svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เบื้องหลังปล่อยข่าว เขย่า"ลุงป้อม"ดัน"ลุงตู่"ยึดพรรค แผนหว่านพืชหวังผล

07 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เบื้องหลังมือปล่อยข่าวเขย่า 3 ป. ทั้งขยับพี่ใหญ่ "ลุงป้อม" กดดัน"ลุงตู่"จะสมัครสมาชิกพรรคพปชร.หรือไม่ ล้วนเป็นกลเกมคนในขยายความร้าวฉาน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกแต่เป็นการปล่อยข่าวออกมาเป็นระยะๆ และเป็นการปล่อยข่าวในช่วงสถานการณ์สำคัญของการต่อรองตามฤดูกาลซักฟอก

 

ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นการปล่อยข่าวออกมาเป็นระยะๆ  และเป็นการปล่อยข่าวในช่วงสถานการณ์สำคัญๆ ยิ่งกำลังเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล"ลุงตู่" อีกครั้ง 

 

ต่อกรณี กระแสข่าวเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จาก "ลุงป้อม" พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ มาเป็น บุคคลรายอื่น และบุคคลรายอื่นที่เหมาะสมที่สุดเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.65

หลักใหญ่ใจความของกระแสข่าวดังกล่าว ระบุดังนี้  "มีรายงานจากพรรคพลังประชารัฐว่า ภายหลังจากที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ผ่านวาระแรกไปแล้วนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้มีการพูดคุยถึงการทำงานการเมืองต่อจากนี้ 

 

 โดยมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัว และจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเพื่อดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน พล.อ.ประวิตร และให้ พล.อ.ประวิตร ไปทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาพรรคแทน ซึ่งระหว่างนี้รอจังหวะที่เหมาะสมให้พ้นเดือนสิงหาคม ที่จะมีความชัดเจนในประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปีไปก่อน 

 

นอกจากนี้ รายงานยังระบุด้วยว่า ภายหลังจากการพูดคุยกัน พล.อ.ประวิตร ได้ไปทาบทามให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ให้กลับมาร่วมงานกันที่พลังประชารัฐอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้ามีความพยามชักชวนแต่ ร.อ.ธรรมนัส ได้ปฏิเสธทุกครั้ง โดยให้เหตุผลว่า โครงสร้างพรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนไปแล้ว จึงไม่เห็นประโยชน์ที่จะยามกลับเข้าไปในพรรคอีกครั้งหนึ่ง

 

 

 

และยังมีรายงานอีกว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ได้ไปพบกับ พล.อ.ประวิตร โดยมีการพูดคุยว่าจะกลับไปเป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทั้ง 2 คน ได้ลาออกจากพรรคไปก่อนหน้านี้ โดยรายงานแจ้งว่า นายเสกสกล ได้สมัครสมาชิกพรรคไปเรียบร้อยแล้ว โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ลงนามเซ็นรับรองให้เข้าพรรค อย่างไรก็ตามจากการสอบถามเบื้องต้นนายสกลธี ยังคงปฏิเสธการกลับมาพรรคพลังประชารัฐ"

 

 

เนื้อความข้างต้น ถูกผลิตขึ้นและนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งรูปแบบข้อมูลนี้ เคยมีการผลิตส่งต่อให้สื่อมวลชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

 

คำถามว่า ใครเป็นคนส่งเนื้อความทั้งหมดนี้ให้สื่อมวลชน และหวังผลด้วยวัตถุประสงค์ใดเป็นสำคัญ   

 

หากพิจารณาถึงความเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการจับตามาโดยตลอดเกี่ยวกับบทบาทท่าทีของ 3 ป. และ "ม้าพยศ"  อย่างผู้กองคนดัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกนายกรัฐมนตรี  สั่งให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างความแค้นเคืองใจ จนเจ้าตัวตัดสินใจพาพรรคพวกจำนวนหนึ่งออกไปตั้ง"พรรคเศรษฐกิจไทย" 

 

ต่อมามีข่าวคราวการเกทับบลั๊ฟแหลกกันไปมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับ จำนวนเสียงของรัฐบาลภายหลัง "กลุ่มม้าพยศ"ออกไปตั้งพรรคใหม่ จะทำให้จำนวนเสียงรัฐบาลสั่นคลอนหรือไม่  /จะทำให้รัฐบาล"ลุงตู่" ต้องล่มกลางคันเมื่อมีการพิจารณาโหวตร่างกฎหมายสำคัญหรือไม่ หรือแม้แต่การปล่อยข่าว "บิ๊กป้อม"หนุนหลังพรรคเศรษฐกิจใหม่ พร้อมโดดเดี่ยว"ลุงตู่" บ้างหล่ะ  จนในที่สุด 3 ป. ต้องออกมาแก้ข่าวเป็นรายวันว่า"ยังรักกันดี พี่น้องไม่ทิ้งกัน"  หรือแม้แต่การโชว์ภาพ 3 ป.  ร่วมรับประทานอาหารสยบข่าวความร้าวฉาน 

 

พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธตอบคำถามสื่อเรื่องถูกเลื่อยขาเก้าอี้หัวหน้าพรรค

 

ไม่ต่างกับครั้งนี้  กระแสข่าวการสับเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ขยับ"บิ๊กป้อม" ไปเป็นแค่ประธานที่ปรึกษา โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นหัวหน้าพรรค ก็กลับมาอีกในช่วง1-2 วันที่ผ่านมา ซึ่งหากประมวลจากเนื้อหาการปล่อยข่าวดังกล่าว ละม้ายคล้าคลึง การปล่อยข่าว 3 ป. ไม่ลงรอยกัน หรือ ข่าวปล่อย"บิ๊กป้อมพร้อมทิ้งลุงตู่"

 

พลิกอ่านระหว่างบรรทัด ตามเนื้อหาข่าวข้างต้น ที่ส่งให้สื่อกระพือออกไป อย่างเช่น  "บิ๊กตู่" จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคหลังเดือนส.ค. และมาเป็นหัวหน้าพรรคพปชร.แทน "บิ๊กป้อม"  ด้วยการขอตรวจความชัดเจนถึงวาระดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี นั้น เกิดจากความเร่งเร้าของ "ผู้ปล่อยข่าว"เพื่อกดดันพล.อ.ประยุทธ์  ให้มีความชัดเจนสักที หลังจากแทงกั๊ก มาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2562  โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคแต่พรรคพปชร. เสนอชื่อไว้ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯเบอร์ 1ของพรรค  เหตุการณ์ครั้งนั้นถึงขนาดมีกระแสข่าวตามมาอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์  ได้กรอกใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคพปชร.ที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว จากนั้นจะเดินทางไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพปชร.และนั่งหัวหน้าพรรค อย่างเป็นทางการ  แต่สุดท้าย "ข่าวปล่อยคือข่าวปล่อย"  ไม่มีผลกดดันให้ "พล.อ.ประยุทธ์" จรดปากกาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพปชร.สำเร็จ  

 

กอปรกับ สถานการณ์ทางการเมืองมีพัฒนาการตลอดเวลา ด้วยการแตกตัวของกลุ่มคนในพปชร.ดั้งเดิม ออกไปตั้งพรรคการเมือง  อย่างกรณีของพรรครวมไทยสร้างชาติ  ที่"แรมโบ้อีสาน" เสกสกล อัตถาวงศ์ (รายนี้มีชื่ออยู่ในข่าวปล่อยข้างต้นด้วย )  ก่อร่างสร้างขึ้น เพื่อหวังให้  พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นแคนดิเดตนายกฯเบอร์หนึ่ง ในการเลือกตั้งสมัยหน้า แต่ความเป็นพรรคของ"เสกสกล"  ตกอยู่ในสภาพสาละวันเตี้ยลง ถ้าจะเรียกว่า ยังเป็นวุ้นคงไม่ผิด แล้วจะขับเน้น "พล.อ.ประยุทธ์"  มาเป็นหัวหน้าพรรคได้อย่างไร 

 

สิ่งที่เหลืออยู่ จึงต้องหวนกลับมาโฟกัสที่ "พรรคพลังประชารัฐ" ที่ยังอุดมด้วยนักการเมือง"บิ๊กเนม"  ยังพอต่อสู้ชิงคะแนนกับพรรคการเมืองใหญ่ได้  เพียงแต่ ตลอดเวลาที่ผ่านมา "พล.อ.ประยุทธ์" ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นสมาชิกพรรคพปชร. หรือไม่  จะมาเป็นหัวหน้าพรรคพปชร.หรือไม่หรือเปิดทางให้พี่ใหญ่ "บิ๊กป้อม" นั่งบัญชาการต่อไป  สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความสับสนและมีผลต่อการกำหนดทิศทางในการลงทำศึกเลือกตั้งครั้งหน้าอีกด้วย   

 

จึงไม่แปลกที่จะมีกระแสข่าวออกมา กรณี"บิ๊กป้อม"ทาบทามให้ ผู้กองคนดัง และคณะคัมแบ็กพปชร. แต่ ผู้กองคนดังปฏิเสธ ด้วยการอ้างว่า โครงสร้างพปชร.เปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงกรณี "แรมโบ้อีสาน" เสกสกล อัตถาวงศ์  "สกลธี  ภัทธิยกุล" ที่ตกเป็นตัวละครในข่าวปล่อย  ซึ่งในรายของเสกสกล  ได้รับการยืนยันผ่านชนะศักดิ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น้องชาย นายเสกสกล ว่า "นายเสกสกล"ได้ลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แล้ว ขณะที่นายสกลธี มีหลายพรรคทาบทามรวมถึงพปชร.แต่อยู่ระหว่างตัดสินใจ

 

ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย

 

อีกประการ ประเมินความสัมพันธ์ระหว่าง "บิ๊กป้อม" กับ "ร.อ.ธรรมนัส" กับ  "บิ๊กตู่" และ "ร.อ.ธรรมนัส"   ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ไหนมีความน่าจะเป็นมากกว่ากัน  การที่"ผู้กองคนดัง"และพวกจะกลับมาสังกัด พปชร. ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข "บิ๊กป้อม" ยังคงเป็นหัวหน้าพรรค แต่ถ้าสลับสับเปลี่ยนให้ "บิ๊กตู่" มาเป็นหัวหน้าพรรค โดย"ลุงป้อม" ไปเป็นแค่ที่ปรึกษา ต้องถามว่า "ร.อ.ธรรมนัส" และคณะ จะกล้ำกลืนฝืนทนอยู่กับพปชร.หรือ 

 

ในที่สุด "ผู้ปล่อยข่าว" ต้องการให้เกิดความร้าวฉานระหว่าง "บิ๊กป้อม" กับ "บิ๊กตู่" ให้เกิดความชัดเจนถึงเก้าอี้หัวหน้าพรรคพปชร. ต้องการให้เป็นใครกันแน่  เพื่อให้"ผู้ปล่อยข่าว"ได้กำหนดทิศทางทางการเมืองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป 

 

หากให้เอ็กซเรย์เข้าไปถึงภายในพปชร. ยังพบว่า  มีบุคคลจำนวนหนึ่ง ประหนึ่งใช้พปชร.เป็นที่พักพิงชั่วคราว พร้อมขยับออกมาสังกัดพรรคการเมืองอื่น เพียงแต่ตอนนี้รอจังหวะความชัดเจนของคนที่จะเป็นหัวเรือใหญ่นำพาพลังประชารัฐทำศึกเลือกตั้งก่อน ว่าจะเป็นใครกันแน่!!!  

 

ช่างสอดคล้องกับที่ ไพบูลย์  นิติตะวัน มือกฎหมายของพปชร. ออกมาเปิดเผย เตรียมลงดาบกับคนปล่อยข่าวดังกล่าวโดยที่เจ้าตัวระแคะระคายความเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้อยู่เช่นกัน  

"การตรวจสอบในเบื้องต้น คาดว่าจะเป็นสมาชิกพรรคที่เพิ่งเข้ามาสมัครใหม่หลังจากในอดีตเคยลาออกไปแล้วจะไปจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่ ซึ่งในช่วงนั้นก็ไปปล่อยข่าวในลักษณะนี้ เพื่อทำให้เกิดความเสียหายกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ จึงยังไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับของพรรคพลังประชารัฐที่จะทำการตรวจสอบ"  ไพบูลย์   นิติตะวัน กล่าว เมื่อวันที่ 7  มิ.ย.65 

 

มองจากกลเกมครั้งนี้ จึงเป็นความพยายามปล่อยข่าวเพื่อหวังต้องการเขย่าพปชร. หวังโยนหินถามทางกดดัน "ลุงตู่" ในสถานการณ์ของศึกซักฟอกที่กำลังจะมาถึง สร้างการต่อรองกันอีกครั้ง  

 

  ฉะนั้นสำนวนไทยที่ว่า "หว่านพืชต้องหวังผล"   

 

ก็อาจนำมาใช้ได้กับปฏิบัติการปล่อยข่าวครั้งนี้ ส่วนจะได้ผลตามที่ต้องการหรือไม่ ต้องติดตาม 

logoline