svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักวิชาการร่วมจัดงานวิจัยสมุนไพรและเห็ดยาต้านโควิด-19

09 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นักวิชาการ-นักชีวเคมี-นักวิจัย" ร่วมจัดงานประชุมวิชาการนำเสนอผลงาน "ความก้าวหน้างานวิจัยสมุนไพรและเห็ดยาต้าน covid 19" เพื่อนำพาประเทศฝ่าวิกฤตในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19

9 เมษายน 2565 พ.ต.ท.ดร.ภัทร์ หนังสือ แพทย์แผนไทย ผู้อำนวยการสถาบันแพทย์แผนไทยใหม่ เปิดเผยถึงการจัดงานประชุมวิชาการเรื่อง "ความก้าวหน้างานวิจัยสมุนไพรและเห็ดยาต้าน covid 19" ว่า ตนขอย้อนไปถึงต้นเรื่องของสมุนไพรไทยโบราณ ตำรับสมุนไพรครอบไข้ตักศิลา เป็นตำราที่ทำการสังคายนา เป็นสมุดดำ ลงลายลักษณ์อักษร ตามด้วยเส้นหรดาล เป็นสารของกลุ่มกำมะถันที่เป็นยาไทย มีทั้งหมด 51 เล่ม

 

ทั้งนี้ ตนไปอ่านตำราดูปรากฏว่า มีการตีพิมพ์ตำราฉบับนี้ในยุคหลังเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ปรากฏว่าในการตีพิมพ์ตำรานี้มีอยู่ทั้งหมด 51 ฉบับ ปรากฏสูญหายไป 3-4 ฉบับ ปัจจุบันเก็บรักษาในหอสมุดแห่งชาติ แต่โชคดีก่อนหน้าที่จะสูญหาย มีการคัดลอกมาก่อน 

 

โดยคัมภีร์ที่ทำการสังคายนากัน มี 1 คัมภีร์ จากทั้งหมด 14 คำภีร์ มีชื่อว่าตักศิลา เป็นคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับ ไข้ร้ายแรงทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ ไข้เหนือ ไข้พิษ และไข้กาฬ คัมภีร์นี้น่าจะยาวนานเป็นพันปี ตั้งแต่หมอชีวกหรือก่อนนั้น ภาษาที่ใช้แต่งก็เป็นภาษาบาลี 

 

อย่างไรก็ตาม โดยไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้กาฬ ในคัมภีร์ตักกะศิลา 77 จำพวก ซึ่งมีประเภทหนึ่งที่ใกล้เคียงกับเชื้อโควิค-19 คือ ไข้กำเดาน้อย-ใหญ่ มี 2 ประเภท ซึ่งไข้กำเดาใหญ่มีความเหมือนกับโรคโควิด-19 คือ มีอาการสะบัดร้อน สะบัดหนาว มีไข้ขึ้น มีอาการไอ เชื้อลงปอด

นอกจากนี้ ในคัมภีร์ยังบอกอีกว่า ถ้าบุคคลใดป่วยเป็นไข้เหล่านี้ ห้ามบริจาคเลือดในช่วงติดเชื้อ โดยในคัมภีร์ตักกะศิลา มียารักษาไข้ อยู่ 7 ขนาน ประกอบด้วย ยากระทุ้งพิษ แก้ว 5 ดวง หรือยา 5 ราก ยับยั้งไข้ได้ประมาณหนึ่ง ยาประสะผิวภายนอก กระทุ้งผิวภายนอก ยาพ่นภายนอก และเมื่อได้รักษามาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาการไข้ไม่ทุเลาลง ก็ให้กินยารักษาไข้เฉพาะ เรียกว่ายาครอบไข้ตักศิลา มีตัวยา 14 ตัว ดังนี้ จันทร์แดงจันทร์ขาว ง้วนหมู ใบผักหวานบ้าน กระลำพัก หัวคล้า รากฟักข้าว กฤษณา ใบสวาด รากจิงจ๊อ ใบมะนาว รากสะแก เถาย่านาง ขอนดอก

 

ซึ่งได้มีการพัฒนายาเหล่านี้ เป็นยาเคอร่า ในยาเคอร่าได้เลือก ตำรับสมุนไพรมา 9 ชนิด ก็นำมาจากคัมภีร์ตักกะศิลา จะเห็นว่าตัวยาเหมือนกัน ตัดตัวยาบางตัวออก เนื่องจากหายาก และได้จดขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ เป็นยาสมุนไพรขายได้ทั่วไป ทะเบียนยาเลขที่ G40/57 ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2562 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายตามร้านขายยาทั่วไปถูกต้อง

 

โดยผลิตภัณฑ์เคอร่า มีส่วนผสมของแก่นจันทน์แดง ซึ่งมีข้อพึงระมัดระวังในกลุ่มคนไข้ ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด หรือ ยาที่ลดตัวการก่อของเกร็ดเลือด เพราะอาจจะไปเพิ่มฤทธิยาได้ แต่ถ้าจำเป็นที่จะต้องทานเพื่อรักษาเชื้อโควิค ให้ทานในระยะสั้นๆ และระมัดระวังดูอาการเลือดออกในช่วงที่ทานยา

 

ทั้งนี้ การวิจัยล่าสุดพบว่า บอระเพ็ดมีสารประกอบอย่างน้อย 4 ชนิด ที่ช่วยยับยั้งเชื้อโควิด-19 โดยการไปขัดขวางการยึดเกาะระหว่างไวรัสกับเซลล์ สามารถปกป้องร่างกายที่อาจจะติดเชื้อได้ และยับยั้งเอนไซม์ในการขยายตัวของไวรัส  

นอกจากนี้ ในงานวิจัยเคอร่า ยังพบอีกว่า สมุนไพร 9 ชนิด มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส 100% แต่พอเวลาแบ่งออกมาเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส 80% ส่วนที่ 2 มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส 50% ส่วนที่ 3 มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส 20% ถ้าเอา 3 ส่วนนี้มาผสมกัน ว่าด้วยการคำนวณตามหลักวิทยาศาสตร์ คือ ต้องนำมาบวกกันแล้วหาร 3 ก็จะได้อยู่ที่ประมาณ 50 -60 % แต่ปรากฏว่า ถ้านำ 3 ตัวนี้มาบวกกัน ได้ถึง 100% นี่คือคุณค่าของตำรับยาสมุนไพรไทย และที่สำคัญยาเคอร่า แทบไม่มีผลข้างเคียง 

 

พ.ต.ท.ดร.ภัทร์ กล่าวด้วยว่า ในงานวิจัยพบฤทธิ์ของเคอร่า สามารถที่จะยับยั้งไวรัสได้กว้างขวาง เช่น ยับยั้งไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 โดยยับยั้งเอนไซม์ Neuraminidase ยับยั้งไวรัสโควิค- 19 ยับยั้งไวรัสเริม งูสวัด ยับยั้งไวรัส HIV ยับยั้งไวรัส FIV หรือเอดส์แมว และยับยั้งโคโรน่าไวรัสแมว ขณะเดียวกันกำลังวิจัยไข้เลือดออก และจากที่ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือประชาชน จึงทำให้เห็นว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบสาธารณสุข การจัดงานนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะเป็นการประชุมเชิงวิชาการนำเสนอเรื่องข้อมูลต่างๆในงานวิจัยและนำเสนอแนวทางไปสู่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ไขวิกฤตของชาติ ด้วยตำรับยาสมุนไพรต่อไปในอนาคต

 

ขณะที่ รศ.ดร.เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า งานวิจัยที่ตนศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการค้นหาสมุนไพรที่ยับยั้งมะเร็ง ยับยั้งไวรัส งานสมุนไพรที่ผ่านเข้ามาก็มีทั้งใช้ได้และใช้ไม่ได้ แต่มี 1 ตัวที่ใช้ได้ ก็คือเคอร่าที่ได้ทำการทดลอง ผลงานที่ทำทั้งหมดได้ส่งไปตีพิมพ์ ในนิตยสารนานาชาติ กำลังรอผลตอบรับอยู่ ว่าจะได้รับการตอบรับหรือไม่

 

ทั้งนี้ จากการศึกษา พบว่า ไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่เซลล์ ดังนั้นเป้าหมายของนักวิทยาศาสตร์ก็คือ หาอะไรไปยับยั้งเอนไซม์ 2 ตัว อย่าง ยาฟาวิพิราเวีย หรือโมลโนพิราเวีย ล้วนเป็นยาที่ไปยับยั้งเอนไซม์ ฉะนั้นการยับยั้งเอนไซม์เป็นกลไกหลัก ในการค้นหายาทำยาต้านไวรัส คือสิ่งที่ได้ทำการศึกษาในโปรตีน 2 ตัวที่ห้องปฏิบัติการ โดยปัจจุบันงานวิจัยมีการทดลองในคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ได้ทดลองของจริง อาจจะไม่ใช่ผลที่แท้จริง แต่ที่ตนได้ทำการวิจัย เป็นการทดลองจริง ในห้องปฏิบัติการจะแตกต่างออกไป จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

 

ซึ่งการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ sar-cov2 จะมีการใช้ยามาตรฐานในการเปรียบเทียบ คือ lopinavir กับ ritonavir เป็นยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย.แล้ว ในการรักษา โรคเอดส์ ส่วนยา A.paniculata คือ ฟ้าทะลายโจร และนำมาทดสอบเทียบคู่กัน และตัวสุดท้ายคือ เคอร่า เปรียบเทียบให้เห็นความเข้มข้น ที่เท่ากัน ของยาทุกตัว แต่เห็นว่าประสิทธิภาพของยาเคอร่า สูงกว่ายาทุกตัว

 

จากผลการวิจัยสามารถสรุปได้ว่า เคอร่าสามารถยับยั้ง การทำงานของเอนไซม์ sars-coV-2 เนื่องจากการทดลองโดยใช้ไวรัสโควิด19 ในห้องปฏิบัติการในส่วนของตน ทดลองไวรัสโคโรน่าในแมว พบว่า ไวรัสโคโรน่าในแมวมีความคล้ายคลึงกับไวรัสโคโรนาในคน เอนไซม์ทุกตัวเหมือนกัน 98-98% มีความแตกต่างกัน ตรงเข้าไปในเซลล์ เมื่อเราทดลองเคอร่า ไวรัสสามารถลดปริมาณลง จากประมาณ 10 ล้าน เหลือประมาณ 6 แสน ถ้าเทียบตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 98% เป็นค่าที่สามารถจะไปทดลองในคนได้ อีกทั้งได้มีการทดลองเคอร่าต่อฤทธิ์การอักเสบ ได้เกือบ 80% ด้วย

 

ด้าน นพ.รังสรรค์ บุตรชา โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการผลิตวัคซีนที่เป็นการทำตามเชื้อไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงว่า เชื้อไวรัสโควิด 19 มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมาก ส่วนวัคซีนก็มีชนิดเชื้อตาย คือ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และเมื่อเปลี่ยนแปลงไปมากจนจำหน้าไม่ได้ ชนิดที่สองก็คือ ไวรัลเวคเตอร์ คือ แอสตร้าเซเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้ออ่อน แล้วใส่สารไวรัสเข้าไป เพื่อให้ร่างกายจดจำ

 

บุคคลใดฉีดแอสตร้าเซเนก้าก็จะมีอาการเป็นไข้ ปวดตามเนื้อตามตัว ประมาณ 2 วัน ส่วนตัวสุดท้าย คือไฟเซอร์และ moderna เป็นชนิด mrna ส่วนการฉีดเข็ม 4 เข็ม 5 ก็ต้องดูในอนาคตต่อไป ถ้าโอมิครอนอ่อนตัว ร่างกายก็จะสร้างภูมิ สร้างวัคซีนธรรมชาติขึ้นมาเอง ถึงจะอยู่ได้คงทน ถ้าคนที่ติดแล้วอาการไม่รุนแรง โอกาสก็จะไม่ติดโอมิครอน แต่เชื้อโอมิครอนก็มีโอกาสผสมพันธุ์กับสายพันธุ์อื่น แต่ยาเคอร่าสามารถไปยับยั้ง โปรตีน 2 ตัว หากดูการวิจัยที่ตนทำเป็นการศึกษาย้อนหลัง ในการรักษาผู้ป่วยแบบ Home isolation โดยการทานยาอยู่ที่บ้าน ซึ่งการวิจัยนี้ ได้รับความยินยอมจากคนไข้ทั้งหมดภายใต้จริยธรรม ในช่วงกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2564 เป็นช่วงของการระบาด ที่สายพันธุ์โอมิครอนยังไม่มา

 

ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ทำมีจำนวนทั้งหมด  2476 คน โดยมีเกณฑ์ว่า ต้องตรวจ ATK ผลเป็นบวก อายุ 18 ปีขึ้นไป สื่อสารได้เป็นภาษาไทย ทุกคนที่ตรวจพบก็จะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ และมีน้ำมูก เหมือนไข้หวัดจากนั้นในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ก็มาดูว่ารับประทานยาอะไรบ้าง โดยแบ่งเป็นกลุ่มคนที่กินยาเคอร่าอย่างเดียว จำนวน 2,351 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่สุด กินยาพาราเซตามอล 52 คน ฟ้าทะลายโจร 31 คน ยาลดไข้อื่น 30 คน ยาแก้ไอ 6 คน ยาฆ่าเชื้อ 5 คน และน้ำขิง 1 คน

 

ทั้งนี้ พบว่า คนที่หายจากการติดเชื้อ มี 67% ในช่วง 1-7 วัน ตรวจพบ ไม่มีอาการแล้ว และหายวันที่ 8-10 มี 21 % จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อทานยาเคอร่า หายแน่นอนภายใน 10 วัน และภายใน 15 วัน สำหรับคนที่กินเคอร่าหาย 99% ส่วนผลข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่มีท้องเสีย 6 คน เวียนศีรษะ 1 คน ถ่ายสีเข้ม 1 คน ขณะที่ผลสำรวจความพอใจในการใช้ยาเคอร่า 99.6% พึ่งพอใจหายป่วย ส่วนอีก 8 ราย ไม่แน่ใจ จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ไม่มีผู้ใดกลายเป็นกลุ่มสีเหลืองหรือสีแดง ตนจึงแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลไทยไม่สนับสนุนสมุนไพรไทยที่มีราคาถูกกว่ายานอก 

 

ด้าน ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันอานนท์ไบโอเทค กล่าวว่า ตนมีความเชี่ยวชาญเรื่องเห็ด เพราะเคยร่วมงานในองค์การสหประชาชาติ ระหว่างปี 2524-2548 โดยก่อนหน้านี้ตนเองเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก และไม่สามารถรักษาได้ และเป็นโรคเบาหวานไทด์2 ตนจึงไม่อยากใช้ยา จึงตัดสินใจไปสอนอยู่ทาง ประเทศภูฏาน สมเด็จพระสังฆราช ท่านก็บอกว่าที่ภูฏาน ใช้เห็ดเป็นยา ไม่ได้ใช้เห็ดทานเป็นอาหารอย่างเดียว ท่านจึงแนะนำให้ตนเอาเห็ดเป็นยารักษาโรคตัวเอง จนมีความรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น ผลสุดท้ายจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยา พอตนไปอยู่ที่ประเทศแอฟริกา ซึ่งพบคนที่มีปัญหาเรื่องไวรัส ตั้งแต่ HIV อีโบล่า เป็นต้น ปรากฏว่า ก็พบอีกหลายประเทศใช้เห็ดเป็นยา

 

ขณะที่ในประเทศไทยตนเป็นคนสอนเรื่องเห็ด ตั้งแต่ปี 2515 ช่วงนั้นประเทศไทยยังไม่ค่อยมีเรื่องการเพาะเห็ดส่งออก ขณะเดียวกันกลับนำเห็ดเข้ามาจากต่างประเทศ จึงได้เปิดอบรม ในปี 2515 และปี 2520 จนกระทั่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตเห็ดฟางมากที่สุดในโลก จนกระทั่งตนได้มาเปิดสถาบันอานนท์ไบโอเทค เรื่องเห็ดเป็นยา จนได้ใช้เห็ดเป็นยาในการรักษาโรคมะเร็ง และตนเคยได้ใช้เห็ดมารักษาให้กับนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ปรากฏว่านายสมัครก็มีสุขภาพที่ดีขึ้น

 

และในช่วงที่โควิดระบาดใหม่ๆ ในช่วง 2 เดือนแรก ตนได้ไปจัดเสวนาเรื่องเห็ดเป็นยา ที่โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี โดยมีการจับกลุ่ม 500 คน และในกลุ่ม 500 คน แทบไม่มีใครฉีดวัคซีน และไม่มีใครติดโควิดเลย โดยพบว่าเห็ดเป็นตัวเสริมภูมิ โดยเฉพาะเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงจะช่วยได้ ในเห็ดนั้นตัวที่ทำงานคือเส้นใย เห็ดพิมานหรือเห็ดเกือกม้าสามารถบำรุงเลือดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากตับปอด เห็ดกระดุมบราซิล ช่วยเสริมภูมิป้องกัน เห็ดถังเช่า และเห็ดเยื้อไผ่เสริมภูมิคุ้มกันได้อย่างดีและยับยั้ง อาการอักเสบ ดังนั้นจะเห็นว่าเห็ดดีกว่าสมุนไพร ทำไมสิ่งนี้จึงไม่อยู่ในการวิจัยในประเทศไทย

logoline