แม้สังคมฆราวาสจะขานรับและยกย่องเป็น "มือปราบพระนอกรีต" แต่ในแวดวงผ้าเหลืองมีการพูดคุยวิจารณ์กันไปอีกแนวทางหนึ่ง
อย่างเช่น มีการแชร์ข้อเขียนของทนาย นักกฎหมาย และนักการศาสนา ที่ตั้งคำถามถึงปฏิบัติการเหล่านี้ว่าผิดกฎหมายหรือไม่
เช่น ข้อเขียนหนึ่งที่พาดหัวว่า "บุกวัดไม่มีหมาย..ระวังคุก?" ที่ตั้งข้อสังเกตถึงปฏิบัติการบุกวัด
-พากันกรูเข้าไปวัด วิ่งเข้าไปวัด ไปค้นหา ไปจับพระในวัด วิ่งไปห้องนี้บ้างห้องนั้นบ้าง
-ไม่ได้มีเฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่มีผู้หญิงเข้าไปร่วมด้วย ข่าวว่ารองเท้าก็ไม่ถอด
-เข้าไปแล้วเจอพระก็เอาไมค์จ่อ เอาไมค์เข้าไปสัมภาษณ์ ถามนำเชิงสอบสวนหาความจริงตรงนั้นเลย
-การเข้าไปวัดเพื่อค้นหาความจริงอะไรที่เกิดขึ้นในวัด ควรแจ้งเจ้าอาวาสก่อน หรือหากพบว่าพระมีความผิดจริง ก็ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้ตำรวจสอบสวน หรือหากอยากจะเข้าไปค้นหาความจริงๆ ก็ควรดำเนินการตามกฎระเบียบหรือกฎหมายที่ชัดเจน ด้วยการไปแจ้งความให้ตำรวจขอหมายจากศาลหรือหมายค้นจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน และเมื่อได้มาแล้วก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้นำไป ภาพที่ออกมาจึงจะดูเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่
ไม่ใช่อยู่ๆ ก็พากันวิ่งไปไล่จับพระในวัดเอามาสอบสวนตามใจ และที่สำคัญเอานักข่าวไปถ่ายทอดสดเป็น Reality Show แบบนั้นเกิดว่าท่านไม่ได้มีความผิด ท่านบริสุทธิ์ ถามว่าใครรับผิดชอบ
-มีการใช้คำพูดหยาบคายต่อพระสงฆ์ผู้ถูกกล่าวหา หรือไปโพนทะนาว่าพระเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย
-ไม่เคารพใน "สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา” ทั้งๆ ที่ฆราวาส ที่ตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว ก็ยังตองเคารพสิทธิ์
นี่คือตัวอย่างการแสดงความเห็นในวงการผ้าเหลือง และล่าสุดยังมีข่าวความเคลื่อนไหวการประสานให้ "นิติกร" ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่างเอกสารคำฟ้อง หรือแจ้งความในข้อหาบุกรุก หากมีการปฏิบัติที่ละเมิดกฎหมาย
ซึ่งในประเทศไทยมีวัดกว่า 3 หมื่นวัด พระภิกษุประมาณ 2 แสนรูป การปกครองดูแลคณะสงฆ์มีกฎมหาเถรสมาคมรับรอง เช่น
-พระลูกวัดทำผิด ต้องแจ้งเจ้าอาวาส
-เจ้าอาวาสทำผิด ต้องแจ้งเจ้าคณะตำบล ไล่ลำดับขึ้นไป
ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มาจับพระ เพื่อสร้างคอนเทนต์แล้วนำไปใช้ในสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์