20 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดงานประชุมนานาชาติ International Conference on “International Security and the Environment” ภายใต้แนวคิดที่ว่า ห้วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตหลากหลายรูปแบบ องค์กรต่างๆ รวมทั้งบุคคลจำนวนมาก ต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรอไม่ได้ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการแก้ปัญหาโลกเพื่อที่จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 2030
โดยการจัดงานดังกล่าว เพื่อเป็นเวทีสำหรับอภิปรายและแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงสร้างสรรค์ ร่วมกันถอดบทเรียนจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหภาพยุโรปในฐานะผู้นำด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศร่วมกับประเทศไทย กล่าวเปิดงานโดย ผศ.ดร.ไพลิน ภู่จีนาพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี
Dr. Céline-Agathe Caro ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทย (KAS) ดร.ประเสริฐ พัฒนพลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) และนายมนตรี บุญจรัส รองโฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เข้าร่วมงานด้วย โดยมีทั้งบุคลากรในภาคประชาสังคม ภาคการเมือง ประชาชน นักศึกษา และเยาวชนที่สนใจ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
โดย นายมนตรี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง (Connectivity Strategy) สำหรับอนาคตระหว่างประเทศ ในมิติเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านการเกษตร มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อการเติบโตไปสู่อนาคตที่มั่นคง ครัวเรือนไทยประกอบอาชีพหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่
ทั้งนี้ ภาคเกษตรเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครัวเรือนไทยในชนบท ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการรับจ้างในภาคเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ ยังคงมีปัญหาในด้านการผลิต ส่วนใหญ่ยังคงผลิตสินค้าเกษตรรายย่อย และยังขาดการวางแผนและการจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงปัญหาสำคัญอย่างราคาต้นทุนการผลิต คือ ปุ๋ย
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยพึ่งการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศสูงถึง 90-95% และปัจจุบันมูลค่าต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ทั้งๆที่ประเทศไทยมีทรัพยากรที่สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง คือ แม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมที่มีแหล่งแร่โพแทสเซียม อีกทั้ง มีการนำเข้าสารเคมีวัตถุอันตราย เฉลี่ยปีหนึ่งมูลค่า กว่าสามหมื่นล้านบาท ปริมาณแสนกว่าตัน
"ทางออกของการลดต้นทุนเกษตรกร คือ ประเทศไทยควรทบทวนเรื่องการสร้างโรงงานปุ๋ยแห่งชาติของตนเอง ซึ่งปัจจุบันนี้น่าจะคุ้มทุน รวมทั้งการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) เพื่อแลกเปลี่ยนปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 กับประเทศเพื่อนบ้าน เน้นการนำบายโพรดักส์ที่อยู่ในรูปปุ๋ยไนโตรเจนมาช่วยเกษตรกรให้มากขึ้น อีกทั้งส่งการเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น จุลินทรีย์ ทดแทนการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตราย เป็นต้น" นายมนตรี กล่าว