svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ฟิลิปปินส์รับมาร์กอสด้วยสัญลักษณ์ที่อาจพิพาทกับจีน

23 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฟิลิปปินส์ต้อนรับผู้นำคนใหม่ "เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์" ด้วยการ "วางทุ่น" ที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตยในทะเลจีนใต้ รวมทั้งตั้งสถานีบัญชาการสังเกตการณ์บนเกาะในน่านน้ำที่มีข้อพิพาทกับจีน ที่มาร์กอสอาจต้องตกบันไดพลอยโจนสานต่อนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หน่วยยามฝั่งของฟิลิปปินส์ (PCG) ได้วางทุ่นแสดงร่องน้ำ (navigation buoy) จำนวน 5 ทุ่น แต่ละทุ่นยาว 30 ฟุต พร้อมติดธงชาติ ใกล้กับเกาะลาวัคหรือหนานชาน, เกาะลิคัส หรือ เวสต์ ยอร์ก, เกาะพาโรลาหรือนอร์ธอีสต์ เคย์ และเกาะปัก-อาซา หรือธิทู เปิดสถานีบัญชาการสังเกตการณ์แห่งใหม่บนเกาะลาวัค, ลิคัส และพาโรลา ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม ถือเป็นการเคลื่อนไหวแสดงกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ครั้งล่าสุด ก่อนที่ผู้นำคนใหม่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง 

 

พลเรือเอกอาร์เตมิโอ อาบู ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่ง เปิดเผยว่าว่า การวางทุ่นและการตั้งสถานีบัญชาการฯ ถือเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในการแสดงอำนาจอธิปไตย เพื่อเพิ่ม "ความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาณาเขตทางทะเล" ของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า "ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก" ที่มีการสัญจรอย่างคับคั่งของบรรดาเรือนานาชาติ สร้างมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในแต่ละปีราว 5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ฟิลิปปินส์อ้างว่าพบเรือประมงของเวียดนามและจีน รวมทั้งเรือยามฝั่งของจีนเข้าไปป้วนเปี้ยนใกล้กับเกาะปัก-อาซา ที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนขนาดใหญ่ที่สุด ที่ฟิลิปปินส์อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ เนื่องจากมีชุมชนชาวฟิลิปปินส์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 

 

ฟิลิปปินส์รับมาร์กอสด้วยสัญลักษณ์ที่อาจพิพาทกับจีน

จีนกับฟิลิปปินส์แย่งกันอ้างสิทธิ์เหนือสันดอนอายุงินหรือสันดอนโธมัสที่ 2 ซึ่งเป็นทั้งสันดอนและแนวปะการังในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งฟิลิปปินส์ 195 กิโลเมตร ที่ถือว่าอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones) หรือ EEZ ของฟิลิปปินส์ โดยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ขยายออกไปเกิน 200 ไมล์ทะเล (370.4 กิโลเมตร) ส่วนการกระทบกระทั่งกัน ได้รวมถึงกรณีเรือยามฝั่งของจีนได้สกัดเรือของฟิลิปปินส์ในการทำภารกิจส่งเสบียงไปยังด่านหน้าของหน่วยนาวิกโยธิน โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 เรือของจีนได้ใช้หัวฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดพ่นใส่เรือบรรทุกเสบียงของฟิลิปปินส์ ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังสันดอนโธมัสที่ 2 ก่อนจะยอมถอย หลังอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดต่อหน้าประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ในระหว่างการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน

 

แหล่งข่าวจากสเปนระบุว่าทุ่นที่ถูกวางใหม่ได้รับการติดตั้ง "อุปกรณ์สนับสนุนการเดินเรือที่ทันสมัย" รวมทั้งโคมไฟ ระบบยึดทุ่นเฉพาะทาง และระบบตรวจสอบระยะไกลผ่านดาวเทียม ที่สามารถส่งข้อมูลจากกองบัญชาการยามฝั่งไปยังศูนย์บัญชาการใหญ่ในกรุงมะนิลา หลังจากที่เคยล้าหลังจนเรือจากประเทศอื่น ๆ ที่อ้างสิทธิ์ในน่านน้ำเดียวกัน โดยเฉพาะจีนกับเวียดนามพากันล่วงล้ำเข้าไปอย่างต่อเนื่อง 

 

ฟิลิปปินส์รับมาร์กอสด้วยสัญลักษณ์ที่อาจพิพาทกับจีน

การวางทุ่นแสดงถึงจุดยืนของฟิลิปปินส์ที่มีต่อจีนและข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ก่อนที่มาร์กอสซึ่งได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายจากเลือกตั้ง จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม แทนที่ดูเตอร์เต ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 6 ปี และ "ปลูกฝัง" ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่อบอุ่นขึ้นกับจีน จนถูกมองว่าค่อนข้าง "อ่อน" ในประเด็นพิพาทเรื่องดินแดน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเหล่า "สายเหยี่ยว" จะถือโอกาสใช้ "รอยต่อ" ของการส่งผ่านอำนาจ เร่ง "ทำเครื่องหมาย" ประกาศอำนาจอธิปไตยเมื่อกลางเดือน

 

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์

 

การวางทุ่นและตั้งสถานีฯ ยังเกิดในสัปดาห์เดียวกันกับที่มาร์กอสได้คุยโทรศัพท์อย่างยาวนานกับประธานาธิบดีสี ที่แสดงความยินดีต่อชัยชนะเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเขาบอกว่าคุยกับผู้นำจีนเรื่องหนทางข้างหน้าบนความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ ที่เป็นเรื่องที่ดีและสำคัญมาก ...มาร์กอสถูกมองว่าจะเข้ามาสานต่อนโยบายของดูเตอร์เต แต่การวางทุ่นอาจสร้างปัญหาให้แก่เขา รวมถึงเรื่องที่ชาวฟิลิปปินส์มองว่าการสร้างเกาะเทียมของจีนในน่านน้ำพิพาท เป็นการแทรกแซงการทำประมงของฟิลิปปินส์ 

 

นอกจากฟิลิปปินส์กับจีนแล้ว ยังมีบรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนาม ที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ส่วนอินโดนีเซียไม่นับตัวเองอยู่ในกลุ่มพิพาทเพราะอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะนาตูนา นอกน่านน้ำทะเลจีนใต้ 

logoline