svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รู้จัก”ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สะท้อนผ่าน ลูกชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

12 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รู้จักตัวตน”ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สะท้อนผ่านมุมมอง "แสนปิติ สิทธิพันธุ์" ดีเอ็นเอพันธุ์แกร่ง ที่อุปสรรคทางร่างกายไม่ใช่อุปสรรค

กระจกที่สะท้อนเงาภาพของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในอีกมุมหนึ่ง ที่ฉายความแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ตามที่สังคมให้ฉายา เมื่อทราบว่าลูกชายคนเดียวบกพร่องทางการได้ยิน แต่ด้วยความรักและความมุ่งมั่น เฝ้าถนอมรักษา ถึงวันนี้ น้องแสนดี “แสนปิติ สิทธิพันธุ์” กลายเป็นผลิตผลอันงดงาม สำเร็จการศึกษาใหม่หมาดจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา สร้างความภาคภูมิใจให้กับพ่อแม่ กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษครั้งแรกถึงเส้นทางกว่าจะมีวันนี้ของ “ลูกชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี”  ที่อ่านแล้วสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน

 

Q: จำตอนที่ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยได้มั้ย ความรู้สึกตอนนั้นเป็นไงบ้าง

A: ผมจำไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่เป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างแปลกกับการไม่ได้ยินอะไรเลย เกือบจะเหมือนกับผมสูญเสียความเป็นตัวเองไปส่วนหนึ่ง

รู้จัก”ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สะท้อนผ่าน ลูกชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

Q: เคยคิดบ้างมั้ยว่าคุณจะไม่ได้ยินไปตลอดชีวิต

A: บางครั้งผมก็คิดนะครับ แต่ชีวิตต้องไปต่อและคุณต้องพร้อมรับกับสิ่งที่เป็น อย่าให้มันมาลดทอนความมุ่งมั่น หรือข้อเท็จจริงที่ว่าคุณยังสามารถใช้ชีวิตปกติได้ซึ่งควรค่ากับการต่อสู้เพื่อให้ได้มา

 

Q: ตอนคุณเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ดูแลคุณอย่างไร

A: คุณพ่อคุณแม่พาผมไปตรวจที่คลินิกบ่อยครั้ง ช่วยเปลี่ยนแบตเตอรีเครื่องมือช่วยฟัง ช่วยฝึกพูดและสนทนานู่นนี่ พวกเขาเป็นต้นแบบมากๆ ในการพัฒนาทักษะการสื่อสารและการพูดของผม

 

Q: ตอนบำบัดช่วงแรกๆ คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง

A: ก็รู้สึกเหนื่อยและท้อครับ เหมือนล่องลอยไร้จุดหมาย ผมอยากเลิกหลายครั้ง แต่ก็พร่ำบอกตัวเองว่า การต่อสู้ยังไม่จบจนกว่าจะประสบความสำเร็จ ผมต้องหาทางออกจากสถานการณ์นี้ให้ได้

 

Q: เวลาคุณเหนื่อยพ่อแม่ให้กำลังใจคุณอย่างไร

A: สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ไม่เคยดุหรือบ่นผมเลย พวกเขาให้ฟีดแบ็กที่สร้างสรรค์ ให้ข้อคิดที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผม

รู้จัก”ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สะท้อนผ่าน ลูกชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

Q: คุณต้องฝึกขนาดไหนกว่าจะสื่อสารได้

A: ผมฝึกทักษะการพูดด้วยการสนทนากับเพื่อน กับครู และครอบครัว รวมถึงฝึกกับนักอรรถบำบัดเพื่อช่วยเรื่องการออกเสียงบางคำ ผมฝึกแกรมมาร์ภาษาอังกฤษพื้นฐานและการสร้างประโยคด้วยตนเอง จนพัฒนาการเขียนและการพูดได้ จนกระทั่งอายุ 5-6 ขวบผมจึงสามารถพูดได้ปกติ

 

Q: นอกจากพ่อแล้ว แม่ดูแลและฝึกคุณอย่างไรบ้าง

A: แม่น่าจะเป็นคนที่วิจารณ์ผมหนักที่สุด และคอยบอกเสมอว่าผมควรปรับปรุงเรื่องไหน ทั้งการใช้ชีวิตและเรื่องที่โรงเรียน

รู้จัก”ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สะท้อนผ่าน ลูกชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

Q: ก่อนมาใช้ชีวิตในสหรัฐพ่อแม่สอนให้คุณดูแลตัวเองอย่างไร

A: ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ จริงๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้แนะนำผมมากนักว่าควรดูแลตัวเองยังไง ผมมาเรียนรู้จริงจังตอนเข้าคอลเลจแล้วก็ปรับตัวเอง บอกได้เลยว่าประสบการณ์ทั้งหมดในคอลเลจไม่ใช่แค่ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ แต่เป็นบทเรียนแห่งความพากเพียรด้วย

 

Q: ชีวิตในสหรัฐเป็นอย่างไรบ้าง อยู่ที่ไหน ทำกับข้าวกินเองบ้างหรือไม่ เล่าให้ฟังหน่อย

A: ผมอยู่อพาร์ทเมนท์นอกมหาวิทยาลัยครับ เดินทางราว 10-15 นาที อยู่ในย่านน่าพักอาศัยติดกับแคมปัส ผมก็นั่งรถเมล์มาเรียน ตอนเรียนปีหนึ่งผมเคยอยู่หอพักมหาวิทยาลัย แต่ไม่ชอบชีวิตแบบนั้นก็เลยไปขอพ่อกับแม่ว่าอยากออกมาอยู่ข้างนอก

 

เรื่องอาหารส่วนใหญ่ผมทานข้างนอก จะทำกับข้าวก็ต่อเมื่อเพื่อน พ่อแม่ หรือครอบครัวมาเยี่ยม ปกติก็จะทานข้างนอก

 

Q: เพื่อนๆ มาจากประเทศไหนกันบ้าง

A: ส่วนใหญ่ก็เป็นคนอเมริกันครับ ที่เหลือก็มีทั้งไทย จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง เวียดนาม

 

Q: คุณเรียนอะไร ทำไมถึงเลือกวิชานี้ และอยากทำงานอะไร

A: ผมกำลังจบการศึกษาวิชาเอกประวัติศาสตร์ ตอนแรกผมตั้งใจจะเรียนสองวิชาเอก ประวัติศาสตร์และธุรกิจ แต่ถ้าทำแบบนั้นผมต้องสมัครเรียนสองปริญญาในคราวเดียว ผมก็เลยเลือกวิชาประวัติศาสตร์ เพราะชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก

รู้จัก”ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สะท้อนผ่าน ลูกชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

สิ่งที่ผมชอบที่สุดในการเรียนประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่ที่ลักษณะหรือสภาพแวดล้อมของประวัติศาสตร์มนุษย์ แต่เป็นการทำความเข้าใจความซับซ้อนและแรงจูงใจของผู้คนในช่วงเวลาต่างๆ มากกว่า

 

Q: ตอนอยู่สหรัฐทำงานพาร์ทไทม์บ้างมั้ย

A: ไม่เลยครับ

 

Q: ช่วงเลิกเรียนหรือวันหยุด คุณทำอะไร

A: ผมชอบปีนเขาเส้นทาง Burke Gilman-Trail ซึ่งเป็นเส้นทางตัดผ่านมหาวิทยาลัยและอยู่ใกล้ที่พัก แล้วก็ชอบดูถ่ายทอดสดกีฬามากๆ ชอบแวะไปคาเฟ่ร้านโน้นร้านนี้ในเมืองด้วยครับ

 

Q: ได้ข่าวว่าชอบดูหนัง ชอบดูแบบไหน ช่วยแนะนำหนังที่คุณชอบให้วัยรุ่นไทยหน่อย

A: ดู Forrest Gump เลยครับ ไม่ผิดหวังแน่ สำหรับหนังคลาสสิกผมแนะนำ  Godfather ทั้งสามภาค,Star Trek II – Wrath of Khan and Goodfellas อีกหนึ่งเรื่องโปรดที่ผมดูซ้ำบ่อยๆ ก็ Lord of the Ring ครับ

 

Q: ชอบกีฬาอะไรอีกนอกจากมวย

A: ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ฟุตบอล รักบี้ คริกเก็ต ฟอร์มูลาวัน บาสเก็ตบอล เบสบอล เทนนิส กอล์ฟ ศิลปะการต่อสู้แบบผสม (MMA) แล้วก็อเมริกันฟุตบอลครับ

 

Q: งานอดิเรกมีอะไรอีกนอกจากกีฬา

A: ก็เขียนเรื่อง  ถ่ายภาพ อ่านหนังสือ สะสมหุ่นเล็กๆ เล่นวีดิโอเกม ทำบล็อก

 

Q: พ่อแม่สร้างแรงบันดาลใจให้คุณยังไง

A: พ่อเป็นแรงบันดาลใจใหญ่สุดของผมเลยครับ ส่วนแม่เป็นผู้แนะนำที่ดีที่สุด

 

Q: ได้ยินมาว่าคุณสนิทกับพ่อมาก คุณชอบทำกิจกรรมอะไรกับพ่อ

A: สำหรับผมก็ชอบไปร้านกาแฟแล้วก็ไปชมกรุงเทพฯ ผมสนุกที่ได้ร่วมทำโครงการกับพ่อ ติดตามพ่อไปนู่นไปนี่

 

Q:  เรียนจบแล้วจะทำงานที่สหรัฐหรือไทย

A: ผมจะพักสักปีสองปีก่อนครับ แล้วค่อยหางานทำในเมืองไทย

 

Q: ความฝันของคุณคืออะไร

A: ผมอยากสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น เหมือนที่พ่อและปู่ผมเป็นแรงบันดาลใจให้ผมครับ

รู้จัก”ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สะท้อนผ่าน ลูกชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

Q: นอกจากพ่อแล้วคุณยังมีใครเป็นไอดอล

A: สำหรับผม ไอดอลคนหนึ่งเลยคือ Kobe Bryant ผมโตมากับการดู Los Angeles Lakers ความดุดันและความเจ๋งของเขาโดนใจผม ตอนที่เขาเสียชีวิตเมื่อสองปีก่อนผมเสียใจมาก แต่ยังดีที่ได้เห็นผลงานในช่วงเวลาดีที่สุดของเขาหลายปีในฐานะเจ้าตำนานบาสเก็ตบอล ถึงวันนี้เขายังเป็นนักกีฬาคนโปรดของผม

 

Q: ในฐานะคนรุ่นใหม่ คุณอยากทำอะไรให้ประเทศชาติ

A: ขอบคุณนะครับที่ถามคำถามนี้ สำหรับผมมีคนรุ่นใหม่เหมือนผมหลายคนที่กระตือรือร้นและตื่นเต้นอยากเห็นอนาคตที่รอเราอยู่ โอกาสช่วยประเทศนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะอยู่ในภาครัฐหรือเอกชน ผมจะทำในสิ่งที่เหมาะสมที่สุดกับความสามารถและศักยภาพของตัวเอง

 

ในฐานะคนพิการผมอยากเห็นความก้าวหน้าและความทุ่มเทเรื่องสิทธิคนพิการ จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าเห็นผมทำงานด้านนี้อย่างสุดความสามารถ  คนพิการอายุต่ำกว่า 21 ปี มีประมาณ 130,000-150,000 คน และยังขาดกฎหมายและสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน ผมอยากเข้าไปช่วยเรื่องโอกาสในการศึกษาพิเศษและยกระดับคนชายขอบครับ

 

ที่มาข้อมูล กนกวรรณ เกิดผลานันท์ กรุงเทพธุรกิจ

logoline