนวทางและมาตรการเพิ่มเติมมีดังต่อไปนี้

 

ประการที่หนึ่ง ต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณจ่ายเงินสมทบ เพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ 15,000 บาทใช้มามากกว่า 30 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้ ผู้ประกันตนร้อยละ 37.5% มีค่าจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าเพดานค่าจ้างปัจจุบัน ขอเสนอให้ปรับเพดานค่าจ้างเป็น 17,500-20,000 ในปีนี้และให้ปรับเพิ่มทุกปีตามการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ย การทำตามข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มประมาณ 5-6% โดยที่ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ยไม่ต้องรับภาระจ่ายสมทบเพิ่ม

 

ส่วนผู้ประกันตนมีค่าจ้างสูงกว่าเพดานค่าจ้างเฉลี่ยใหม่ต้องจ่ายสมทบเพิ่มเพียงเล็กน้อย การกำหนดเพดานค่าจ้างเฉลี่ยให้เหมาะสมจะทำให้สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์และเงินสมทบให้เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินและก่อให้เกิดความมั่นคงต่อกองทุนประกันสังคมอีกด้วย แม้นไม่มี"นโยบาย 3 ขอ" ก็จำเป็นต้องปรับเพดานค่าจ้างอยู่แล้ว ยิ่งมีนโยบายนี้ยิ่งต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุน เพื่อกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม รายได้ที่เพิ่มเติมของกองทุนประกันสังคมทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถจัดสิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้ทั้งกรณีว่างงานและกรณีบำนาญชราภาพได้ดีขึ้น

 

นอกจากนี้เป็นการรองรับค่ารักษาพยาบาลที่ปรับสูงขึ้นด้วย ข้อเท็จจริง ณ. วันนี้ก็คือ มีผู้รับบำนาญสะสมแล้วถึง 420,000 คน จากประมาณการผู้รับบำนาญสะสมจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนในปี พ.ศ. 2574 อีกประมาณ 10 ปี หากมีการใช้นโยบาย 3 ขอโดยไม่ปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเฉลี่ย กองทุนชราภาพมีความเสี่ยงทางการเงินและอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลายสูงมากหากผู้ประกันตนแห่กันไปขอคืนหรือรับบำเหน็จจำนวนมาก ส่วน การรับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด อย่างปี พ.ศ. 2564 มีผู้ใช้สิทธิสูงถึง 1.5 ล้านคน ล่าสุด ผู้ใช้สิทธิประกันการว่างงานลดลงบ้างจากเศรษฐกิจและภาวะการจ้างงานกระเตื้องขึ้น

 

ประการที่สอง การเพิ่มอายุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากกองทุนชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี โดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประการที่สาม ควรศึกษาถึงความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราจ่ายเงินสมทบทั้งส่วนของนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลเพื่อให้รายรับ (เงินไหลเข้ากองทุน) เพียงพอต่อ รายจ่าย (เงินไหลออกกองทุน) เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มสูงขึ้น อย่างค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่าง อัตราเงินเฟ้อเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (Medical Inflation) อยู่ที่ 8-9% ประการที่สี่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ความเป็นอิสระ และเกิดการบริหารงานอย่างมืออาชีพ ลดการแทรกแซงทางการเมือง ลดการใช้นโยบายประชานิยมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของกองทุนประกันสังคม จึงเสนอให้มีการศึกษาเพื่อแปรสภาพ สำนักงานกองทุนประกันสังคม จาก หน่วยราชการ เป็น องค์กรอิสระของรัฐที่ประกอบไปด้วย คณะกรรมการที่มีมาจากการเลือกตั้งของผู้แทนผู้ประกันตน ผู้แทนนายจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒินักวิชาการจากการสรรหาที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น 


บางท่านแม้นได้เงินจากกองทุนประกันการว่างงาน สวัสดิการรวมทั้งเงินช่วยเหลือจากรัฐแล้วก็ยังไม่เพียงพอ จึงขอเลือกรับบำเหน็จแทนบำนาญเมื่ออายุครบ 55 ปี ขอนำเงินจากองทุนชราภาพมาใช้ก่อน และ ขอกู้จากกองทุน ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปเพอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น การเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตนในการใช้เงินกองทุนชราภาพตามข้อเรียกร้องอาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่เหมาะสมในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกันตนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าอย่างหนัก แต่จะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวติดตามมาไม่น้อย 


รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวอีกว่า กองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมนี้ออกแบบมาเพื่อรับมือและลดความเสี่ยงหากสมาชิกกองทุนประกันสังคมมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าเงินที่เก็บออมไว้ และ บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาสังคมชราภาพของไทย ตามหลักการต้องการเป็นหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงวัยมีบำนาญไว้ใช้จ่ายตลอดชั่วอายุขัย ซึ่งกองทุนประกันชราภาพของกองทุนประกันสังคมนั้นจะต่างจากระบบ Defined Contribution Scheme ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนการออมแห่งชาติที่ผู้ส่งสมทบจะมีบัญชีของตัวเองชัดเจน บำเหน็จบำนาญที่ได้จึงขึ้นอยู่กับเงินออมสมทบของตัวเอง

 

ขณะที่ระบบประกันสังคมนั้นเป็นแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขจ่ายเงินบำนาญจากกองกลาง กองทุนชราภาพของกองทุนประกันสังคมอาจประสบปัญหาสภาพคล่องหากมีคนมาขอใช้สิทธิรับบำเหน็จและขอคืนเงินจำนวนมาก แม้นจะมีข้อกำหนดว่า ขอคืนได้ไม่เกินร้อยละ 30 สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทก็ตาม หรือ มาขอกู้กันมากๆเพราะมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องกองทุนประกันสังคมอาจมีปัญหาได้ 


ในหลายประเทศ แม้นมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็จะไม่ยอมให้จ่ายเป็นบำเหน็จเพราะโดยหลักการกองทุนประกันชราภาพแล้วต้องการให้เป็นหลักประกันรายได้ไปตลอดชีวิต มีบางประเทศให้รับบำเหน็จได้ แต่ผู้ประกันตนก็มักใช้เงินหมดภายในเวลาไม่กี่ปีและไม่มีหลักประกันรายได้หลังจากนั้นและต้องกลับมาเป็นภาระของสังคมและรัฐในที่สุด

 

ส่วนกรณีการขอคืน "เงินกองทุนชราภาพ" นั้นควรใช้มีวิธีขยายสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานสำหรับผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะดีกว่า หรือ รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่มีรายได้น้อย การดึงเงินจากกองทุนประกันชราภาพไปใช้เพื่อลดปัญหาทางงบประมาณหรือการก่อหนี้เพิ่มของรัฐเฉพาะหน้า แต่จะสร้างปัญหาระยะยาวติดตามมาอยู่ดี

 

ส่วนการขอกู้จากกองทุนหรือนำเงินที่สะสมไว้มาเป็นหลักประกันนั้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะลังเลปล่อยกู้หรือไม่ เพราะเงินสมทบก็คล้ายการจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อซื้อบริการไปแล้ว หากเอาเงินสมทบมาขอกู้เงินความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น ยกเว้นธนาคารของรัฐที่รัฐบาลสั่งให้สนองนโยบายหรืออีกทางหนึ่ง

 

สำนักงานประกันสังคมต้องจัดตั้ง "ธนาคารของกองทุนประกันสังคม"  ขึ้นมา ขอให้ทางกระทรวงแรงงานและรัฐบาลพิจารณาข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและส่งผลกระทบระยะยาวต่อกองทุนประกันสังคมด้วยความรอบคอบ  


รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า แม้นสถานการณ์การจ้างงานโดยรวมปรับตัวในทิศทางกระเตื้องขึ้นบ้างโดยเฉพาะการจ้างแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ภาคการท่องเที่ยวหลังการเปิดประเทศ การฟื้นตัวของภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว ส่งผลทำให้ขาดแคลนแรงงานฝีมือไม่ต่ำกว่า 500,000 คน กระทรวงแรงงานควรขยายการนำเข้าแรงงานผ่านระบบ MOU เพื่อให้ภาคการผลิตภาคบริการสามารถจัดหาแรงงานประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างถูกกฎหมาย และสามารถกำกับดูแลมิติทางด้านสาธารณสุข ความมั่นคงได้

 

นอกจากนี้ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมต่อภาวะค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย  อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพพุ่งขึ้น เป็นปัญหาใหญ่ของครัวเรือนรายได้น้อยอย่างมาก ขณะที่หลายประเทศทยอยใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงิน ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกาเดือน พ.ค.ปรับตัวสูงสุดในรอบ 40 ปีแตะระดับ 8.6 % เทียบกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว สูงกว่าตลาดคาดการณ์ นักลงทุนเทขายหุ้นอย่างหนัก ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ดิ่งลงแรงกว่า 800 จุด ลดลงเกือบ 3% ดาวโจนส์ฟิวเจอร์ลดลงกว่า 800 จุด ราคาทองคำในตลาดโลกปรับขึ้นแรงในฐานะสินทรัพย์สู้เงินเฟ้อและอาจทดสอบ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้งหนึ่งได้

 

ตลาดหุ้นไทยและเอเชียคงไม่สามารถหลีกผลกระทบจากความผันผวนนี้ได้ โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจทดสอบแนวรับ 1,600-1,622 ได้ในสัปดาห์นี้ (13-17 มิ.ย. 65) หากดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงต่ำกว่า 1,600 จุดเป็นโอกาสของการเข้าลงทุน ดอกเบี้ยพันธบัตรปรับขึ้นต่อเนื่อง พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯระยะสองปีแตะ 2.95% แล้ว สูงสุดในรอบ 14 ปี ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีอยู่ที่ 3.16%

 

ทำให้มีการคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 14-15 มิ.ย. มากถึง 0.75% สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เดิมว่า จะปรับเพียง 0.50% แม้นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าปรับเพิ่ม 0.50% ก็ตาม แต่ ธนาคารกลางน่าจะส่งสัญญาณชัดเจนในการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้นอีกในการประชุมครั้งนี้ และ อาจมีการปรับแผนการทำ QT จากการดูดซับสภาพคล่องออกเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์เพิ่มเติมอีก สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ตลาดการเงิน ตลาดหุ้นในสัปดาห์หน้าผันผวนรุนแรง โดยปรับฐานลดลง และ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75%

 

ในการประชุมครั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจดำเนินนโยบาย QT เข้มงวดขึ้นอีก ภาวะดังกล่าวควรเป็นปัจจัยที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาเพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศเองในเดือนพฤษภาคมก็ปรับตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี แตะ  7.1% เงินเฟ้อกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นกว่า 37.2% กลุ่มอาหารราคาเพิ่มขึ้น 6.18% ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 13.3% และตนคาดว่า หากเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง พร้อมราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูงกว่า 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับราคาปุ๋ยปรับตัวสูงกว่า 3 เท่า อาจทำให้ราคาอาหารและสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกันรัฐบาลมีข้อจำกัดมากขึ้นในการแทรกแซงเพื่อชดเชยราคาพลังงาน หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิต 5 บาทต่อลิตรสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.ค. โดยไม่ยืดมาตรการออกไป คาดการณ์ได้ว่า อัตราเงินเฟ้ออาจขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 25 ปีได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ คือ สูงกว่าเมื่อครั้นเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 ที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง แต่เงินเฟ้อสูงคราวนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยเงินบาทอ่อนอย่างเดียว ครั้งนี้เกี่ยวพันกับสงครามซึ่งไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ และ ส่งผลต่อการชะงักงันในการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของภาคพลังงานและภาคเกษตรกรรม รวมทั้งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

 

การดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกต่อไป แต่สิ่งที่ปรากฏชัดเจนขึ้น คือ ภาวะ Stagflation เศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อสูงเกิดขึ้นในหลายประเทศทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีการฟื้นตัวที่อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับต้นปีที่ผ่านมา การทยอยเปิดประเทศและการเดินทางช่วยชดเชยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจากสงคราม ราคาพลังงานและอาหารแพงได้ระดับหนึ่งแต่ไม่เพียงพอ หากประเทศต่างๆไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้และเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก เราน่าจะได้เห็นภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยแบบ Stagflation เช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ในยุคน้ำมันแพง พื้นฐานเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไปจาก ผลกระทบสงครามใหญ่ในยุโรปเป็นครั้งแรกให้รอบ 75 ปีทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี มีโรคระบาดระดับโลกในรอบกว่า 100 ปี ราคาน้ำมันในระดับ 130-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจโลกน่าจะยังพอรับมือได้เช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันต่างจากปี พ.ศ. 2553-2554 ในแง่ที่ว่า มีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศที่ไม่ได้ยึดหลักความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์แต่ใช้แรงจูงใจทางการเมืองและความมั่นคงเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กันในสงคราม กดดันฝ่ายตรงกันข้าม จนทำให้เกิดต้นทุนพุ่งสูงขึ้นและเกิดชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนผ่านจากยุคนโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ หรือ ยุค QE มาเป็น ยุคนโยบายเข้มงวดทางการเงิน หรือ ยุค QT เปลี่ยนผ่านจากอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ สู่ อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น อาจดำเนินการไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า

 

หากควบคุมเงินเฟ้อได้ และ เศรษฐกิจชะลอลงมากเกินไป การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอาจกลับคืนมาเร็วกว่าคาดในอนาคต ภูมิภาคอาเซียนและไทยยังคงมีสถานะที่ดีกว่าหลายภูมิภาคทั่วโลก เงินทุนยังคงไหลเข้าและได้รับอานิสงฆ์จากวิกฤติอาหารโลก ส่วนสมาชิกอาเซียนที่อาจมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรง ได้แก่ ลาว เมียนมาร์ และ ฟิลิปปินส์ 
  

logoline