svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

อัตราว่างงานเมียนมาพุ่ง-แรงงานถูกกดขี่

25 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อัตราการว่างงานในเมียนมาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหารยกเลิกสิทธิด้านแรงงาน ทำให้นายจ้างพากันไล่ลูกจ้างออกตามอำเภอใจ และกำหนสภาพการทำงานที่โหดร้ายต่อคนที่ยังอยู่ต่อ

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ออกรายงานประเมินเมื่อต้นเดือนมกราคมว่า เมื่อปีที่แล้วมีแรงงานชาวเมียนมาตกงานมากกว่า 1.6 ล้านคน หรือเกือบ 3% ของประชากรเมียนมาที่มีอยู่ประมาณ 54 ล้านคน เพราะการระบาดของโควิด-19 และการประท้วงกับความรุนแรงทางการเมืองหลังรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยแม้แต่ในเมืองที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างย่างกุ้ง และเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวนมากก็ยังหางานยาก บางคนหางานมานานกว่า 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่ได้ 

 

ภาพ : Radio Free Asia

หญิงชาวเมียนมาคนหนึ่งบอกว่า เธอถูกให้ออกจากงานอย่างผิดกฎหมายมาเกือบ 1 เดือนแล้ว และจำเป็นต้องดูแลพ่อแม่วัยชรากับลูกสาวอีก 2 คน แต่เธออายุ 30 กว่าแล้ว ทำให้หางานยาก เธอบอกด้วยว่าตอนที่เป็นรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) การจ้างงานเลือกทักษะของลูกจ้าง แต่พอมาถึงรัฐบาลทหารนายจ้างคัดเลือกจากอายุ

 

หญิงคนนี้เป็นแรงงาน 1 ใน 1,000 คน ที่พยายามหางานทำที่นิคมอุตสาหกรรม ชเว ปี ธาร์ ส่วนประกอบที่สำคัญของภาคสิ่งทอมูลค่า 3,400 ล้านดอลลาร์ของเมียนมา จากตัวเลขของสมาพันธ์สหภาพการค้าแห่งเมียนมาระบุว่า เฉพาะที่ย่างกุ้งมีแรงงานด้านสิ่งทอมากกว่า 500,000 คน ขณะที่ตัวเลขของสมาคมผู้ประกอบการโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมาร์ระบุว่า เหลือโรงงานที่ยังดำเนินอยู่ 504 แห่ง จากทั้่งหมด 759 แห่ง

 

ภาพ : Radio Free Asia

แรงงานที่ยังทำงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมชเว ปี ธาร์ ได้รับค่าแรงเพียงวันละ 4,800 จ๊าต (88 บาท) และไม่สามารถทำโอทีได้เนื่องจากกระแสไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้โรงงานไม่สามารถดำเนินการอย่างเต็มประสิทธิภาพได้ แรงงานคนหนึ่งบอกว่าตั้งแต่อยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร เจ้าของโรงงานก็ไม่ยอมให้พนักงานลาป่วย และยังให้เซ็นเอกสารยินยอมให้ปรับลดสถานะการจ้างงานกรณีหยุดงาน เช่น ถ้าลางาน 1-2 วัน เพราะเหตุฉุกเฉินก็จะถูกลดเงินเดือนหรือไม่ได้รับโบนัส 

 

แรงงานอีกคนหนึ่งบอกว่าพวกนายจ้างพากันทำตามอำเภอใจ เพราะรู้ดีว่าแรงงานจะกล้าโต้แย้งเพราะพวกเขาจำเป็นต้องใช้เงิน พวกเขามีสิทธิ์จ้างและไล่คนออกได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ด้านอาสาสมัครช่วยเหลือแรงงานบอกว่า ได้รับการร้องเรียนเรื่องการถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรมเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคนที่ร้องเรียนว่าไม่ได้หยุดงานวันหยุด 

 

ภาพ : Radio Free Asia

logoline