svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ไบเดนกับความท้าทาย 5 จุดยุทธศาสตร์สำคัญภูมิภาคเอเชีย

20 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางจากกรุงวอชิงตันดีซีเพื่อเยือนภูมิภาคเอเชีย ที่เผชิญสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ผันผวนมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของ 5 จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ไต้หวัน, เกาหลีเหนือ, ทะเลจีนใต้, พรมแดนอินเดีย-จีน, และหมู่เกาะคูริล

ไต้หวัน 

 

เกาะไต้หวันอยู่ห่างจากจีนไม่ถึง 177 กิโลเมตร และปกครองตนเองหลังจากแยกตัวออกมานานกว่า 70 ปี แต่พรรคคอมมิวนิสต์ (CCP) ที่ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะแห่งนี้ในฐานะมณฑลกบฏที่แยกตัวไป และนี่เป็นสาเหตุให้ญี่ปุ่นหนึ่งในมหาอำนาจแห่งแปซิฟิกกังวลต่อความขัดแย้งของจีนกับไต้หวันมาโดยตลอด โดยญี่ปุ่นระบุว่า 90% ของความต้องการพลังงานในประเทศนำเข้าผ่านน่านน้ำรอบไต้หวัน ทำให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต้องขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของไต้หวัน และแม้สหรัฐฯ จะจัดหาความช่วยเหลือในการป้องกันตนเองแก่ไต้หวัน แต่ก็จะไม่ส่งทหารไปช่วยกรณีเกิดสงคราม และสงครามยูเครนคือข้อพิสูจน์ให้เห็นว่า สหรัฐฯ ช่วยด้านอาวุธแต่ไม่ส่งทหารไปช่วยยูเครนรบ เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์กับรัสเซีย และหันไปจับมือกับพันธมิตรเล่นงานรัสเซียด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยคิดว่าจะทำให้จีนต้องคำนวณอย่างหนักว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้างในกรณีบุกไต้หวัน 

 

ขีปนาวุธเกาหลีเหนือ

 

เกาหลีเหนือ 

 

คิม จองอึน สั่งทดสอบขีปนาวุธมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้  ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่าเกาหลีเหนือต้องการเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐฯ เพื่อกลับสู่โต๊ะเจรจา แต่ก็มีหลักฐานว่าเกาหลีเหนือมุ่งมั่นปรับปรุงขีดความสามารถทางทหาร เพื่อป้องปราม คุกคามและข่มขู่ประเทศอื่น ราวกับอ่านคู่มือของรัสเซียก่อนจะบุกยูเครน ไม่สนใจชีวิตกับทรัพยากรที่สูญสลาย เพียงเพราะผู้นำประเมินศักยภาพตัวเองสูงเกินไป ในการบรรลุวัตถุประสงค์ทางทหารและการเมือง ทั้งยังประเมินผลระยะยาวต่ำเกินไปอีกด้วย ซึ่งไบเดนสามารถลดความกร้าวของเกาหลีเหนือลงได้ ด้วยการกระชับความเป็นหุ้นส่วนของสหรัฐฯ ในแปซิฟิกให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะกับเกาหลีใต้ ที่เพิ่งได้ผู้นำหมาด ๆ 

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน

 

 

หมู่เกาะคูริล

 

หมู่เกาะที่ตั้งอยู่ทางใต้ของรัสเซียและทางเหนือของญี่ปุ่นแห่งนี้ เรียกว่า "หมู่เกาะคูริลใต้" แต่ญี่ปุ่นเรียกว่า "หมู่เกาะชิชิมะ" ได้ถูกทหารโซเวียตยึดครองหลังญี่ปุ่นยอมแพ้ต่อกองทัพสัมพันธมิตรเมื่อปี 2488 และการแย่งกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ เมื่อรัสเซียบุกยูเครนญี่ปุ่นได้เข้ากับฝ่ายตะวันตกและต่อต้านรัสเซีย ขับนักการทูตรัสเซีย ร่วมดำเนินมาตรการคว่ำบาตรและบริจาคความช่วยเหลือให้กองทัพยูเครน ส่วนรัสเซียก็ทดสอบขีปนาวุธในน่านน้ำที่คั่นรัสเซียกับญี่ปุ่น และซ้อมรบร่วมกับจีนใกล้ญี่ปุ่นอีกด้วย 

 

ญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า "แนวโค้งแห่งความเสี่ยง" (an arc of risk) ทั้งจากข้อพิพาทหมู่เกาะคูริลที่อยู่ทางเหนือ ภัยจากขีปนาวุธเกาหลีเหนือที่อยู่ทางใต้ ดินแดนทางใต้ของจีน ไต้หวัน จนถึงหมู่เกาะเซนกากุ ที่จีนเรียกว่าหมู่เกาะเตียวหยู และอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกัน... จึงถือเป็นภาระเร่งด่วนสำหรับไบเดน ในฐานะพันธมิตรอันดับ 1 ที่มีพันธกิจต้องช่วยญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแกนนำของนาโต ที่กำลังกลัวว่ารัสเซียจะหันไปบุกยุโรปต่อจากยูเครน 

 

ทะเลจีนใต้

ทะเลจีนใต้ 

 

จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทั้งหมด 1.3 ล้านตารางกิโลเมตรในทะเลจีนใต้ ทำให้มีข้อพิพาทกับบางประเทศในอาเซียน ส่วนสหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตติดอาวุธปล่อยนำวิถี 2 ลำ เข้าไปปฏิบัติภารกิจรักษาเสรีภาพการเดินเรือ (FONOP) ท้าทายสิ่งที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นการอ้างกรรมสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจีนในเขตน่านน้ำสากล แต่พอเกิดสงครามยูเครน สหรัฐฯ กลับปรับการโฟกัสด้านการทหาร ไปอิงตามภูมิเศรษฐศาสตร์เห็นได้ชัดจากการประชุมสุดยอดกับผู้นำอาเซียนล่าสุด ไบเดนเน้นย้ำเรื่องพันธกิจทางเศรษฐกิจ การพัฒนา และการดูแลสุขภาพ 


แม้สหรัฐฯ แผ่วลงในประเด็นนี้ แต่สงครามยูเครนก็ให้บทเรียนแก่จีนเช่นกัน รัสเซียนั้นเหนือกว่ายูเครน ด้านขีดความสามารถทางอากาศ ขณะที่จีนก็อาจเผชิญปัญหาแบบเดียวกัน ถ้าต้องปกป้องเกาะที่สร้างสิ่งปลูกสร้างทหารเอาไว้ที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ ในทะเลจีนใต้ เพราะเส้นทางคมนาคม ทั้งทางอากาศและทางทะเลจากแผ่นดินใหญ่ไปยังทะเลจีนใต้นั้นยาวไกลอย่างมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว 

 

พรมแดนอินเดีย - จีน

 


พรมแดนอินเดีย-จีน 

 

จีนกับอินเดียเผชิญหน้ากันมายาวนานหลายสิบปี ที่แนวเส้นแบ่งเขตควบคุมตามความเป็นจริง (Line of Actual Control) หรือ LAC บนเทือกเขาหิมาลัย เหตุปะทะกันเมื่อปี 2563 ทำให้อินเดียที่พึ่งพาอาวุธจากรัสเซียเป็นหลักหันเข้าหาสหรัฐฯ แต่แม้จะเข้าร่วมกลุ่มภาคี 4 ฝ่ายต่อต้านจีน หรือ "Quad" ร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย อินเดีย ก็ยังได้ชื่อว่ามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัสเซียเพราะต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซ จึงไม่ได้ร่วมคว่ำบาตรรัสเซียกับตะวันตก ส่วนข้อพิพาทกับจีน อินเดียได้ศึกษาจีนแบบเดียวกับที่สหรัฐฯ ศึกษารัสเซีย ในการช่วยยูเครนต้านทานการบุก และจับสถานการณ์ของสงครามด้วยความระมัดระวัง 

logoline