svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

จีน-แคนาดา ค้นพบซาก ‘สัตว์เลื้อยคลานในทะเล’ ยุคไดโนเสาร์ ชนิดใหม่

09 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณะนักบรรพชีวินวิทยาของจีนและแคนาดา รายงานการค้นพบซากฟอสซิลกระดูกสันหลังของสัตว์เลื้อยคลานในทะเลขนาดใหญ่ชนิดใหม่จากหินปูนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยมีชีวิตอยู่ในยุคไดโนเสาร์

9 เมษายน 2565 สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ผลการศึกษาในวารสารเพียร์เจ (PeerJ) เมื่อวันพฤหัสบดี (7 เม.ย.) ระบุว่า คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์จีน และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟิลิป เจ. เคอร์รี (Philip J. Currie) ในแคนาดา ยืนยันว่า ซากฟอสซิลกระดูกดังกล่าวเป็นของ สัตว์เลื้อยคลาน ในทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นญาติของสัตว์เลื้อยคลานในทะเลในวงศ์อิกทิโอซอร์ (ichthyosaur)

 

อิกทิโอซอร์ เคยมีชีวิตอยู่ในยุคมีโซโซอิก (Mesozoic era) เมื่อ 251-65.5 ล้านปีก่อน โดยพวกมันมีจำนวนมากและหลากหลายที่สุดในยุคไทรแอสซิก (Triassic) และยุคจูราสสิก (Jurassic) ซึ่งเป็นช่วงที่ไดโนเสาร์ครองแผ่นดิน

 

ภาพจากคณะนักวิจัย : กระดูกสันหลังของสัตว์เลื้อยคลานในทะเลที่เพิ่งค้นพบใหม่ โดยลูกศรชี้ซี่โครงที่ปรากฏเป็นส่วนตัดขวาง

ซากฟอสซิลดังกล่าวประกอบด้วยส่วนหน้าของโครงกระดูกลำตัว ซึ่งรวมถึงกระดูกสันหลังและซี่โครงบางส่วน กระดูกแขนขา และกระดูกส่วนท้องที่เรียกว่าแกสเตรเลีย (gastralia)

 

คณะนักวิจัยเปรียบเทียบ ซากฟอสซิลนี้กับสัตว์เลื้อยคลานในทะเลชนิดอื่นๆ ในยุคไทรแอสซิกตอนต้น ก่อนสรุปลักษณะให้เป็นซากฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานในทะเลสายพันธุ์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งคณะนักวิจัยตั้งชื่อว่าไบเซซอรัส โรบัสตัส (Baisesaurus robustus)


 

สัตว์เลื้อยคลานในทะเลชนิดนี้น่าจะมีความยาวประมาณ 3 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสัตว์เลื้อยคลานในทะเลอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายวงศ์อิกทิโอซอร์ในจีนอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีกระดูกแขนขาท่อนนอก (radius) ที่แข็งแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ความสามารถว่ายน้ำที่แข็งแกร่ง โดยอาจเป็นไปได้ว่าใช้สำหรับอพยพทางไกลตามแนวชายฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรโบราณ

 

ภาพและข่าว : สำนักข่าวซินหัว

logoline