svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สธ.ชี้"ปลาร้า"แหล่งโปรตีนชั้นดี แต่ "โซเดียมสูง" เสี่ยงโรคไต!

13 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยปลาร้ามีโภชนาการสูง แนะกินปลาร้าต้องต้มสุก เลือกซื้อปลาร้าจากแหล่งน่าเชื่อถือ ได้มาตรฐาน และควรกินให้พอเหมาะ เนื่องจากมีโซเดียมสูง หากบริโภคเป็นประจำเสี่ยงเกิดโรคไตได้

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวสำนักพระบิดา มีการเปิดโรงงานผลิตอาหาร ปลาร้าบอง น้ำปลาร้า และนำไปขายในชุมชนข้างนอกนั้น ทำให้ประชาชนบางรายอาจเกิดความวิตกกังวลต่ออาหารอาหารประเภทนี้ กรมอนามัย จึงมีข้อแนะนำผู้บริโภคโดยต้องเลือกซื้อปลาร้า ที่ต้มสุก สะอาด มีแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ในกรณีที่ซื้อแบบบรรจุขวดควรดูเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) หากซื้อแบบไม่บรรจุขวด ควรดูว่ามีสิ่งเจือปน สีและกลิ่นผิดแปลกจากที่เคยกินหรือไม่ โดยเลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่น่าเชื่อถือและคุ้นเคย และก่อนบริโภคทุกครั้งควรนำไปทำให้สุกโดยปรุงด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที เพื่อลดความเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับ 

 

และสำหรับผู้ประกอบการนั้น ควรคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย เลือกวัตถุดิบหรือปลาที่มีคุณภาพ และมีระยะเวลาในการหมักที่เหมาะสม หากเป็นปลาส้มให้หมักนานมากกว่า 3 วัน ส่วนปลาร้าให้หมักนานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยกระบวนการผลิตจะต้องมีเครื่องมือ และเครื่องใช้ที่สะอาด มีมาตรฐาน และมาตรการป้องกันการปนเปื้อน น้ำที่ใช้ในการผลิตจะต้องมีคุณภาพน้ำดื่มตามมาตรฐานของกรมอนามัย สถานที่เก็บวัตถุดิบต้องสะอาดเป็นสัดส่วน มีการป้องกันการปนเปื้อน ส่วนผู้ปฏิบัติงานต้องมีสุขอนามัยดี

สธ.ชี้"ปลาร้า"แหล่งโปรตีนชั้นดี แต่ "โซเดียมสูง" เสี่ยงโรคไต!

 

ทั้งนี้ สำหรับด้านโภชนาการ ปลาร้าดิบปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 148 กิโลแคลลอรี  มีสารอาหารประเภทโปรตีน 15.30 กรัม ไขมัน 8 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.90 กรัม เหล็ก 3.40 กรัม วิตามินบี  1 0.02 กรัม วิตามินบี 2 0.16 กรัม และไนอะซิน 0.80 กรัม ซึ่งจัดว่าเป็นอาหารที่มีโภชนาการสูง เพราะปลาร้า  คือแหล่งโปรตีนชั้นดีเมื่อเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์อื่น ๆ มีวิตามินแร่ธาตุหลายชนิด และยังเป็นแหล่งของโพรไบโอติกส์อีกด้วย แต่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม 

สธ.ชี้"ปลาร้า"แหล่งโปรตีนชั้นดี แต่ "โซเดียมสูง" เสี่ยงโรคไต!

ปลาร้าต่วงที่มาจากทั้งโรงงาน และตลาด ปริมาณรวมโซเดียมของเกลือและผงชูสใกล้เคียงกัน โดยปลาต่วงของโรงงานจะมีโซเดียม 5,057 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม และจากตลาดจะมีโซเดียม 5,145 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ  ที่นิยมนำมาปรุงอาหาร มีโซเดียม 5,647 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ขณะที่ปลาร้าสับแจ่วบอง มีโซเดียม 5,791 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม  ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม หรือเฉลี่ยไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร             


ดังนั้น ปลาร้าไม่ควรบริโภคมากกว่า 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน หากบริโภคเป็นประจำ หรือมากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง”  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวย้ำ

 

นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ และที่ปรึกษากรมอนามัย  กล่าวว่า ปลาร้าสะท้อนถึงภูมิปัญญาของท้องถิ่น ที่รู้จักนำเอาปลาที่ในบางฤดูกาลมีจำนวนมากมาถนอมอาหาร โดยเฉพาะในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ที่บางช่วงแล้งมาก ชาวบ้านก็จะได้ปลาร้าเหล่านี้มาทำกินเป็นอาหาร ส่วนทางด้านโภชนาการนั้น ถือว่าปลาร้ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะมีแหล่งโปรตีนชั้นดีเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์อื่นๆ จากการศึกษาพบว่า ปลาร้า 100 กรัม จะมีโปรตีนอยู่ถึง 15-20 กรัม นอกจากนี้ ยังมีสารอาหารอื่นๆ เช่น ฟอสฟอรัส แคมเซียม วิตามินบี1 (B1) วิตามินบี2 (B2) และวิตามินเค (K)

 

"สิ่งที่พึงปฎิบัติ คือ ต้องกินปลาร้าที่ปรุงสุกถึงจะได้โปรตีนมาก และลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งท่อน้ำดี เพราะในปลาร้าดิบจะมีสารไนโตรซามีน ที่ก่อเซลล์มะเร็งในบางอวัยวะของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีโซเดียมสูงพร้อมทั้งอย่ากินซ้ำซาก หรือกินบ่อยๆ  กินมากจะมีผลต่อไต ทำให้ไตทำงานหนัก" นายสง่า กล่าวย้ำ

 

ดังนั้น ที่แนะนำคือ ควรนำปลาร้ามาทำเป็นอาหารประเภทน้ำพริกกินกับผักชนิดต่างๆนอกจากนี้ หากจะทำเป็นสินค้าส่งออกเพื่อสร้างรายได้ สิ่งที่ผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึงมากคือ ความสะอาดและความปลอดภัย ต้องระมัดระวังทั้งพยาธิ และเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งดีที่สุดคือ ควรนำปลาร้าไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เช่น ปลาร้าบอง ปลาร้าสับ ฯลฯ และทำบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน

logoline