svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ไขคำตอบ “แพกซ์โลวิด” ถึงไทย 5 หมื่นคอร์ส เหมาะกับผู้ป่วยโควิดกลุ่มใดบ้าง?

15 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมการแพทย์ รับมอบยา “ยาแพกซ์โลวิด” 5 หมื่นคอร์สการรักษา จากบริษัทไฟเซอร์ ส่งต่อให้องค์การเภสัชกรรมวางแผนในการกระจายยารักษา ส่วน "ยาแพกซ์โลวิด" จะเหมาะกับผู้ป่วยโควิดกลุ่มใด และแตกต่างจาก “ยาโมลนูพิราเวียร์” หรือไม่ มาไขคำตอบได้ที่นี่

15 เมษายน 2565 กรมการแพทย์ ทำการลงนามในสัญญากับบริษัท ไฟเซอร์ฯ ส่งมอบ “ยาแพกซ์โลวิด” จำนวน 50,000 คอร์สการรักษา ส่งมอบให้ องค์การเภสัชกรรม จัดเก็บและกระจายยา เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด19 

 

สำหรับ ยาแพกซ์โลวิด ถือเป็นยากรักษาโควิดตัวใหม่สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมสำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีภาวะเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เพื่อช่วยลดการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิต รองรับสถานการณ์ช่วงหลังสงกรานต์ที่อาจมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นนั้น

 

แพกซ์โลวิด

 

พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก ให้ข้อมูลถึงยา แพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาเม็ดรับประทาน ว่า สำหรับยาดังกล่าวในแนวทางเวชปฏิบัติฯ สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด19 จะให้แก่คนไข้ที่มีโรคร่วม และร่วมกับมีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดไม่ครบ 3 เข็ม เนื่องจากหลักการเมื่อได้รับวัคซีนแล้วจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด ทำให้การติดเชื้อต่ำลง

 

“ หากไม่ได้รับครบ 3 เข็ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่รับวัคซีนไม่ครบจะเสี่ยง และควรได้รับยาตัวนี้ตามข้อบ่งชี้ แต่หากใครรับประทานยาบางตัวก็จะไม่สามารถรับยาตัวนี้ได้  ซึ่งกรณีนี้แพทย์จะทราบว่า จะจ่ายยาอย่างไร ”

 

ไฟเซอร์ ส่งมอบ แพกซ์โลวิด ให้กระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 11 เม.ย. 2565

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวอีกว่า ยาตัวนี้ใช้ในกลุ่มอาการรุนแรงไม่ได้ เพราะเวลาอาการรุนแรง ปอดอักเสบ จะเกิดหลังไวรัสเข้าไปแล้ว 5-10 วันขึ้นไป ซึ่งยาฆ่าเชื้อไวรัสต้องเน้นเร็ว เหมือน ยาฟาวิพิราเวียร์ มีประโยชน์ลดอาการ อย่างเจ็บคอ ให้เร็วลดอาการทันที ซึ่งตัวไวรัสจะเพิ่มมากที่สุดในช่วงเริ่มมีอาการต้นๆ ส่วนปอดอักเสบจะเกิด 5-10 วันขึ้นไป ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายเราหลั่งสารอักเสบออกมาโต้ตอบกับเชื้อไวรัส ตัวสารอักเสบเป็นตัวปัญหาทำลายปอด 

 

ดังนั้น การทานยาต้านไวรัส ไม่ได้ประโยชน์ช่วยลดปอดอักเสบ การทานยาต้านไวรัสจึงไม่ได้ประโยชน์ เพราะตอนนั้นไวรัสเริ่มลดแล้ว เพียงแต่ร่างกายเราโต้ตอบกับการอักเสบ ทำให้เกิดการอักเสบ ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นๆ จนรุนแรง

 

ไขคำตอบ “แพกซ์โลวิด” ถึงไทย 5 หมื่นคอร์ส เหมาะกับผู้ป่วยโควิดกลุ่มใดบ้าง?

 

“เมื่อปอดอักเสบแล้ว ในเรื่องการรักษาจะมียาลดการอักเสบตามมาตรฐานการรักษา เป็นไปข้อบ่งชี้การรักษา ซึ่งเรามีผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเรื่องนี้ และจะมีการปรับแนวทางเวชปฏิบัติใหม่เป็นฉบับปรับปรุงที่ 22 ซึ่งจะออกมาในเร็วๆนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ฉบับ 21 ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยเรามีการปรับตลอดเวลา” พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว

 

สำหรับ ยาโมลนูพิราเวียร์ และ ยาแพกซ์โลวิด มีความแตกต่างกันอย่างไร นั้น พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า  ข้อบ่งชี้เหมือนกัน เป็นแอนตี้ไวรัสต้องให้เร็วภายใน 5 วัน โดยกำหนดว่า ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง อย่างไม่ได้รับวัคซีน หรือรับไม่ครบโดส โดยเฉพาะกลุ่มอายุมาก โรคประจำตัว และหลายๆปัจจัย แต่บางเคสเป็นผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดที่กินยาแพกซ์โลวิดไม่ได้ ก็ต้องไปทานยาโมลนูพิราเวียร์ ทั้งนี้ ข้อบ่งชี้ในงานวิจัยที่เหมือนกันคือ ทั้งคู่ใช้ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง ปอดอักเสบไม่เยอะ  

 

ยาโมลนูพิราเวียร์

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวย้ำว่า ยา “แพกซ์โลวิด” ตัวนี้เมื่อรับมอบเสร็จ และจะกระจายส่งตามรพ.ใหญ่ๆ แต่ให้ทางผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ เป็นผู้พิจารณาตามเขตเอง ซึ่งหลักการไม่ได้ให้ทุกคน อยู่ที่การพิจารณาของแพทย์ ซึ่งยาตัวนี้จะให้เฉพาะกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย หรือเริ่มมีอาการถึงปานกลาง

 

ทั้งนี้ ยาแพกซ์โลวิด เป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ด ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (protease) ทำให้เชื้อไวรัสโควิดไม่สามารถสร้างโปรตีนที่จำเป็นต้องใช้ในการเพิ่มจำนวนได้ ยานี้ประกอบด้วย ยา Nirmatrelvir (150 มก.) จำนวน 2 เม็ด และยา Ritonavir (100 มก.) จำนวน 1 เม็ด  รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (ใช้ Nirmatrelvir 20 เม็ด และ Ritonavir 10 เม็ด/คน กลุ่มที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง คือ สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ผู้ที่การทำงานของตับหรือไตบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ใช้ยาบางชนิด

 

กระบวนการผลิต แพกซ์โลวิด ของบริษัท ไฟเซอร์ฯ (ภาพข่าว : รอยเตอร์)
 

ขอบคุณข้อมูล : เจาะลึกระบบสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

logoline