เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
เป็นประเด็นที่ความตกใจและปลุกกระแสการอนุรักษ์ กรณีที่มีออกมาเปิดเผยข้อมูลของโลมาอิรวดีในประเทศไทยว่า ที่อยู่ในเสี่ยงเนื่องจากมีจำนวนเหลืออยู่แค่ 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา จนนำมาสู่การตื่นตัวเพื่ออนุรักษ์จากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ล่าสุดวันนี้ (9 พ.ค.) นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโลมาอิรวดี 14 ตัว สุดท้ายในทะเลสาบสงขลา เพื่ออนุรักษ์โลมาอิรวดีอย่างยั่งยืน ซึ่งภายหลังการประชุม นายโสภณ เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ได้นำเสนอรายงานสถานการณ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา
การสำรวจประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาตอนบน โดยการสำรวจทางเรือ และทางอากาศโดยเครื่องบินเล็กปีกตรึง และอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ตั้งแต่ปี 2558 - 2564 พบว่า มีแนวโน้มประชากรลดลง โดยในปี 2558 มีรายงานการพบประมาณ 27 ตัว แต่ปัจจุบันมีจำนวนเหลืออยู่ประมาณ 14 - 20 ตัว โดยสาเหตุการตายหลักเกิดจากการติดเครื่องมือประมง ถึงร้อยละ 60
หากสามารถลดอัตราการตายจากเครื่องมือประมงให้เป็นศูนย์คาดว่า ประชากรโลมาอิรวดีจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 30 ตัว ภายใน 10 ปี และแต่ละหน่วยงานได้รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเกี่ยวกับการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา
นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ที่ประชุมได้นำเสนอร่างแผนการดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบ แผนงานระยะสั้น (2565-2566) ประกอบด้วย 5 แผนงาน ประกอบด้วย
1.การลดภัยคุกคามโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย
2.การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดีและจัดทำพื้นที่หวงห้าม
3.การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการสร้างจูงใจในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี
4.การศึกษาวิจัยโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย
5.การช่วยชีวิตและดูแลรักษาโลมาอิรวดีเกยตื้น
ส่วนแผนงานระยะยาว (2566 - 2570) ประกอบด้วย 1.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดี 2.โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา 3.การพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา และ 4.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายสถาบันวิจัยวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการปรับแผนเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว พร้อมจัดทำงบประมาณในการดำเนินการ อีกทั้งทำหนังสือขอความร่วมมือการปฏิบัติงานในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง ไปยังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนศึกษาแนวทางการขอรับการจัดสรรงบประมาณ จากกองทุนสิ่งแวดล้อม และจัดทำร่าง MOU ความร่วมมือการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาร่วมกัน ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมประมง รายงานสถานการณ์และความวิกฤตของสถานภาพโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา และขอความร่วมมือกรมประมงให้งดเว้นการปล่อยพันธุ์ปลาบึกในทะเลสาบสงขลา นอกจากนี้ ได้มอบหมายนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประสาน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ปรับแผนการดำเนินงานโครงการ Ocean for life ให้ขยายกิจกรรมครอบคลุมไปถึงการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาต่อไป