svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวชุมชนเมืองคัดค้านสร้าง "ตึกสูงในซอย" หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

16 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวชุมชนซอยสุขุมวิท 61-เอกมัย 1 คัดค้านโครงการก่อสร้างคอนโดยักษ์ 43 ชั้น โครงการ "IMPRESSION EKKAMAI" โดยระบุว่าไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เนื่องจากถนนเอกมัยกว้างเพียงแค่ 18 เมตร เกรงปัญหารถติด ฝุ่นผง และอุบัติเหตุหลังจากเริ่มก่อสร้าง

 

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานชมรมชาวบ้านซอยสุขุมวิท 61 และตัวแทนชาวชุมชนซอยสุขุมวิท 61 และชุมชนเอกมัยซอย 1 คัดค้านการก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่ยักษ์ 43 ชั้น ของโครงการ "IMPRESSION EKKAMAI" เนื่องจากการก่อสร้างโครงการส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชน ทั้งปัญหารถติด ฝุ่น PM 2.5 และฝุ่น PM 10 จากการก่อสร้าง และหากการก่อสร้างแล้วเสร็จก็ยังกระทบกับความเป็นอยู่ของชาวชุมชุนในด้านต่าง ๆ 

 

ชาวชุมชนเมืองคัดค้านสร้าง "ตึกสูงในซอย" หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

 

คุณมาลีน่า ปาลเสถียร หนึ่งในชาวชุมชนซอยสุขุมวิท 61 เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. ด้านอาคารการจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพฯ เชิญตัวแทนชาวชุมชนซอยสุขุมวิทซอย 61 และตัวแทนบริษัท เอเอชเจ เอกมัย จำกัด เจ้าของโครงการ IMPRESSION EKKAMAI ซึ่งตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 63 เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำรายงานรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ชาวชุมชนร้องเรียน

 

เช่น ขนาดของโครงการ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่พิเศษ จึงไม่สามารถสร้างบนถนนเอกมัยที่มีความกว้างไม่ถึง 18 เมตรได้ หากการก่อสร้างเกิดขึ้นจะได้รับผลกระทบตั้งแต่การก่อสร้าง คือผงฝุ่น อุปกรณ์การก่อสร้าง หรือนั่งร้านต่าง ๆ ที่อาจตกลงมายังบ้านเรือนของประชาชน และถ้าการก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะกระทบกับชาวบ้านอย่างหนัก

 

ชาวชุมชนเมืองคัดค้านสร้าง "ตึกสูงในซอย" หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

 

ทั้งปัญหาการจราจร เพราะคาดว่าจะมีจำนวนรถยนต์ที่เข้ามาในย่านนี้เพิ่มอีกกว่า 300 คันต่อวัน ระยะห่างระหว่างอาคารที่แคบเกินไป ทำให้รถดับเพลิงไม่สามารถขับรถวนรอบอาคารโครงการได้ หากเกิดไฟไหม้จะกระทบต่อบ้านเรือนของชาวชุมชน

 

นอกจากนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ยังได้ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการก่อสร้างตึกสูง พบว่าสุขุมวิท 61 และซอยเอกมัย 1 ไม่ใช่ชุมชนแรกที่ประสบปัญหา แต่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณจตุจักร สาทร ยานนาวา คลองเตย และเขตอื่น ๆ และครั้งนี้เกิดที่ย่านสุขุมวิท ชาวบ้านขาดที่พึ่ง ซอยแคบ ท่อระบายน้ำเล็ก จากที่เคยอยู่กันเงียบ ๆ ราว ๆ 50 ครัวเรือน แต่กลับมาคอนโดยักษ์เตรียมก่อสร้าง กลายเป็น 500 ครัวเรือน แต่สร้างที่จอดรถแค่ 250 คัน กระทบกับสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน สร้างความเดือดร้อนไว้ให้ชาวบ้านนับร้อยนับพันคน

 

ชาวชุมชนเมืองคัดค้านสร้าง "ตึกสูงในซอย" หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

คุณกรณ์ จึงตั้งคำถามถึงว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ที่เหลือ 6 วันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ว่าจะมีใครที่จริงใจ และพร้อมเอาจริงกับเรื่องนี้บ้าง 

 

"เหลือ 6 วันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ชาวบ้านรอความชัดเจนของผู้สมัครผู้ว่าฯทุกคน เขาอยากรู้ว่ามีใครจริงใจ และพร้อมเอาจริงกับเรื่องนี้บ้าง คนกรุงเทพฯ จำนวนมากยังไม่ตัดสินใจ เรื่องนี้จะส่งผลให้ ‘พลังเงียบ’ เลือกได้ พรรคกล้าเรามีผู้สมัคร ส.ก.อยู่ 12 คน เราจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในสภากทม. เราจะรื้อข้อบัญญัติตึกสูงกรุงเทพฯ เพื่อยุติปัญหาการสร้างคอนโดสูงในซอยเล็กอย่างแน่นอน” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว

 

ชาวชุมชนเมืองคัดค้านสร้าง "ตึกสูงในซอย" หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

 

หัวหน้าพรรคกล้า จึงเสนอนโยบายสำหรับการเลือกตั้ง สก. พร้อมเสนอแผนงานการแก้ปัญหา โดยปรับวิธีการทำ EIA ให้เป็นอิสระจาก กทม. และปลอดผลประโยชน์จากนายทุน ยกเลิกสิทธิของบริษัทพัฒนาในการเริ่มก่อสร้างก่อนที่จะมีการออกใบอนุญาต คัดค้านข้อเสนอการแก้ผังเมืองที่จะนำไปสู่การลดสัดส่วนที่จอดรถในคอนโด เว้นแต่โครงการติดรถไฟฟ้าเท่านั้น พร้อมคำพิพากษาศาล โดยเฉพาะความกว้างของถนนที่ใช้เป็นตัวกำหนดความสูงของตึก ต้องเป็นส่วนที่รถวิ่งได้จริง ไม่เอาคู คลอง หรือเสาไฟฟ้ามานับรวมด้วย และต้องเร่งผลักดันโครงการสร้างบึงรับนํ้าคู้บอนและบางชัน ซึ่งเป็น 2 โครงการลดปัญหานํ้าท่วมสำคัญ แต่ กทม. ถ่วงเวลามายาวนาน และนายทุนยื้อเพราะหวังใช้พื้นที่พัฒนาหมู่บ้าน

logoline