นายทรงชัย นกขมิ้น อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ (นายกฯ อบต.ราชาเทวะ) ชี้ ภาพซุ้มสะพานลอยเฉลิมพระเกียรติ ที่ถูกนำมากองไว้กับพื้น (ตามที่ปรากฏเป็นข่าว) เป็นโครงการที่ดำเนินการในสมัยที่ตนยังมีอำนาจบริหาร อบต.ราชาเทวะ โดยหลังจากที่กรมทางหลวงอนุญาตให้ อบต.สามารถติดตั้งซุ้มเฉลิมพระเกียรติไว้บนสะพานลอย 11 จุด ระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 จนถึงมกราคม 2565 กระทั่งพ้นกำหนดอนุญาตไปแล้ว แต่บริษัท โอลี่ กรุ๊ป จำกัดซึ่งเป็นผู้รับจ้าง ไม่ดำเนินการติดตั้งเลย
ทั้งนี้ เนื่องจากกรมทางหลวง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสะพานลอยทั่วประเทศ ทำให้การติดตั้งงาน นำโครงสร้างใดๆ ไปวางไว้ หรือจะดำเนินการใดๆ บนสะพานลอย ทั้ง 11 จุด ต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง
อดีตนายก อบต.ราชาเทวะ ยืนยันว่า งบประมาณ 35 ล้านบาท จากโครงการซุ้มสะพานลอยเฉลิมพระเกียรติ ไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ แก่อบต.แม้แต่บาทเดียว เนื่องจากการจ่ายเงินตามโครงการมีระบุชัดเจนในสัญญาว่า อบต.ราชาเทวะ จะเบิกจ่ายให้เป็นงวดๆ ตามการติดตั้งที่แล้วเสร็จในแต่ละสะพานลอย หรือ 1 สะพานลอย เท่ากับ 1 งวด (ประมาณ 3 ล้านบาท)
แต่แปลกใจที่ผู้รับจ้างไม่ดำเนินการติดตั้งเลยแม้แต่สะพานเดียว โดยก่อนหน้านี้ อบต.ราชาเทวะพยายามทวงถามกับผู้รับจ้าง แจ้งให้ทราบถึงความล่าช้า แต่ก็ไม่ได้รับคำชี้แจงใดๆ อีกทั้งโครงการก็ไม่มีความคืบหน้า กระทั่งเวลาล่วงเข้าสู่เดือนที่ 8 หรือเมื่อมกราคม 2565 เป็นเหตุให้ตนต้องดำเนินการ 2 อย่าง คือ "ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาไปยังผู้รับจ้าง ก็คือ บริษัท โอลี่ กรุ๊ป จำกัด และทำหนังสือประกาศให้เอกชนรายนี้ เป็น ผู้ละทิ้งงาน"
"เบื้องต้นทราบจาก อบต.ว่า เมื่อครั้งบอกเลิกสัญญา มีการแจ้งเรียกเงินค่าเสียหายจากโครงการที่ไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญา พร้อมแจ้งให้สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ได้รับทราบ ซึ่ง อบต.ราชาเทวะ เพิ่งได้รับโอนเงินประมาณ 1.5 ล้านบาทเข้าบัญชีแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา (ไม่นานมานี้)"
นายทรงชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า จากช่วงเวลาที่เกิดขึ้น จะพบว่า ที่คำสั่งให้ตนพ้นจากตำแหน่ง โดยผู้ว่าฯ สมุทรปราการ(นายวันชัย คงเกษม) มีผลเมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่า โครงการติดตั้งซุ้มสะพานลอยเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเริ่มดำเนินการประมาณเดือนมิถุนายน 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 ท่ามกลางองค์กรอิสระเข้าตรวจสอบและถูกกล่าวหาว่า ทุจริต แต่โครงการนี้ มาจากความต้องการของประชาคม เช่นเดียวกับโครงการเสาไฟฟ้า รูปทรงกินรี
"ผมเองก็ยอมรับในความเห็นของท่านพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ระบุว่า เสาไฟกินรี มีจุดติดตั้งที่ยากต่อการพบเห็นของนักท่องเที่ยว ไม่มีชุมชนในพื้นที่ ไม่สร้างประโยชน์ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์ค แต่เมื่อเป็นความต้องการของประชาคม ผมก็ไม่อาจฝืนมติของคนในชุมชน"