ครั้งนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ได้นัดประชุมกลุ่ม ส.ส. ก่อนอภิปราย ประกอบด้วย "โจ้" ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร, ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ (ปัจจุบันย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ) อดิศร เพียงเกษ, เผ่าภูมิ โรจนสกุล, วัฒนา เตียงกูล, พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร และ ไพรัช ชัยชาญ
ก่อนหน้านั้น ร.ต.อเฉลิม จับเรื่องนี้มาตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ โดยอ้างว่าเป็นคนเดียวที่กำข้อมูลนี้ พร้อมติดตามดูการตัดสินใจของรัฐบาลคสช.ขณะนั้นว่าจะแก้เกมอย่างไร
ซึ่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 62 ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะแกนนำพรรค กล่าวถึงกรณีที่ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รมว.ต่างประเทศ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา ขอให้นายกฯ ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ กรณีสินค้าบุหรี่นำเข้าของ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง >>>
เฉลิม โพสต์เฟซ แจง ปมคดีบริษัท ฟิลลิปมอร์ริส!
โดยขอให้หยุดกระบวนการดำเนินคดีในศาลไทย ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว ว่า หากนายกฯ จะใช้อำนาจฝ่ายบริหารยุติฟ้องร้องคดีดังกล่าว จะเป็นการก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายกฯ ไม่มีอำนาจในการระงับข้อพิพาทนี้ เพราะเป็นอำนาจของอัยการในการสั่งฟ้องคดี และขณะนี้ก็อยู่ในขั้นการพิจารณาของศาล
อย่างไรก็ตาม หากนายกฯ ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 เร่งรัดเรื่องดังกล่าวนี้ เชื่อว่าจะเกิดหายนะต่อประเทศในเร็ววัน และเชื่อว่านายกฯ ไม่กล้าใช้ มาตรา 44 เพราะจะติดคุกแน่นอน และตนเองจะอภิปรายเรื่องนี้นอกสภาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทวงถามความยุติธรรมให้คนไทย และเปิดโปงผู้ที่รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องขอชื่นชมอัยการที่ยังหนักแน่นเดินหน้าฟ้องร้องในคดีดังกล่าว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
กระทั่ง ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลลุงตู่ เมื่อเดือนก.พ. 63 เงื่อนงำ "คดีฟิลลิป มอร์ริส" กลายเป็นประเด็นให้ฝ่ายค้านนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยพุ่งเป้าไปที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ
สำหรับข้อพิพาทกรณีสินค้าบุหรี่นำเข้า เป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินคดีกับ "บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ประเทศไทย" กรณีหลบเลี่ยงภาษีบุหรี่มากกว่า 68,000 ล้านบาท เมื่อปี 2546-2550 และต่อมา อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส 12 ราย ในปี 2559 ขณะที่ "ฟิลลิป มอร์ริส" มีความพยายามที่จะให้ไทยถอนฟ้องในคดีนี้ และไปสนับสนุนประเทศฟิลิปปินส์ให้ฟ้องบังคับคดีกับไทยต่อ WTO กล่าวหาว่าการดำเนินคดีอาญาของไทยขัดต่อหลัก WTO
ปมคดี "ฟิลลิป มอร์ริส" ได้ยืดเยื้อมาถึงช่วงปลายรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์" อีกครั้ง เป็นจังหวะที่รัฐบาลต้องรีบปลดล็อกก่อนที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกนำไปเป็นประเด็นยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังเปิดสภาพ.ค.65 นี้
แต่เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้พิจารณาวาระลับมาก (ริมแดง) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างฟิลิปปินส์กับไทยในองค์การการค้าโลก (WTO) กรณีที่ไทยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท "ฟิลลิป มอร์ริส" จากการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าบุหรี่
กระทรวงการคลังได้ขอความเห็นชอบและขออนุมัติลงนามร่าง Uberstanding between the Philippines and Thailand on agreed procedures towords a comprehensive settlement of the dispute in Thailand-customs and fiscal measures on cigarettes from the Philippines โดยสาระสำคัญคือ ฟิลิปปินส์จะไม่ขอใช้สิทธิ์ตอบโต้ทางการค้ากับไทยเพิ่มเติมอีก และการสืบสวนสอบสวนใดๆ จะอยู่ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งไทยตกลงว่าจะทำตามข้อตกลงดังกล่าวนี้ด้วย
โดยรัฐมนตรีคนหนึ่งได้อธิบายว่า ไทยมีการลงทุนในฟิลิปปินส์จำนวนมาก ถ้ามีการตอบโต้การค้ากันเกิดขึ้นจะมีปัญหา จึงน่าจะคุยกันและไม่ควรมีการฟ้องกันเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ ที่ประชุมครม.ได้มีมติเห็นชอบให้มีการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวต่อไป โดยถือว่าเรื่องข้อพิพาทดังกล่าวที่เกิดขึ้นมานานเป็นอันจบ
ขณะที่ จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอแนะว่า อยากให้ไปดูที่ฝ่ายค้านเคยอภิปรายเรื่องนี้ไว้ในสภา และดูว่าสัญญา ข้อตกลงตอบโจทย์ที่ฝ่ายค้านเคยถามมาหรือไม่ ซึ่งทาง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้รับที่จะไปดู
จากนี้ไป จึงเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายหันมาจับตามอง ร่างข้อตกลงครั้งนี้ จะทำให้รัฐเสียเปรียบหรือเอื้อประโยชน์ให้กับ "ฟิลลิป มอร์ริส" หรือไม่อย่างไร เช่นเดียวกับฝ่ายค้านรอลับคมมีดถล่มอีกครั้งในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังมาถึง ว่าปม "คดีฟิลลิป มอร์ริส" จะโค่นนายกฯ ลุงตู่ลงจากบัลลังก์ได้หรือไม่