svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผู้นำ 3 ป. ยังหลับฝันดีไหม…บทสรุป"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม." สิ้นสืบทอดอำนาจ

23 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผลการเลือกตั้งเป็นเพียงเรื่องของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่ทุกคนรู้ดีว่า ผลการเลือกตั้งกรุงเทพคือ คำตัดสินอนาคตของรัฐบาล และคำกล่าวที่ยังเป็นจริงเสมอคือ "การเมืองกรุงเทพคือการเมืองของประเทศไทย" ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย สุรชาติ บำรุงสุข

 

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นอกจากเป็นวาระสำคัญทางการเมืองของการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครแล้ว ก็ยังเป็นวาระรอบ 8 ปีของการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวในปี 2557… 8 ปีของการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารอาจจะยังไม่จบลง แต่ผลคะแนนจากการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นสัญญาณโดยตรงจาก "การสื่อสารทางการเมืองของประชาชน” ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง และมีนัยถึงการไม่ตอบรับกับการบริหารประเทศของรัฐบาลสืบทอดอำนาจชุดปัจจุบัน

 

แม้ผู้นำรัฐประหารและกลุ่มขวาจัดที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจอาจจะโต้แย้งได้ว่า ผลการเลือกตั้งเป็นเพียงเรื่องของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่ทุกคนรู้ดีว่า ผลการเลือกตั้งกรุงเทพคือ คำตัดสินอนาคตของรัฐบาล และคำกล่าวที่ยังเป็นจริงเสมอคือ “การเมืองกรุงเทพคือการเมืองของประเทศไทย”

 

ผู้นำ 3 ป. ยังหลับฝันดีไหม…บทสรุป"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม." สิ้นสืบทอดอำนาจ

 

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า การเข้าควบคุมการเมืองไทยตั้งแต่การยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 และเปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 นั้น ยาวนานมาก จนต้องถือว่าผู้นำคณะรัฐประหารชุดนี้อยู่ในการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวที่สุดชุดหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคณะรัฐประหารหลายชุดในอดีต จนการอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานเช่นนี้กลายเป็น "ความมหัศจรรย์ทางการเมือง" อย่างไม่น่าเชื่อ 

 

ความมหัศจรรย์เช่นนี้ต้องลงทุนสูงอย่างมากด้วยการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ และกลไกตุลาการต่างๆ เข้ามาเป็น "ตัวช่วย" จนเป็นทำให้การเมืองไทยกลายเป็น "ความบิดเบี้ยว" ไปในทุกเรื่อง การกระทำเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลของผู้นำรัฐประหารอยู่รอดปลอดภัยมาโดยตลอด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลนี้ประสบความล้มเหลวในหลายเรื่อง และในหลายเรื่องของความล้มเหลวของรัฐบาล เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากเป็นรัฐบาลในภาวะที่ระบอบประชาธิปไตยมีความเป็นปกติแล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันน่าจะแพ้ไปตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2562 แล้ว หรืออย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะแพ้ด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาไปแล้ว
 

ผู้นำ 3 ป. ยังหลับฝันดีไหม…บทสรุป"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม." สิ้นสืบทอดอำนาจ      

แต่ในวันครบรอบ 8 ปีของการรัฐประหาร กลับเกิดความมหัศจรรย์ทางการเมืองอีกแบบ ด้วยการที่อดีตรัฐมนตรีที่ถูกกลุ่มทหารจับกุมในวันยึดอำนาจ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพ ด้วยคะแนนอย่างถล่มทลาย ซึ่งยืนยันด้วยตัวเลขของชัยชนะที่เกินหลักล้าน และแม้จะเอาคะแนนของผู้แข่งขันที่ได้ในลำดับที่ 2  3  4 และ 5 มารวมกันก็ยังน้อยกว่าผู้ชนะ

 

ดังนั้น ชัยชนะของ "อดีตนักโทษรัฐประหาร คสช.- ชัชชาติ สุทธิพันธ์" จึงเป็นความมหัศจรรย์ทางการเมืองที่อาจกลายเป็น "ความตระหนกตกใจ" สำหรับชนชั้นนำ ผู้นำทหารขวาจัด และกลุ่มขวาสุดโต่งทั้งหลาย เพราะคนเหล่านี้ยังเชื่อว่า ระบอบอนุรักษนิยมสุดโต่งที่ถูกผลักดันผ่านรัฐบาลสืบทอดอำนาจของผู้นำทหารนั้น จะชนะในทุกเรื่อง และจะชนะในการเลือกตั้งที่กรุงเทพด้วย แต่ในความเป็นจริง พวกเขาแพ้ และต้องเรียกในสำนวนคนเชียร์มวยว่า "แพ้อย่างหมดรูป" … สัญญาณความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของกลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัดเริ่มปรากฎให้เห็นแล้ว แม้จะตามมาด้วยเสียงเรียกร้องให้ผู้นำกองทัพทำรัฐประหารอีกครั้ง ข้อเรียกร้องเช่นนี้เป็นความ "น่าสมเพช" ทางการเมืองอย่างชัดเจน และรัฐประหารครั้งใหม่จะทำให้ไทยเป็น "เมียนมา 2" อย่างแน่นอน
     

ความพ่ายแพ้ของปีกขวาจัดและกลุ่มสืบทอดอำนาจครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะพวกเขาเสียงแตกจากการมีตัวแทนของฝ่ายขวาจัดหลายสายลงแข่งขัน เพราะหากเอาคะแนนของคนเหล่านั้นมารวมกัน ก็ไม่สามารถเอาชนะ "อดีตนักโทษของรัฐบาลทหาร" ได้แต่อย่างใด แต่ปีกขวาจัดและกลุ่มสุดโต่งแพ้ เพราะความล้มเหลวของรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่พวกเขาจัดตั้งขึ้นมา ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลของผู้นำทหารชุดนี้ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงนโยบายที่จะเป็นจุดขายทางการเมืองสำหรับฝ่ายขวาจัดได้เลย จนถูกกล่าวขานกันว่า เรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ การจัดซื้ออาวุธให้กองทัพ ไม่ใช่ความสำเร็จในการสร้างชีวิตของประชาชน
     

ในขณะที่สังคมเผชิญวิกฤตโควิด วิกฤตสงครามยูเครน ที่ก่อให้เกิดวิกฤตต่างๆ รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการตกงาน ปัญหาราคาพลังงาน ปัญหาราคาสินค้า เป็นต้น รัฐบาลก็ยังเดินหน้าซื้ออาวุธไม่หยุด คงไม่ผิดนักที่ต้องกล่าวว่า "ชีวิตของประชาชนเป็นรองเสมอสำหรับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ"


แต่วันนี้การสื่อสารทางการเมืองของประชาชนได้เกิดขึ้นจริงแล้ว และเป็นการสื่อสารที่อาจจะทำให้ค่ำคืนของวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ไม่ใช่เวลาแห่งความสุขเหมือนกันกับคืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่อำนาจตกอยู่ในมือของผู้นำทหารชุดนี้อย่างง่ายดาย จนอดที่จะอยากถามว่า เมื่อคืนนี้ ผู้นำ 3 ป. ยังหลับฝันดีไหม…
     

สัญญาณการสื่อสารทางการเมืองที่กรุงเทพมีความชัดเจนว่า วันเวลาของการสืบทอดอำนาจกำลังจะจบลงแล้ว และบางทีสังคมไทยอาจต้องรำลึกบทเรียนจากอดีต กล่าวคือ เมื่อย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ได้ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นจุดสิ้นสุดของวิกฤต "พฤษภาทมิฬ"

 
24 พฤษภา 35 และ 22 พฤษภา 65 ดูจะเป็นสัญญาณที่สอดรับกันถึงความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเช่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว!

logoline