svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศึกชิงเก้าอี้"ประธานสภา ส.ก."เข้มข้น ค่ายอยู่บำรุง ส่ง"นวรัตน์" เข้าชิงดำ

29 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นอกจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.เตรียมเปิดตัวทีมผู้บริหารกทม. ฟากของสมาชิกสภากทม. "ส.ก." ต้องมีการจัดวางตำแหน่งสำคัญเช่นกันโดยเฉพาะตำแหน่ง "ประธานสภา ส.ก." ซึ่งกำลังชิงดำกันในพรรคเพื่อไทย ใครจะได้ไฟเขียวคว้าเก้าอี้ประธานสภา ส.ก.ไปครอง

 

วันนี้(30 พ.ค.65 ) ถ้าไม่เกิดแผ่นดินไหวที่ศาลาว่าการกทม. ดินแดงเสียก่อน ก็จะเป็นวันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนดประกาศรับรอง "ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์"  ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.)  รวมถึงการประกาศรับรองผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากทม.(ส.ก.) ทั้ง 50 เขต  อย่างเป็นทางการ

 

เบื้องต้น มีการร้องเรียน 24 คำร้อง เฉพาะในส่วนของ"ชัชชาติ" มี 2 คำร้องที่ กกต. ต้องพิจารณาว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คือ เรื่องกระเป๋ารีไซเคิล​จากป้ายหาเสียง และเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนว่า "ชัชชาติ" พูดดูถูกด้อยค่าระบบราชการ 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อประกาศรับรอง ความเป็นผู้ว่าฯกทม. ขั้นต่อไป ชัชชาติ จะมีการเปิดตัวทีมผู้บริหารกทม. ทั้งในส่วนของการแต่งตั้งเลขานุการ  รองผู้ว่าฯกทม.  

 

เช่นเดียวกับ "สมาชิกสภากทม."(ส.ก.) จะเข้าสู่ขั้นตอนเรียกประชุม เพื่อเลือก " ประธานสภา ส.ก."  รองประธานส.ก. และตำแหน่งต่างๆในสภากทม.ต่อไป  

 

สำหรับตำแหน่ง "ประธานสภา ส.ก." มีการเคลื่อนไหวเสนอตัวกันตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศรับรองตำแหน่งส.ก.  โดยเฉพาะพรรคการเมืองสองพรรคที่สามารถคว้าเก้าอี้ ส.ก. มาเป็นลำดับหนึ่งและลำดับสอง อย่างพรรคพื่อไทย  และพรรคก้าวไกล  แกนนำทั้งสองพรรคได้หารือถึงผู้ที่จะมาเป็น "ประธานสภา ส.ก." กันบ้างแล้ว โดยยกโควต้าให้พรรคเพื่อไทย   

 

 

สอดคล้องกับความเคลื่อนไหว นักการเมืองบ้านใหญ่ริมคลอง "วัน อยู่บำรุง"  ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ค เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา มีใจความว่า "นวรัตน์ อยู่บำรุง ส.ก.หนองแขม 7 สมัยอาวุโสที่สุดในสภา กทม. มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ วุฒิภาวการณ์เป็นผู้นำสูง มีประสบการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2531จนถึงปัจุบันก็ 34 ปีแล้ว เหมาะสมเป็นเป็นประธานสภา กทม.มากที่สุด"

 

ศึกชิงเก้าอี้"ประธานสภา ส.ก."เข้มข้น ค่ายอยู่บำรุง ส่ง"นวรัตน์" เข้าชิงดำ

 

"วัน อยู่บำรุง" ยังได้ระบุ ตอนท้าย คหสต. แปลให้อีกครั้ง  "ความเห็นส่วนตัว"  เพราะเนื่องจากช่วงนั้น มีกระแสข่าวว่า พรรคก้าวไกลวางแผนร่วมมือพรรค ปชป. ,พลังประชารัฐ และกลุ่มรักษ์กรุงเทพ  จะผลักดันคนของตัวเองเป็น"ประธานสภา กทม."

 

ศึกชิงเก้าอี้"ประธานสภา ส.ก."เข้มข้น ค่ายอยู่บำรุง ส่ง"นวรัตน์" เข้าชิงดำ

 

อย่างไรก็ตาม แม้การหารือเบื้องต้นจะยกตำแหน่ง"ประธาน สภาส.ก." กับพรรคเพื่อไทย โดยที่ "หลานวันการันตี "อานวรัตน์" นี่หล่ะเหมาะสมที่สุดเป็น ประธานสภาส.ก. แต่ใช่ว่าหนทางสู่ศาลาว่าการ กทม.ของ"นวรัตน์"จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากต้องเจอคู่แข่งอีกสองราย ซึ่งมาจากพรรคเดียวกัน นั่นคือ "เฮียล้าน" สุทธิชัย วีรกุลสุนทร  ส.ก.เขตจอมทอง และ วิรัตน์  มีนชัยนันท์  ส.ก.เขตมีนบุรี 

 

 

"เฮียล้าน"  สุทธิชัย วีรกุลสุนทร  ส.ก.เขตจอมทอง (คนกลาง) ย้ายจากปชป.มาสังกัดเพื่อไทย เคยเป็น ประธานสภา ส.ก.

 

"คมชัดลึกออนไลน์" โดย ท่องยุทธภพ  ให้ข้อมูลไว้ว่า  "เฮียล้าน" สุทธิชัย วีรกุลสุนทร เพิ่งย้ายจาก ปชป.มาอยู่เพื่อไทย และในสมัยที่แล้ว "เฮียล้าน"เคยเป็นประธานสภา กทม.มาแล้ว พูดถึงความเป็นเลือดเนื้อเชื้อเพื่อไทย ยังตกเป็นรอง"นวรัตน์"

 

วิรัตน์  มีนชัยนันท์  ส.ก.มีนบุรี จากพรรคเพื่อไทย อดีตประธานส.ก.

 

ส่วน "วิรัตน์ มีนชัยนันท์ น้องชายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานภาค กทม. และอดีต ส.ส.กทม.หลายสมัย เคยเป็นประธานสภา กทม.เหมือน"เฮียล้าน"

 

เทียบฟอร์มกันแล้ว "วิรัตน์"ดูจะได้เปรียบ เพราะมีมาดามนครบาลอย่าง พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ให้การสนับสนุน ส่วน"นวรัตน์" คงลุ้นเหนื่อย เพราะพี่เฉลิมไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญในพรรคยุคนี้

 

“ทั้งนายวิรัตน์และนายสุทธิชัย เคยเป็นประธานสภา กทม.มาแล้ว และเขาก็อาวุโสน้อยกว่าผม เขาก็คงไม่รังเกียจผมหรอก คงเปิดทางให้ เพราะในทางการเมือง เราเคารพกันเหมือนพี่เหมือนน้อง เราไม่แย่งตำแหน่งกัน” นวรัตน์ ให้สัมภาษณ์ อปท.นิวส์ เมื่อเร็วๆนี้

 

อย่างไรก็ตาม "นวรัตน์" พร้อมรับฟังการตัดสินใจของแกนนำพรรค หากจะตัดสินใจเลือก"วิรัตน์" หรือ"เฮียล้าน"เป็นประธานสภา กทม. 
 

ประวัติ "นวรัตน์ อยู่บำรุง"  หรือเดิมเนาวรัตน์ เป็นน้องชายคนรองของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่ช่วยงานการเมืองพี่ชายมาตั้งแต่ปี 2526 เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิมลาออกจากตำรวจกองปราบฯ ลงสมัคร ส.ส.กทม.เขต 12 (ภาษีเจริญ บางกอกใหญ่ และหนองแขม) ในสีเสื้อ ปชป. ผลการเลือกตั้ง เฉลิมได้อันดับหนึ่ง 4.3 หมื่นคะแนน

 

เฉลิม-นวรัตน์ สองพี่น้องได้สร้างฐานมวลชนที่เขตหนองแขมจนเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ปี 2529 ร.ต.อ.เฉลิม ลาออกจาก ปชป. แล้วก็ตั้งพรรคมวลชน ส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ ปรากฏว่า เฉลิมได้เป็น ส.ส.คนเดียว ก็เพราะฐานเสียงเขตหนองแขม

 

ปี 2531 นวรัตน์ ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้เป็น ส.ก.เขตหนองแขม สมัยแรก ส่วนการเลือกตั้งทั่วไป พรรคมวลชน ได้ ส.ส. 5 คน จึงถูกเชิญเข้าร่วมรัฐบาลชาติชาย โดย ร.ต.อ.เฉลิม ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ปี 2544 ร.ต.อ.เฉลิม ส่งทายาท วัน อยู่บำรุง ลงสนาม กทม. เขต 37 (เขตทวีวัฒนา, เขตหนองแขม และเขตบางแค เฉพาะแขวงหลักสอง) ในสีเสื้อพรรคความหวังใหม่ มีนวรัตน์ ส.ก.เขตหนองแขมเป็นพี่เลี้ยง แต่หลานวันก็สอบตก เนื่องจากกระแสพรรคความหวังใหม่ขายไม่ได้ใน กทม.

 

ปี 2554 มีการแบ่งเขตใหม่ กกต.ผ่าเขตหนองแขมออกเป็น 2 ซีก โดยแขวงหนองแขม ไปอยู่รวมกับเขตบางบอน ส่วนแขวงหนองค้างพลูไปรวมกับเขตทวีวัฒนา เลือกตั้งปีนั้น วัน อยู่บำรุง สวมเสื้อเพื่อไทย ลงสนามเขตบางบอน(บวกแขวงหนองแขม) พ่ายตระกูลม่วงศิริแบบฉิวเฉียด

 

เลือกตั้งสมัยที่แล้ว "วัน อยู่บำรุง" โคจรมาพบกับ พ.ต.อ.สามารถ ม่วงศิริ ในเขต 26 (เขตบางบอน และเขตหนองแขม เฉพาะแขวงหนองแขม) ผลเลือกตั้ง คราวนี้วันประสบชัยชนะ ได้คะแนนท่วมท้น

 

จะว่าไปแล้ว 34 ปีที่ผ่านมา คนหนองแขมชื่นชอบนวรัตน์หรือเนาวรัตน์ ตรงที่เป็นคนติดดิน ใจถึงพึ่งได้และมีทีมงานที่เข้าถึงประชาชนทุกตรอกซอกซอย

 

แม้ในการเมืองระดับชาติ บางยุคบางสมัยคนส่วนใหญ่อาจไม่ชอบบทบาท ร.ต.อ.เฉลิม แต่สำหรับการเมืองท้องถิ่น คนหนองแขมยังรักน้องชายเฉลิมคนนี้ ไม่เปลี่ยนแปลง

 

ขอบคุณข้อมูล : คมชัดลึก ออนไลน์ โดยท่องยุทธภพ 

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

 

สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)สำคัญไฉน

 

ส.ก. มีบทบาทและหน้าที่สำคัญ คือ

 

- การให้ความเห็นชอบในการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

 

- อนุมัติงบประมาณของกรุงเทพมหานครกว่า 7 หมื่นล้านบาท

 

- มีอำนาจตรวจสอบติดตามการบริหารของฝ่ายบริหาร เพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่

 

ขณะเดียวกัน ส.ก. จะทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ คือ

- คณะกรรมการกิจการสภา

- คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุม

- คณะกรรมการการศึกษา

- คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง

- คณะกรรมการการสาธารณสุข

- คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม

- คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และการงบประมาณ

- คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย

- คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม

- คณะกรรมการการจราจรและการขนส่ง

- คณะกรรมการการระบายน้ำ

- คณะกรรมการการวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการกีฬา

 

คณะกรรมการในแต่ละฝ่าย มีหน้าที่ในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานคร จากนั้นจะรายงานต่อสภากรุงเทพมหานคร หากสมาชิกสภากทม. เห็นชอบกับรายงานดังกล่าว ประธานสภากทม. ก็จะส่งเรื่องให้ฝ่ายบริหารดำเนินการตามมติต่อไป

logoline