svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบที่(อาจ)นำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ

04 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชวนคนไทย ทำความรู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบบี” ภัยเงียบตัวร้ายติดเชื้อแล้วอาจนำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ-ตับแข็ง แต่มีวิธีป้องกันได้แค่การสร้างอนามัยส่วนบุคคล

ได้เวลามาเตือนภัยอีกหนึ่งจากโรคที่กำลังคุกคามชีวิตคนไทย นั่นก็คือ “โรคไวรัสตับอักเสบ” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ 

 

โดยล่าสุดทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ให้ประเทศสมาชิกดำเนินการควบคุมป้องกัน โรคไวรัสตับอักเสบอย่างบูรณาการ และจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โรคไวรัสตับอักเสบ อย่างเป็นรูปธรรม

ทำความรู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบ” 

ชวนคนไทย ทำความรู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบบี” อย่างจริงจัง !! ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยในขณะนี้ทีเดียวและอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำผู้ป่วยไปสู่อาการ ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และ มะเร็งตับได้ จากข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเมื่อปี 2563 พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2–3 ล้านคน มีอัตราความชุกประมาณร้อยละ 4–5 ของประชาชนที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 ทำให้ปัจจุบันพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีเรื้อรัง ในประชากรที่อายุ 30 ปีขึ้นไปเป็นส่วนมาก

 

สำหรับ “โรคไวรัสตับอักเสบ” มีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ , บี , ซี , ดี, อี เป็นต้น ข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ระบุว่า เมื่อติดเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ตับจะก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ มีอาการตับบวมโต อ่อนเพลีย ซึ่งไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขประเทศไทย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี และ ไวรัสตับอักเสบซี

 

“โรคไวรัสตับอักเสบบี” ติดต่อกันได้อย่างไร?

รู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบที่(อาจ)นำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ

 

 

 

 

จากข้อมูลของสำนักการแพทย์ ระบุว่า คนถือเป็นพาหะ ที่สำคัญของเชื้อไวรัสนี้ พบเชื้อนี้ในประชากรโลกกว่า 200 ล้านคน ประเทศไทยมีความชุกคนของพาหะร้อยละ 8 - 10 คือ ประมาณ 5 ล้านคนที่มีเชื้อในร่างกาย พบเชื้อได้ในเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม เป็นต้น ทำให้มีโอกาสแพร่ เชื้อได้หลายทาง ทางเข้าของเชื้อ ได้แก่

1.ทางเพศสัมพันธ์ กับผู้เป็นพาหะของเชื้อนี้

2.ทารกคลอดจากมารดาที่เป็นพาหะ อาจติดเชื้อระหว่างคลอด การเลี้ยงดู

3.ทางเลือดและน้ำเหลือง การได้รับเลือดที่ติดเชื้ออาจเกิดจากการใช้ของมีคม/ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดเข้าเส้นร่วมกัน การฝังเข็ม การสัก การเจาะหูที่ไม่สะอาด การใช้ใบมีดโกน แปรงสีฟัน ร่วมกัน เป็นต้น

4.ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผล ผิวหนังถลอก

5.ทางสัมผัสใกล้ชิด (Close contact) ระหว่างพาหะกับผู้อื่น เช่น สมาชิกในครอบครัว เด็กวัยเรียน เป็นต้น

ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ 30 - 180 วัน เฉลี่ย 60 - 90 วัน ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสนี้จะหายเป็นปกติ ที่เหลือเป็นพาหะของเชื้อต่อไปพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบนี้ อาจไม่มีอาการแต่แพร่เชื้อต่อไป ส่วนหนึ่งอาจป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่า

รู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบที่(อาจ)นำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ

 

 

การรักษา“โรคไวรัสตับอักเสบบี” ทำได้อย่างไร

1. การกินยา เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสและการแพร่กระจายของเชื้อ ถือเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
2. การฉีดยา (Interferon) เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน โดยการฉีดใต้ผิวหนังอาทิตย์ละครั้ง และฉีดต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี แต่อาจจะมีผลข้างเคียงจากยามากกว่ายาแบบรับประทาน

การป้องกัน“โรคไวรัสตับอักเสบบี”ต้องทำอย่างไรบ้าง 

  1. 1.การมีอนามัยส่วนบุคคล ส่วนรวมที่ดี เช่น การล้างมือให้สะอาดก่อนทำสิ่งใด หลังการขับถ่าย การประกอบอาหารถูกหลักอนามัย เลือกรับประทานอาหารที่สุก น้ำดื่มที่สะอาด เป็นต้น
  2. 2.หลีกเลี่ยงการรับ การสัมผัสเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่ง ของผู้อื่น ไม่ใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  3. 3.ไม่สำส่อนทางเพศ ใช้ถุงยางอนามัย
  4. 4.การฉีดวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบ

 

รู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบที่(อาจ)นำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  กรมควบคุมโรค/สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร/โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ร่างกายรับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ได้อย่างไร

- จากกลุ่มผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่ในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการ สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ เรียกว่า พาหะ (Carrier) ซึ่งพาหะมักเป็นได้กับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี เท่านั้น

- ไวรัสตับอักเสบเอ และ อี ติดต่อทางอาหาร น้ำดื่ม การสัมผัสอุจจาระ ฉะนั้นการป้องกันควรดื่มน้ำต้มสุก อาหารปรุงสุก ล้างมือให้สะอาด ผักผลไม้ล้างให้สะอาด ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบอี ส่วนไวรัสตับอักเสบเอมีวัคซีนป้องกัน ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

- ไวรัสตับอักเสบบี และ ซี แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด เช่น เจ้าหน้าที่พยาบาลถูกเข็มฉีดยาที่มีเชื้อไวรัสตำมือ ผู้ที่ติดยาเสพติดแล้วใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นต้น

- การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกสำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสสูงมาก แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ฉีดให้ทารกหลังคลอดทุกราย ทำให้ป้องกันการติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ดีมาก

รู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบที่(อาจ)นำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ

อาการเป็นอย่างไร

 

ไม่ว่าจะเกิดจากไวรัสตับอักเสบชนิดไหน จะมีอาการคล้ายกัน แต่น้อยหรือมากขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสที่ร่างกายได้รับ และสภาพร่างกายดั้งเดิมของผู้ป่วย ซึ่งอาการโดยมากที่พบ ได้แก่

  • อาการอ่อนเพลีย
  • จุกแน่นใต้ชายโครงขวา
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดตามข้อ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องเสีย
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • ตัวเหลือง
  • ตาเหลือง
  • ประมาณ 1 – 4 สัปดาห์ อาการตัวเหลือง ตาเหลืองจะหายไป

 

 

ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง "บี และ ซี" 

เชื้อไวรัสที่ทำให้ตับอักเสบเรื้อรัง มี 2 ชนิด คือ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี มักไม่แสดงอาการ บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนบ้างในช่วงที่มีภาวะตับอักเสบ การติดเชื้อไวรัสจะทำให้เกิดการทำลายของเซลล์ตับทีละน้อยจนเกิดภาวะตับแข็งและเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็ง

สามารถตรวจดูการอักเสบของตับได้จากการตรวจเลือด อาการตับแข็งและมะเร็งตับ ในระยะแรกไม่มีอาการแต่อาจมีอาการเพลียบ้าง มักมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ท้องบวม เท้าบวม อาเจียนเป็นเลือด ตัวตาเหลือง

 

ติดเชื้อแล้ว...ต้องรีบรักษา

- ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ชนิดเฉียบพลัน และอี ส่วนใหญ่ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองรักษาตามอาการ เน้นการรักษาเพื่อลดการอักเสบของตับ เช่น รับประทานอาหารได้น้อย อ่อนเพลียอาจจะให้น้ำเกลือ

- แนะนำการปฏิบัติตัว ได้แก่ การพักผ่อนมากๆในช่วงที่มีอาการอ่อนเพลีย สามารถทำกิจกรรมที่ไม่ต้องออกแรงมาก การรับประทานอาหารอย่างพอเพียง หลีกเลี่ยง อาหารไขมันสูง งดแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงยาพาราเซตามอล

- การตรวจ ติดตามผลเลือดเป็นระยะเพื่อดูการทำงานของตับว่าดีขึ้นหรือไม่

 

ทั่วโลก ป่วยไวรัสตับอักเสบบี 257 ล้านคน และ ซี 71 ล้านคน

จากข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก ในปี 2563 พบผู้ติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบบี เรื้อรัง ทั่วโลก ประมาณ 257 ล้านคน และผู้ติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบชี เรื้อรังทั่วโลก ประมาณ 71 ล้านคน

 

ขณะที่ประเทศไทยคาดประมาณผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง ประมาณ 2.2 - 3 ล้านคน และผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 8 แสนคน พบมากในประชาชนอายุ 30 ปี ขึ้นไป และพบอัตราการเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

โรคไวรัสตับอักเสบบี มีวัคซีนในการป้องกัน สามารถรักษาได้แต่ไม่หายขาด ส่วนโรคไวรัสตับอักเสบซี ไม่มีวัคซีนในการป้องกัน แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการทานยาต้านไวรัสให้ครบ 12 สัปดาห์ โดยเป้าหมายของ กระทรวงสาธารณสุข คือ กําจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ภายในปี 2573

 

ไวรัสตับอักเสบบี

  • มีวัคซีนในการป้องกัน สามารถรักษาได้แต่ไม่หายขาด
  • หญิงตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์โดยเร็ว (อายุครรภ์ 12 สัปดาห์) จะทำให้สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ปัจจุบันได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนของประเทศไทย ทำให้เด็กแรกเกิดทุกคนได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี
  • ประชาชนที่เกิดก่อนปี 2535 และผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ควรตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบ
  • ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ให้ครบชุด จำนวน 3 เข็ม

 

ไวรัสตับอักเสบซี

  • ไม่มีวัคซีนในการป้องกัน แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการทานยาต้านไวรัสให้ครบ 12 สัปดาห์
  • หากมีความเสี่ยง หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชี ควรเข้ารับบริการตรวจคัดกรองและรักษาโดยเร็ว
  • ปัจจุบัน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนการตรวจคัดกรอง การตรวจยืนยันโรคไวรัสตับอักเสบซี ในกลุ่มผู้มีเชื้อเอชไอวี/เอดส์และผู้ใช้สารเสพติดโดยวิธีฉีดได้ฟรี
  • ประชาชนที่มีความเสี่ยง ประเมินตนเองแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวร้สตับอักเสบซี ให้เข้ารับบริการตรวจคัดกรอง และรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันกันการเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ ลดการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับอันเนื่องมาจากโรคไวรัสตับอักเสบซีได้

 

 

รู้จัก “โรคไวรัสตับอักเสบบี”ภัยเงียบที่(อาจ)นำไปสู่ภาวะมะเร็งตับ ส่งเสริมเด็ก ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

ทั้งนี้ เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบี ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน กรมควบคุมโรค มีการส่งเสริมให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ควรตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก่อน และหากไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีให้ครบชุด จำนวน 3 เข็ม ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีให้ครบตามเกณฑ์ตารางการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กตามนัด

ป้องกันความเสี่ยง ไวรัสตับอักเสบบี

สำหรับวิธีป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคน ทุกช่องทาง สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรงดบริจาคเลือด หากต้องรับการผ่าตัด ทำฟัน หรือมีการตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง และหลีกเลี่ยง ปัจจัยเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบี ภายในปี 2573

ทั้งนี้ โรคไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี และรักษาได้ด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส เพื่อควบคุมปริมาณไวรัสในร่างกาย ลดภาวะการเกิดพังผืดของตับ ชะลอการเกิดตับแข็ง และลดการเกิดมะเร็งตับ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 

ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงเร่งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของ โรคไวรัสตับอักสบบี สามารถประเมินความเสี่ยงของตนเองและคนรอบข้าง หากมีพฤติกรรมเสี่ยงให้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองและการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีโดยเร็ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โทร.0 2590 3216 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา , กรมควบคุมโรค 

logoline