svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

มติ ก.อ. ให้ "เนตร นาคสุข" อดีตรองอัยการสูงสุด ออกจากราชการ คดี "บอส อยู่วิทยา"

18 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ก.อ.มีมติให้ "เนตร นาคสุข" อดีตรองอัยการสูงสุด ออกจากราชการ ฐานสั่งคดีโดยใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบอย่างร้ายแรง กรณีสั่งไม่ฟ้อง "บอส อยู่วิทยา" ชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต

 

เมื่อวันที่ 18  พ.ค. 65  นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. เป็นประธาน การประชุม ก.อ. โดยในที่ประชุมได้ลงมติ ผลสอบคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือ "บอส อยู่วิทยา" ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหา คดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต  ซึ่งได้มีการส่งผลการสอบสวนให้ นายพชร ประธาน ก.อ. เมื่อช่วงหลังหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

 

ภายหลังการประชุม "นายพชร" เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติว่า "นายเนตร" สั่งคดีใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ พ.ศ.2553 ม.85 และ 87 ทำให้สำนักอัยการได้รับความเสียหาย จึงมีมติ 8 เสียง จากทั้ง 14 เสียงในที่ประชุมให้ปลด "นายเนตร" ออกจากราชการ

 

แต่เนื่องจากประวัติการทำงานตลอด 40 ปี ไม่มีด่างพร้อย อีกทั้งการพิจารณาไม่มีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดี อีกทั้งเป็นอัยการที่มือสะอาดเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการ จึงลดโทษให้เหลือแค่ให้ออก โดยให้มีผลตั้งแต่ที่ นายเนตร ยื่นใบลาออกจากราชการ

 

อย่างไรก็ตาม การให้ออกจากราชการ ยังคงสามารถรับเงินบำเหน็จบำนาญได้ตามปกติ

 

ทั้งนี้ ที่ประชุม ก.อ.ยังมีมติตั้งคณะกรรมการ 3 ท่าน จากสำนักอัยการ ขึ้นมาสอบสวน นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส หลังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขความเร็วรถของ บอส อยู่วิทยา ในสำนวนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ จาก 179 กม./ชม. มาเป็น 79 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วที่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ( 80 กม.)

 

ทั้งที่ นายชัยณรงค์ ไม่ใช่อัยการที่มีส่วนรับผิดชอบในคดีนี้ โดยให้ดำเนินสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับจากวันนี้เป็นต้นไป ถึงแม้ นายชัยณรงค์ จะยื่นใบลาออกจากราชการไปแล้วก็ตาม

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นของ"นายเนตร นาคสุข"  รักษาการในตำแหน่ง รองอัยการสูงสุด ที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ ได้ให้เหตุผลในการสั่งคดีว่า พิจารณาผลการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณา เฉพาะข้อกล่าวหาผู้ต้องหาที่ 1 (นายวรยุทธ) ว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291ตามที่อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้อง ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะกลับความเห็นและคำสั่งเดิมหรือไม่

 

ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเหตุที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการ พิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้1 โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1 ในความผิดฐานนี้

 

เนื่องจากได้ความจาก พ.ต.ต.ธนสิทธิ แตงจั่น ผู้ตรวจสอบความเร็วของรถยนต์ว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับแล่นด้วยความเร็วเฉลี่ย 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยผู้ตรวจสอบยืนยันว่า การคำนวณดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วดังกล่าวเกินกว่าความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่จะแล่นได้ภายในกรุงเทพมหานคร ( 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ) ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังในการขับรถ 

 

ต่อมาเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรม ได้มีการสอบสวน พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม คือ พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียน และ พ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิไชย พยานผู้เชี่ยวชาญที่ตรวจดูสภาพความเสียหายของรถทั้งสองคนเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเฉี่ยวชนในคดีอื่น แล้วต่างให้การประเมินความเร็วของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ขณะเกิดเหตุชนรถจักรยานยนต์คันที่ ผู้ต้องหาที่ 2 (ด.ต.วิเชียรผู้เสียชีวิต) ขับขี่ว่าไม่ใช่ความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

และจากการสอบสวน รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม พยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญ (เมื่อวันที่ 23ม.ค. 2560) ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณ ความเร็วของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้ความว่า ความเร็วของรถยนต์ Ferrari FF ก่อนเกิดเหตุ จะได้ความเร็ว ประมาณ 76.175กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นของ พ.ต.ท.สมยศที่ตรวจร่องรอยความเสียหายของรถทั้งสองคันแล้ว สันนิษฐานว่ารถทั้งสองคนแล่นมาจะแล่นด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อ ชั่วโมง

 

และความเห็นของ พ.ต.ท. ธนสิทธิ แตงจั่น (ยศในขณะให้การเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559) ว่า จากการคำนวณหาความเร็วโดยวิธีใหม่ได้ความเร็วของรถยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่ประมาณ 79.23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมา เมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้อีกและมีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมคือ พลอากาศโท จักรกฤษ ถนอมกุลบุตร และนายจารุชาติ มาดทอง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ได้ความว่าพยานทั้งสองขับรถยนต์ แล่นตามหลังรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปรากฏในภาพวงจรปิด) ให้การว่าผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์มาด้วยความเร็วประมาณ 50- 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

เมื่อพยานทั้งสองปากเป็นประจักษ์พยานในขณะเกิดเหตุให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับคดี ซึ่งข้อเท็จจริง ดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 3 ชิดเกาะกลางถนนด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

โดยมี นายจารุชาติ มาดทอง ขับรถยนต์กระบะแล่นมาในช่องทางเดินรถที่ 2 ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์แล่นมาใน ช่องทางเดินที่ 1(ด้านซ้าย) แล้วผู้ต้องหาที่ 2ได้ขับรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนช่องทางเดินรถจากช่องทางที่ 1 ผ่านช่องทางเดินรถที่ 2 ที่นายจารุชาติขับรถมา นายจารุชาติ ชะลอความเร็วของรถลง และหักพวงมาลัยหลบไปทางซ้ายมือ 

 

เพื่อไม่ให้ชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา แต่รถจักรยานยนต์ที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มาได้แล่นเข้าไป ในช่องทางเดินรถที่ 3ที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับรถยนต์แล่นมาในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้รถยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาชนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่มา

 

เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาที่ 2ถึงแก่ความตาย รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย เมื่อเหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่ผู้ต้องหาที่ 2 ขับขี่รถจักรยานยนต์เปลี่ยนช่องทางเดินรถ เข้าไปในช่องทางเดินรถที่ผู้ต้องหาที่ 1 ขับขี่มาด้วยความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ต้องหาที่ 1ไม่สามารถหลบหลีกและหยุดรถได้ทันท่วงที

 

เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย มิใช่เกิดจาก ความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ต้องหาที่ 1แต่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ของผู้ต้องหาที่ 2ที่เปลี่ยนช่องทางเดินทางรถในระยะกระชั้นชิด

 

การกระทำของผู้ต้องหาที่ 1จึงไม่เป็น ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้องผู้ต้องหาที่ 1ในความผิดฐานนี้ และเป็นกรณีกลับความเห็นและคำสั่งเดิมตาม ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด

 

อนึ่ง ฝ่ายผู้ต้องหาที่ 2 (ผู้ตาย) ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและสินไหมทดแทนจากฝ่าย ผู้ต้องหาที่ 1จนเป็นที่พอใจ และไม่ประสงค์จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับผู้ต้องหาที่ 1อีกต่อไปแล้ว        

logoline