svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กองทัพเรือ แจงยิบ โต้นักการเมือง ปมจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV)

08 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กองทัพเรือ แจงยิบปมจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ประจำฐานบินชายฝั่ง ย้ำ มีการเเข่งขันเป็นธรรม มั่นใจโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เผยรุ่นที่เครื่องตกเพราะบินเร็ว ไม่ได้เกิดจากปัญหาเครื่องยนต์ ยัน อุปกรณ์-ความต้องการยุทธการไทย ต่างจาก ฟิลิปปินส์ เทียบราคากันไม่ได้

8 มิถุนายน 2565 พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวหากองทัพเรือ ในโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ประจำฐานบินชายฝั่งของกองทัพเรือว่า ไม่มีความโปร่งใส มีการเปลี่ยนแบบ UAV ของประเทศจีน เป็นของประเทศอิสราเอล

กองทัพเรือ แจงยิบ โต้นักการเมือง ปมจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV)

 

โดยบอกว่า กองทัพเรือดูจากขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของยุทโธปกรณ์ (TOR) ซึ่งไม่มีการระบุว่า เป็นการจัดหา UAV  จากประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยในขั้นรายงานขอซื้อได้กำหนดให้เป็นการจัดหาโดยวิธีคัดเลือก และต่อมาคณะกรรมการจัดซื้อ ได้ออกหนังสือเชิญชวนไปถึงบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ ที่มีคุณสมบัติถูกต้องตรงตามความต้องการทางด้านยุทธการของกองทัพเรือ จำนวน 5 บริษัท จาก 4 ประเทศ คือ สหรัฐฯ อิสราเอล ตุรกี และจีน ให้เข้ายื่นข้อเสนอ และเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติจัดซื้อจากกระทรวงกลาโหม

 

ส่วนข้อสงสัยว่ากองทัพเรือ ไม่เลือกซื้อของดี ทำไมต้องเลือก UAV จากอิสราเอล ซึ่งไม่มีกองทัพเรือประเทศใดซื้อมาใช้งาน และมีสถิติการตกบ่อยมากนั้น ขอชี้แจงว่า การจัดหา UAV ในครั้งนี้ ได้ปฎิบัติตาม พ.ร.บ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยคณะกรรมการจัดซื้อได้พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ และประเมินคะแนนตามคุณสมบัติที่ได้กำหนดไว้ใน TOR  อย่างครบถ้วน

ส่วนที่บอกว่าเป็น UAV ที่มีสถิติการตกบ่อยมากนั้น จากการสืบค้นข้อมูลแล้วพบว่า  ข้อมูลที่นำมากล่าวอ้าง เป็นอากาศยานไร้คนขับ แบบ Hermes 900 HFE (High Fuel Engine) รุ่น Star Liner ของบริษัท ELBIT รัฐอิสราเอล ซึ่งพัฒนาและปรับปรุงมาจากแบบพื้นฐานของ Hermes 900 เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการด้านยุทธการของกองทัพบกประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และสาเหตุของการตกก็เกิดขึ้นระหว่างการทดสอบการบินด้วยความเร็วสูง (High Speed Maneuver) จนทำให้โครงสร้างมีการสั่นที่รุนแรง ทำให้ส่วนหางเครื่องหลุดจากลำตัว ควบคุมเครื่องไม่ได้และตกลงสู่พื้นในที่สุด ซึ่งไม่ได้เกิดจากปัญหาของเครื่องยนต์แต่ประการใด

 

ขณะที่ข้อกล่าวหา กองทัพเรือจัดซื้อ UAV (HERMES 900) ที่มีประวัติการตกบ่อย และราคาแพงกว่าที่กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ จัดซื้อ (จัดซื้อที่ลําละ 340 ล้านบาท ส่วนกองทัพเรือไทย จัดซื้อ ลําละ 1,340 ล้านบาท) นั้น ขอชี้แจงดังนี้

ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร

 

1.จากข้อเท็จจริง กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ จัดซื้อระบบ UAV มูลค่า 175,000,000.- USD หรือประมาณ 5,950 ล้านบาท ประกอบด้วย UAV 2 แบบ คือ HERMAES 450 จํานวน 3 ลํา และ HERMES 900 จํานวน 9 ลํา

 

หากแยกเฉพาะ HERMES 900 จํานวน 9 ลํา จะเป็นมูลค่า 160,000,000.- USD (5,440 ล้านบาท) ราคาระบบละ 17.77 ล้านเหรียญ (604 ล้านบาท /ลํา) ส่วนกองทัพเรือไทย จัดซื้อระบบ UAV จํานวน 7 ลํา 120,000,000.- USD หรือประมาณ 4,004 ล้านบาท ราคาระบบล ะ 17.14 ล้านเหรียญ (582.8 ล้านบาท / ลํา) หากเปรียบเทียบเฉพาะอุปกรณ์มาตรฐาน UAV ของทัพเรือไทย ราคาเพียงลําละ 15 ล้านเหรียญ (499 ล้านบาท)

2.กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ และกองทัพเรือไทย จัดหาระบบ UAV ซึ่งมีอุปกรณ์ประกอบชุด และความต้องการด้านยุทธการแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากเปรียบเทียบเฉพาะอุปรณ์มาตรฐาน ที่ทั้ง 2 ประเทศ มีเหมือนกัน กองทัพเรือไทย ซื้อระบบ UAV ได้ในราคาที่ถูกกว่า และ ได้อุปกรณ์มากกว่า

 

3.ราคาระบบ UAV ของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ และกองทัพเรือไทย เป็นราคาไม่รวมระบบอาวุธ แต่ของกองทัพเรือไทย มีการติดตั้ง Hardware และ Software ในอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อรองรับการติดตั้งระบบอาวุธในอนาคต

 

ส่วนกรณีที่มีการตกของ UAV ของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์นั้น เป็นการตกขณะบินทดสอบ ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ https://dronewars.net/drone-crash-database/

 

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่ากองทัพเรือ เลือกแต่ UAV ของบริษัท จันทร์เกษมอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดนั้น ขอชี้แจงว่า ขอบเขตของงาน (TOR) สำหรับโครงการนี้ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ ไว้หลายประการ คือ

 

1.ต้องเป็นนิติบุคคลที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่าย หรือเป็นหน่วยงานหรือเป็นองค์กรของรัฐบาลที่มีอาชีพรับจ้างผลิตหรือจำหน่ายอากาศยานไร้คนขับพร้อมส่วนสนับสนุนและการบริการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถให้การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่กำลังพลที่จะต้องใช้งานอากาศยานไร้คนขับได้

 

2.ต้องมีผลงานผลิตหรือจำหน่ายอากาศยานไร้คนขับให้กับกองทัพของประเทศผู้ผลิตหรือกองทัพของชาติอื่นมาแล้ว

 

3.ต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และ/หรือทรัพย์สินทางปัญญา และ/หรือมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้น ทั้งในส่วนของการออกแบบ พัฒนา และปรับปรุงโดยผู้อื่น และ/หรือร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งเงื่อนไขอื่นในการนำส่วนสนับสนุนและการบริการที่เกี่ยวข้องของเจ้าของลิขสิทธิ์ไปใช้งานกับบุคคลที่สาม

 

ดังนั้น ผู้ได้รับการคัดเลือกสำหรับโครงการนี้ ที่จะมาเป็นคู่สัญญากับกองทัพเรือ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติจัดซื้อจากกระทรวงกลาโหม

 

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า กองทัพเรือ จะรับประกันได้อย่างไรว่า โครงการนี้จะประสบความสำเร็จ ไม่เหมือนโครงการจัดหาเรือดำน้ำ โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือทุกโครงการ ได้ยึดและถือปฎิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กฎกระทรวง คำสั่งมติ ครม. และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง

กองทัพเรือ แจงยิบ โต้นักการเมือง ปมจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV)

 

ที่ผ่านมาทุกโครงการของกองทัพเรือ ประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยในส่วนของโครงการจัดหา UAV ประจำฐานบินชายฝั่งในครั้งนี้ ได้ถูกคัดเลือกเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.) ได้จัดให้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นแห่งประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมและสังเกตการณ์ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ

 

ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ ได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในระหว่างการดำเนินโครงการมาโดยตลอด เพื่อให้การดำเนินโครงการ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้น จากการมีส่วนร่วมดังกล่าว กองทัพเรือจึงมั่นใจว่าโครงการฯ จะประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการในที่สุด

 

ส่วน UAV ที่กองทัพเรือจะจัดซื้อมีราคาแพงมาก แตกต่างจากการจัดซื้อภายในประเทศกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ส่อให้เห็นว่า หากการจัดซื้อเป็นไปตามแผนงานนี้ จะมีเงินทอน 1,000 ล้านบาทนั้น กองทัพเรือ ระบุว่า การจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่งของกองทัพเรือในการปฏิบัติการ เพื่อรักษาสิทธิ์และอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทยและคุ้มครองเส้นทางคมนาคม ทางทะเลเข้า-ออกประเทศไทยให้ได้อย่างต่อเนื่อง

 

โดยใช้ในการตรวจการณ์พื้นน้ำ พิสูจน์ทราบ ชี้เป้าพ้นระยะขอบฟ้า รวมทั้งช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปราม การกระทำผิดกฎหมายทางทะเล การบรรเทาสาธาณภัยทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล ดังนั้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องใช้อากาศยานที่มีประสิทธิภาพสูงเช่น เพดานบิน (Ceiling) ไม่น้อยกว่า 25,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด (Maximum Speed) ไม่น้อยกว่า 100 นอต ระยะเวลาปฏิบัติการบินต่อเนื่อง (Endurance) ไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง  มีการใช้งานที่ผ่านการยอมรับการใช้งานมาแล้วเป็นอย่างดี โดยต้องมีชั่วโมงการใช้งานไม่น้อยกว่า 10,000 ชั่วโมง และจะต้องมีใช้งานในประเทศผู้ผลิต  

 

ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า การวิจัยและพัฒนาหรือการผลิตอากาศยานไร้คนขับภายในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานใดหรือผู้ประกอบการรายใด มีผลิตภัณฑ์ที่มีขีดความสามารถตอบสนองกับภารกิจของกองทัพเรือได้ ซึ่งการพัฒนาและการผลิต UAV จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาอีกหลายปี

 

ส่วนที่มี ส.ส. ระบุองค์กรในไทย สามารถผลิต UAV ขนาดกลาง (MALE UAV: Medium Attitude Lonng Endurance) โดยใช้เทคโนโลยีในประเทศไทยนั้น กองทัพเรือ แจงว่า จากการสืบค้นข้อมูลทราบว่า โครงการดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา และต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นหลัก รวมทั้งโครงการพัฒนา UAV ดังกล่าว มีขีดความสามารถที่ต่ำกว่าและไม่สามารถรองรับความต้องการทางยุทธการที่กองทัพเรือต้องการได้

 

โฆษกกองทัพเรือ ย้ำว่า กองทัพเรือจะคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ

logoline