svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เเนะ 5 วิธีง่ายๆ ป้องกันตนเองและครอบครัว ให้ห่างไกลจาก “โรคฝีดาษลิง”

20 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“โรคฝีดาษลิง” โรคนี้เห็นภาพแล้ว น่ากลัวสักแค่ไหนกัน ขอคนไทยอย่าได้ประมาท วันนี้จึงขอแนะนำ 5 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยป้องกันตนเองและคนที่คุณรัก ให้ห่างไกล จากการติดเชื้อฝีดาษลิง พร้อมเผยระยะเวลาในการติดเชื้อ และรู้จักกับอาการของโรค

เเนะ 5 วิธีง่ายๆ ป้องกันตนเองและครอบครัว ให้ห่างไกลจาก “โรคฝีดาษลิง”

     สธ. ออกมาย้ำเตือนและแจ้งข่าวเพื่อให้ประชาชนทุกฝ่าย ได้ป้องกันให้ห่างไกลจาก "โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)"  ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ โดยโรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน การพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ

     โรคฝีดาษลิง ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้

เเนะ 5 วิธีง่ายๆ ป้องกันตนเองและครอบครัว ให้ห่างไกลจาก “โรคฝีดาษลิง”

     ด้าน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกคำเตือนว่าอาจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในอังกฤษมากขึ้น โดยจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน  คล้ายกับว่าเป็นการติดเชื้อในท้องถิ่น แต่ขอบเขตของการแพร่เชื้อยังไม่ชัดเจน และมีความเป็นไปได้ที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 

     โดยผู้ป่วยในอังกฤษส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษกำลังตรวจสอบแหล่งที่มาของการแพร่เชื้อ และการที่พบการติดเชื้อทั้งในสหรัฐฯ โปรตุเกส สเปน และแคนาดาที่ต้องสงสัยติดเชื้อนั้น ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกมากขึ้น เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง โดยน้อยมากที่จะแพร่กระจายไปที่อื่น

 

เเนะ 5 วิธีง่ายๆ ป้องกันตนเองและครอบครัว ให้ห่างไกลจาก “โรคฝีดาษลิง”

การติดต่อ

  • คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย
  • การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

ระยะเวลาในการรับเชื้อ-อาการ

  • เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน
  • อาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
  • จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง
  • ระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10

เเนะ 5 วิธีง่ายๆ ป้องกันตนเองและครอบครัว ให้ห่างไกลจาก “โรคฝีดาษลิง”

เเนะ 5 วิธีง่ายๆ ป้องกันตนเองและครอบครัว ให้ห่างไกลจาก “โรคฝีดาษลิง”

การป้องกันและควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเองและคนที่คุณรัก  รายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า 
  2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
  3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า 
  4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค 
  5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

     ล่าสุด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงฝีดาษลิง ว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีมานานกว่า 10 ปี โดยพบผู้ป่วยรายแรกที่แอฟริกา และมีความแตกต่างจากเชื้อผีดาษในคน ที่พบว่า สามารถติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ และสารคัดหลั่งจากการไอ จาม 

     “ ฝีดาษในลิงนี้ จะมีการติดต่อได้จากการสัมผัสบาดแผล หรือฝีหนอง และเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โรคนี้พบในลิงแอฟริกา แต่มีพาหะคือหนู หรือ สัตว์ฟันแทะ ตระกูลหนู กระรอก ทั้งนี้การที่พบผู้ป่วยในต่างประเทศ ก็มาจากการเลี้ยงสัตว์แปลก หรือ มีการเดินทางไปที่แอฟริกามาก่อน ”

     หมอยง กล่าวอีกว่า การติดต่อของฝีดาษลิง ถือว่าติดต่อได้ยากเมื่อเทียบกับฝีดาษคน เพราะต้องสัมผัสกับ บาดแผล ฝีหนอง ของคนป่วย ทำให้เกิดอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และมีตุ่มแดงขึ้น จากนั้นพัฒนากลายเป็นตุ่มน้ำใส และแตกออก ส่วนใหญ่มีอาการประมาณ 2-4 วันก็สามารถหายได้ ส่วนระยะเวลาการฟัเชื้อ 5-14 วัน แต่บางคนก็มีอาการรุนแรงเสียชีวิตได้ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ ประมาณ 10% 

     ดังนั้น โรคนี้แก้ได้ ด้วยการรักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือ และหากมีอาการไอ จาม ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย ทั้งนี้โรคนี้มีวัคซีน และสามารถใช้วัคซีนฝีดาษในคนป้องกันได้ แม้จะให้ผล 85% แต่ทั้งนี้ที่คนส่วนใหญ่ต้องเร่งขจัดโรคฝีดาษลิงไม่แพร่ เนื่องจากการพบฝีดาษลิงในคน เท่ากับการทำให้ไวรัสมีการพัฒนา ข้ามสายพันธุ์ หากมากขึ้นก็อาจกลายพันธุ์ได้ ฉะนั้นทำให้นานาประเทศต้องเร่งขจัด สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ศ.นพ.ยง ระบุว่า ยังไม่ต้องแตกตื่นและกังวลกับโรคนี้ ยังไม่ได้เกิดในไทย และเชื้อนี้ก็ไม่มีในลิงของไทย มีเชื้อเฉพาะในลิงแอฟริกา

     “ หากผ่านโควิดมาได้ การป้องกันตัวโรคนี้ก็ไม่แตกต่างกัน สุขอนามัย เป็นเรื่องสำคัญและอย่าได้เลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างประเทศ ส่วนฝีดาษในคน ประเทศไทยได้ขจัดโรคนี้จากการปลูกฝี และหมดไปในปี 2517 ฉะนั้นเด็กที่เกิดหลังปี 2517 ก็จะไม่พบโรคนี้อีก ” หมอยง กล่าวทิ้งท้าย

เเนะ 5 วิธีง่ายๆ ป้องกันตนเองและครอบครัว ให้ห่างไกลจาก “โรคฝีดาษลิง”

ขอขอบคุณที่มา : กรมควบคุมโรค

 

logoline