svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เฉลย "ชัชชาติ" ทำท่า "นั่งกระโหย่ง" เป็นการไหว้พระแบบสมัยโบราณ

24 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ท่านี้มีที่มา! เพจดังยืนยันท่า "นั่งกระโหย่ง" ของ "ชัชชาติ" ระหว่างใส่บาตรพระ ที่มีดราม่าเรื่องความไม่เหมาะสม ที่แท้เป็น "ท่านั่งไหว้พระโบราณ" ซึ่งถือเป็นท่าสุภาพเรียบร้อย ก่อนเปลี่ยนเป็นคุกเข่า ด้วยท่าเทพบุตร-เทพธิดา ช่วง ร.4-5 เป็นต้นมา

ตอนนี้กำลังเป็นกระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” หลังจาก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้สมัครอิสระ ที่เคยได้รับฉายาว่า “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” วิ่งเข้าวินศึกชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯ กทม.” แบบสบายๆ โดยตลอดช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา เจ้าตัวเดินสายขอบคุณประชาชน และดูงานตามจุดต่างๆ

 

โดยช่วงเช้าวันนี้ (24 พ.ค.) “ชัชชาติ” ได้โพสต์ภาพที่สร้างกระแสในโลกโซเชียล เมื่อมีการนั่งยองๆ ไหว้พระ พร้อมระบุข้อความว่า “ใส่บาตรวันเกิด ตลาดชุมชนตรอกพระเจน เอาบุญมาฝากทุกท่านนะครับ”

เฉลย "ชัชชาติ" ทำท่า "นั่งกระโหย่ง" เป็นการไหว้พระแบบสมัยโบราณ

หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ สมาชิกโซเชียบลเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างสนุกสนาน พร้อมบอกว่า เป็นท่านั่งไหวพระที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก “โบราณนานมา” โพสต์ถึงท่านั่งไหว้พระดังกล่าวของ “ชัชชาติ” ไม่ใช่แค่ท่าธรรมดาๆ แต่คล้ายท่านั่งไหว้ในสมัยโบราณเลยทีเดียว

 

โดยเพจระบุข้อความประกอบว่า “นั่งกระโหย่ง” การนั่งไหว้พระแบบสมัยโบราณ ที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย เห็นว่ามีคนดรามาท่านั่งไหว้พระของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่า กทม.คนใหม่ บางกลุ่มติงว่า ไม่เหมาะสมบ้าง ไม่สมควรบ้าง

เฉลย "ชัชชาติ" ทำท่า "นั่งกระโหย่ง" เป็นการไหว้พระแบบสมัยโบราณ

จริงๆ แล้วท่านั่งนี้ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ย้อนไปไกลถึงสมัยพุทธกาลเลย ในภาษาไทยเรียกการนั่งแบบนี้ว่า “นั่งกระโหย่ง”  ในประเทศไทยสมัยก่อนใช้ “นั่งกระโหย่ง” มานานแล้ว เป็นเรื่องปกติและสุภาพ แต่เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น “ท่าเทพบุตร” และ “ท่าเทพธิดา” ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง 5 นี่เอง

 

ในสังคมไทยบัญญัติรู้กันว่า “ท่าเทพบุตร” และ “ท่าเทพธิดา” นั้นสุภาพเรียบร้อย พอเห็นพระหรือใครที่นั่งใน “ท่ากระโหย่ง” ประคองอัญชลี ก็มักจะติเตียน แทนที่จะสอบถามและหาความรู้

เฉลย "ชัชชาติ" ทำท่า "นั่งกระโหย่ง" เป็นการไหว้พระแบบสมัยโบราณ

ท่านั่งสำหรับทำวินัยกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในกรณีที่ใช้กราบเรียนและแสดงความเคารพอย่างสูงเรียกขานในภาษาบาลีว่า “อุกฺกุฏิก” (ukkuṭika) และนิยมแปลไทยว่า “นั่งกระโหย่ง” เป็นรูปแบบมาตรฐานในการขอพระอุปัชฌาย์ การขอบรรพชา อุปสมบท และปลงอาบัติ ปรากฏสำนวนในพระวินัยปิฎกหลายแห่งว่า “ปาเท วนฺทิตฺวา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อญฺชลิํ ปคฺคเหตฺวา ….” = กราบแทบเท้าแล้วนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี

ในอุษาคเนย์ ทางพม่าและกัมพูชา เป็นที่เข้าใจกันว่า อุกฺกุฏิก = ท่านั่งยอง (squatting) โดยฝ่าเท้าราบเต็มบนพื้น สนเท้าชิดก้น เข่าค้ำหน้าอก หลังโก่งงอ แต่ในประเทศไทยปัจจุบันไม่นิยมใช้ท่านี้ หากใช้เป็นท่านั่งคุกเข่าทับสนเท้า

 

หลักฐานชั้นเก่าแก่ในประเทศไทย เช่น ภาพจิตรกรรมและประติมากรรมอายุหลายศตวรรษก่อน ปรากฏว่าท่านั่งยองในวินัยกรรม และบางพื้นที่ก็ยังมีการใช้ท่านี้อยู่ เรียกได้ว่าเป็นท่าที่ใช้แพร่หลายในประเทศพุทธศาสนาสายเถรวาทแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน

เฉลย "ชัชชาติ" ทำท่า "นั่งกระโหย่ง" เป็นการไหว้พระแบบสมัยโบราณ

การนั่งแบบพับเพียบ ขัดสมาธิ เทพบุตร เทพธิดา ก็เรียบร้อยดี ไม่มีการปรับอาบัติ ในท่านั่งเหล่านี้ แต่ถ้าเราได้รู้ธรรมเนียมการ “นั่งกระโหย่ง” ตามพระบาลีแสดงไว้ เพื่อสืบทอดต่อไป ให้ชนรุ่นหลังได้รู้ได้เห็นไว้ก็คงไม่เสียหาย เพราะคำว่า อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา ในพระไตรปิฎกมีเยอะมาก และคนไทยเราส่วนมาก ยังไม่รู้ว่านั่งอย่างไร แต่พม่าหรือศรีลังกา มีให้เห็นโดยทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลก

 

การนั่งยองๆ เป็นท่านั่งที่อยู่คู่มนุษยชาติมาอย่างยาวนาน ต่อมาโลกตะวันตกได้เปลี่ยนจากนั่งยอง เป็นนั่งราบ จนไม่สามารถนั่งยองเต็มเท้าได้อีก ส่วนโลกตะวันออกยังคงมีการนั่งยองๆ กันอยู่เป็นปกติ เมืองไทยแต่ก่อนก็นั่งยองๆ ไหว้พระ มาเปลี่ยนเป็นคุกเข่าเทพบุตร-เทพธิดาในช่วง ร.4-5 นี้เอง

เฉลย "ชัชชาติ" ทำท่า "นั่งกระโหย่ง" เป็นการไหว้พระแบบสมัยโบราณ

logoline