svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดความแตกต่างกฎหมาย "คู่ชีวิต" - "สมรสเท่าเทียม" หลัง ครม.ไฟเขียว เห็นชอบ

07 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกฯ เผย ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เตรียมส่งต่อที่ประชุมสภาพิจารณา ย้ำศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อให้เป็นสากลและ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

     วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ซึ่งถือเป็นกฎหมายใหม่ สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ แล้วถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครอง ตามหลักสากล การหมั้นหรือสมรสในเพศเดียวกัน กระทบต่อกฎหมายเดิมในหลายฉบับ จึงต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้มีอุปสรรคต่อกัน เพราะความเป็นครอบครัวส่งผลผูกพันในหลายเรื่อง เช่น มรดกทรัพย์สินความเป็นทายาท รวมไปถึงบุตรบุญธรรมและการอุ้มบุญ ตลอดจนมิติของสังคม

 

     ทั้งนี้ผ่านมารัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมศึกษาเรื่องนี้ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้แทนศาสนาจากทุกศาสนา เพื่อปิดทุกจุดอ่อนให้เป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์สังคม และเป็นสากลอย่างแท้จริง จึงเกิด ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม คณะรัฐมนตรีแล้ว และจะนำเข้าสู่การประชุมของรัฐสภาต่อไป

 

     ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ เสนอให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทันในสมัยประชุมนี้แน่นอน แต่ยังไม่ยืนยันว่า จะประกาศใช้ทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

     อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวในการร่วมกิจกรรม Pride Month ถึงกรณีที่สัปดาห์นี้สภาจะมีการพิจารณาและลงมติ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่า ส่วนตัวนั้นพร้อมสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพราะเชื่อว่า การสมรสเท่าเทียมจะทำให้ คู่สมรสได้สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ควรจะได้ ไม่เช่นนั้น สิทธิ์ต่าง ๆ ที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องธรรมชาติ มองว่าเป็นเรื่องของความหลากหลาย (อ่านข่าว)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

     ทั้งนี้สำหรับความแตกต่างระหว่าง ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม สามารถสรุปสาระสำคัญได้คือ 

 

  • ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

     ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2556 ในยุครัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารย์ เพราะสิทธิ์ที่ได้รับจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันน้อยมาก แตกต่างจากการสมรส ของชาย-หญิงอย่างสิ้นเชิง

 

  • สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

     “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

     กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้

 

     กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

 

     กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต

 

     กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

     กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้

 

     เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

 

     กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

 

เปิดความแตกต่างกฎหมาย "คู่ชีวิต" - "สมรสเท่าเทียม" หลัง ครม.ไฟเขียว เห็นชอบ

 

  • สมรสเท่าเทียม 

     การแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “สามีและภรรยา” เป็น “คู่สมรส”

 

     มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า “ชาย” หรือ “หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล

 

     ข้อวิจารณ์หลักที่มีการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ การไม่ครอบคลุมการเข้าถึงสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์บางประการของคู่ชีวิต เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรส

 

     ไอลอว์ ชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต กำหนดถ้อยคำที่แยกออกมาเป็น “คู่ชีวิต” ทำให้คู่ชีวิตขาดโอกาส ในการเข้าถึงสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่รัฐได้กำหนดไว้ให้คู่สมรส เช่น การลดหย่อนภาษีของคู่สมรสตามประมวลรัษฎากร

 

     การแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับการสมรส จากเดิมที่ระบุ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา เป็น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส

 

     ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เป็น ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส รวมถึงการแบ่งมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า สามีและภรรยา เป็น คู่สมรส
การหมั้น

 

     ให้บุคคลเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ทำการหมั้นกันได้

 

     เสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น แทนคำว่า ชาย และ หญิง

 

     แบบของการหมั้นให้ผู้หมั้นส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น ในส่วนของเรื่องสิทธิ และหน้าที่ ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิม เพียงแต่ปรับถ้อยคำเป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น

 

เปิดความแตกต่างกฎหมาย "คู่ชีวิต" - "สมรสเท่าเทียม" หลัง ครม.ไฟเขียว เห็นชอบ

 

  • การสมรส

     ให้บุคคลเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 18 บริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

 

     สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า ชาย หรือ หญิง เป็น บุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น

 

     บุคคลซึ่งเป็นญาติ สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป หรือลงมา จะทำการสมรส กันมิได้

 

     บุคคลจะทำการสมรส ในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้

 

     การสมรสจะทำได้ ต่อเมื่อบุคคลทั้งสอง ยินยอมเป็นคู่สมรส

 

     คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส และช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู ตามความสามารถ และฐานะของตน

 

     การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ระหว่างคู่สมรส

 

     การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส

 

     การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีศาลสั่งให้เป็น คนไร้ความสามารถ

 

 

เปิดความแตกต่างกฎหมาย "คู่ชีวิต" - "สมรสเท่าเทียม" หลัง ครม.ไฟเขียว เห็นชอบ

 

  • การรับบุตรบุญธรรม

     การรับมรดก กรณีผู้ตายมีคู่สมรส ต้องมีการแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างผู้ตาย กับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยให้นำเรื่อง ส่วนแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่ โดยยังมิได้หย่ากันตามกฎหมาย ยังคงมีสิทธิโดยธรรม ในการสืบมรดก ซึ่งกันและกัน

     การ สมรสเท่าเทียม จะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกัน สามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถได้รับสิทธิในการสมรส

 

  • สิทธิในการใช้นามสกุล

     สิทธิในการเซ็นยินยอมในการรักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัด ให้ยา หรือหยุดรักษาในกรณีเร่งด่วน

 

     สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา

 

     สิทธิในการกู้เงินซื้อบ้านและทำประกันชีวิตร่วมกันในฐานะคู่สมรส

 

     สิทธิทางมรดก คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทลำดับอื่น

 

     สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม

 

     สิทธิในการจัดการศพ เช่น การรับศพออกจากโรงพยาบาล การรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ การขอออกใบมรณบัตร

 

     สิทธิในการใช้สถานะสมรสเพื่อลดหย่อนภาษี

 

     สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน

 

     สิทธิเข้าเยี่ยมในเรือนจำกรณีที่นักโทษป่วย ในฐานะคู่สมรส

 

     สิทธิในการขอวีซ่าเดินทาง กรณีบางประเทศต้องตรวจสอบยอดเงินในบัญชี คู่สมรสสามารถยื่นบัญชีของอีกฝ่ายเป็นหลักฐานได้

เปิดความแตกต่างกฎหมาย "คู่ชีวิต" - "สมรสเท่าเทียม" หลัง ครม.ไฟเขียว เห็นชอบ

     หากจะสรุปให้สั้นลงอีกนั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต นั้นเสนอจากฝ่ายรัฐบาลดำเนินการโดยกระทรวงยุติธรรม ส่วนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม นั้นเสนอโดยฝ่านค้านนำโดยพรรรคก้าวไกล

     ทั้งนี้ที่ผ่านมาก็มีคนในรัฐบาลบางส่วน เช่น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า ทั้งร่างกฎหมายของรัฐบาลและของฝ่ายค้าน ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ให้ประชาชนคนไทยทุกคน ทุกเพศ สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

     แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้วมากมายหลายฉบับ การเพิ่มกฎหมายมาอีก 1 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อมารองรับสิทธิการสมรส จึงอาจเป็นภาระทางงบประมาณ และทำให้สิทธิที่พี่น้องประชาชนควรได้รับนั้นล่าช้าออกไป

     ในนามของพรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่า การผลักดัน #สมรสเท่าเทียม ผ่านการแก้ไข ปพพ.1448 เพียงแก้ไขคำว่า “ระหว่าง ชาย-หญิง” เป็น “ระหว่างบุคคล 2 คน” ในกฎหมายว่าด้วยสิทธิการสมรส จะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องคนไทยได้มากกว่า และทำได้รวดเร็วกว่าการตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาใช้ครับ”

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : iLaw ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ 

ขอบคุณข้อมูลฐานเศรษฐกิจ

logoline