svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ตรวจสอบพระได้แต่อย่าทำลายศาสนา-หลักยุติธรรม

14 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา"มองกรณี"หลวงปู่แสง"ตรวจสอบได้แต่อย่าทำลายพระพุทธศาสนา เหตุกระบวนการจัดการมีอยู่ ควรเป็นไปตามขั้นตอน แม้ล่าช้าไปบ้าง

น.ต.เกริก ตั้งสง่า อดีตกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ในฐานะนักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "หลวงปู่แสง" จนมีกระแสตีกลับไปยังคณะ "หมอปลา" และสื่อมวลชน ว่าเรื่องนี้ต้องมองแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 

 

ประด็นแรก เรื่องการตรวจสอบพระนอกรีต หรือกระทำผิดพระธรรมวินัย ต้องยอมรับว่ากลไกของคณะสงฆ์ มีความล่าช้า ไม่ทันการณ์ สมัยก่อนมี "สารวัตรพระ" หรือ "พระวินยาธิการ" แต่ระยะหลังๆ เงียบไป อาจทำให้ประชาชนหันไปพึ่ง "หมอปลา" แทน

 

ตรวจสอบพระได้แต่อย่าทำลายศาสนา-หลักยุติธรรม

 

ขณะที่กระบวนการตัดสินใจดำเนินการกับพระที่กระทำผิด ส่วนใหญ่ผู้รับผิดชอบเป็นพระชรา หรือมีวัยวุฒิสูง ทำให้หลายกรณีล่าช้า ไม่เท่าทันกับการกระทำผิด สุดท้ายไม่สามารถเอาผิดได้ ฉะนั้นหากจะยกเว้นบางกรณีที่เป็นความผิดซึ่งหน้า  ฝ่ายบ้านเมืองดำเนินการ แล้วส่งตัวไปสึกได้เลย ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาได้บางส่วน

 

ส่วนที่มีข่าวในแวดวงพระสงฆ์ไม่สบายใจ ที่มีปฏิบัติการพาสื่อมวลชนและชาวบ้านบุกจับพระ หรือบุกเข้าตรวจค้นวัด กุฏิพระ โดยไม่ได้รับอนุญาต จนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือสร้างความเสื่อมเสียให้กับพระพุทธศาสนา จึงมีการเสนอให้ออกกฎเหล็กห้ามบุคคลภายนอกเข้าวัด ตรวจค้นวัดโดยพลการ หรือฟ้องกลับผู้กระทำการนั้น 

น.ต.เกริก มองว่า ส่วนตัวได้ทราบความเคลื่อนไหวนี้อยู่เหมือนกัน แต่มองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะก็มีพระอีกกลุ่มที่มองว่า ถ้าไม่ได้ทำผิด จะกลัวอะไร และวัดต้องเปิดรับทุกคน 

 

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีประเด็นน่าคิดว่า ถ้าวัดเปิดให้ทุกคนเข้าได้ แล้วทำไมต้องปิดล็อกโบสถ์​ คำตอบก็คือเพื่อป้องกันโจรหรือขโมยเข้าไปลักของมีค่าในโบสถ์ วิหาร ฉะนั้น ทางออกของเรื่องนี้ในเบื้องต้น คือ อย่าใช้สื่อไปพิพากษาบุคลอื่นอย่างไม่ยุติธรรม เพราะสื่อที่มีจรรยาบรรณต้องหาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนนำเสนอ 

 

ตรวจสอบพระได้แต่อย่าทำลายศาสนา-หลักยุติธรรม

 

ประเด็นที่ 2 เรื่องของหลวงปู่แสง สรุปได้ว่า "ลูกศิษย์เป็นเหตุ" เป็นการ "อุ้มหลวงปู่ที่ป่วยเกือบจะไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว ออกมาหาศรัทธา" ฉะนั้นเมื่อหลวงปู่มีผลตรวจของแพทย์ชัดเจนว่าป่วย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คนรอบข้างย่อมผิดทั้งหมด ซึ่งมี 3 กลุ่ม 

 

-ลูกศิษย์ที่เป็นพระ

 

-ลูกศิษย์ที่เป็นฆราวาส

 

-ญาติโยมที่เข้าหาท่าน เพราะต้องรู้ว่าอะไรควรปฏิบัติ หรือไม่ควรปฏิบัติ ต้องคิดได้ว่าควรเข้าไปหาท่านหรือไม่ ขณะที่อีกด้าน ถ้าพระจะคิดไม่ดี ก็ต้องพาเข้าไปในที่รโหฐาน ไม่ใช่ทำกันต่อหน้าธารกำนัลแบบนี้ 

 

อีกกลุ่มหนึ่งที่ผิด คือ สื่อ และโซเชียลมีเดียที่ทำลายระบบยุติธรรม เช่น มีภาพ 10 เฟรม นำมาเผยแพร่แค่ 2 เฟรม แล้วตัดสินว่าผิดเลย แบบนี้ไม่ยุติธรรม การทำงานของสื่อ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะสืบหาข้อมูลก่อนว่า หลวงปู่ป่วยจริงหรือไม่ หรือถ้าไปตั้งกล้องรอถ่าย ก็น่าจะมีภาพตอนลูกศิษย์ต้องอุ้มท่านออกมา ท่านช่วยเหลือตัวเองยังไม่ได้ แล้วจะไปลวนลามสีกาได้อย่างไร ถ้ามีภาพพวกนี้ แล้วไม่ปล่อยออกมา แต่เลือกปล่อยเฉพาะบางภาพ ย่อมถือเป็นการประหารชีวิตโดยไม่ได้สอบสวน 

 

ตรวจสอบพระได้แต่อย่าทำลายศาสนา-หลักยุติธรรม

 

บทเรียนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ คือ สื่อที่เสนอข่าวผิดพลาดไปแล้ว จะรับผิดชอบอย่างไร หรือแม้แต่ "หมอปลา" เพราะพระคงไม่ไปฟ้องฆราวาส หรือคิดว่านำดอกไม้ธูปเขียนมาขอขมาแล้วจบ มันง่ายไปหรือไม่ องค์กรวิชาชีพสื่อควบคุมกันเองได้จริงหรือเปล่า ถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของสื่อมวลชนไทย ทุกคนทราบดีว่าพระไม่ดีก็มีอยู่ แต่การตรวจสอบต้องไม่ใช่การทำลายพระพุทธศาสนา

logoline