หลังจากประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ในฐานะประธานหมุนเวียนของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) แถลงต่อรัฐสภายุโรปในเมืองสตราสบูร์กว่า ตามมาตรฐานและเกณฑ์ชี้วัดที่เกี่ยวข้อง ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ได้ และเสนอให้ยูเครนเข้าร่วมกับประชาคมยุโรปคู่ขนาน (parallel European community) ที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกที่ไม่ใช่ EU สามารถเข้าร่วมในสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงของยุโรปในรูปแบบอื่นได้ ในระหว่างรอการตัดสินใจรับสมาชิกใหม่ของ EU
เชื่อว่าคำพูดของมาครง จะไม่ถูกใจ ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน อย่างรุนแรง จึงเกิดการอ้าง "เหตุสุดวิสัย" (force majeure) ในการปิดท่อก๊าซที่ส่งจากรัสเซียไปยังยุโรป 1 ใน 3 ในขณะที่รัสเซียที่ได้ชื่อเป็นว่าศัตรูของยุโรปโดยตรงยังไม่ได้ลงมือแม้จะเคยขู่ก่อนหน้านี้ โดย "Gazprom" ผู้ผลิตก๊าซเพื่อจำหน่ายรายใหญ่ที่สุดของโลกระบุว่า ไม่ได้รับการยืนยันถึงเหตุสุดวิสัยหรืออุปสรรคใด ๆ ในการส่งก๊าซผ่านทางแยกในภูมิภาคลูฮันสก์ แล้วก็ไม่มีเหตุใด ๆ ให้ต้องปิดท่อส่งก๊าซ แต่เมื่อวันอังคาร "OGTSU" ผู้ให้บริการก๊าซของยูเครนประกาศว่า จะหยุดการส่งก๊าซตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม โดยอ้างว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งก๊าซผ่านจุดเชื่อมต่อ อีกทั้งสถานีอัดก๊าซ (Compressor stations) ก็อยู่ที่ลูฮันสก์ที่ถูกรัสเซียรุกราน ทำให้บุคลากรไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่และไม่สามารถปฏิบัติตามพันธสัญญาได้อีกต่อไป
เท่ากับว่าตอนนี้แรงกระเพื่อมจากสงครามได้ลามเข้าไปในทวีปยุโรปอย่างเต็มที่แล้ว โดยที่อังกฤษ คีธ แอนเดอร์สัน ผู้บริหารบริษัทพลังงาน "Scottish Power" เตือนว่า บิลค่าไฟเดือนตุลาคมของชาวอังกฤษอาจจะสูงถึง 3,000 ปอนด์ (128,000 บาท) และประชาชนราว 10 ล้านครัวเรือน อาจไม่มีปัญญาจ่ายค่าน้ำร้อน (heating) ผ่านท่อที่ติดตั้งตามอาคารในช่วงฤดูหนาวได้ หลังเผชิญค่าไฟฟ้าและค่าน้ำร้อนเพิ่มขึ้น 700 ปอนด์ ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา และคาดว่าจะพุ่งไม่หยุด ภาระกำลังไปตกอยู่กับประชาชนที่ต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่าพลังงาน และเวลาสำหรับเหล่ารัฐมนตรีในการวางแผนสนับสนุนทางการเงินก็กระชั้นเข้ามาทุกที
ประเทศสมาชิก EU อย่างเดนมาร์ก ก็กำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) หรือ CPI พุ่งสูงสุดทำสถิติในรอบ 38 ปี โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการแสดงให้เห็นการเพิ่มขึ้นจาก 5.4% เมื่อเดือนมีนาคม เป็น 6.7% เมื่อเดือนเมษายน โดยมีปัจจัยมาจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และแรงขับเคลื่อนจากไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ อาหารและยาสูบ ขณะที่ราคาสินค้าอื่น ๆ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตรา 10.3% ในช่วงปีที่ผ่านมา ที่เป็นตัวเลขที่ไม่เคยได้รับการบันทึกมาก่อนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2525
ส่วนเยอรมนีได้ลดการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ จาก 3.6% เหลือ 2.2% หลังเผชิญราคาสินค้าที่พุ่งไม่หยุด เพราะยูเครนเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักด้านธัญพืช และชาวเยอรมันหลายครัวเรือนเริ่มไม่มีเงินซื้ออาหารที่อยากจะซื้อได้ทั้งหมด สงครามยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานไปทุกหย่อมหญ้า ทั้งบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่สามารถส่งสินค้าได้ตรงเวลา บางบริษัทถึงขั้นต้องยกเลิกออเดอร์ทั้งหมด ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยเพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเดือนเมษายน
แรงกระเพื่อมยังส่งไปถึงอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อผลสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดย "Democracy Institute" ร่วมกับหนังสือพิมพ์ "Express" ชี้ว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ คือ 53% เชื่อว่าการคว่ำบาตรรัสเซียทำให้สหรัฐฯ เจ็บตัวมากกว่ารัสเซีย โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งหมดความมั่นใจในความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยสถานการณ์ล่าสุดพบว่า ชาวอเมริกันกำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ราคาก๊าซก็พุ่งเกือบทำสถิติ ผู้ถูกสำรวจ 56% มองว่านโยบายต่างประเทศของไบเดนแย่ที่สุด โดยเฉพาะประเด็นยูเครนที่มีคนไม่เห็นด้วยกับการรับมือในเรื่องนี้ถึง 52% และ แม้ฝ่ายบริหารของไบเดนพยายามโทษว่าเป็นเพราะรัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ทำให้ค่าครองชีพของชาวอเมริกันพุ่งสูงขึ้น แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ระบุว่าค่าครองชีพสูงตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียจะส่งทหารบุกยูเครนหลายเดือนแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความล้มเหลวด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไบเดนเอง