svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

แม่ร่ำไห้รพ.เอกชนไร้เยียวยาลูกสาวพิการนาน5ปี

25 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เชียงใหม่ – คุณแม่วัย 47 ปี ร่ำไห้วอนสื่อช่วย หลังรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง บริการไม่ได้มาตรฐานตอนคลอด ทำลูกสาวกลายเป็นผู้พิการซ้ำซ้อนตั้งแต่แรกเกิดมานานกว่า 5 ปี แม้ทางสปสช.ชี้ว่ารพ.ผิด ขณะที่ทางรพ.ยื่นข้อเสนอจ่าย 2 ล้านบาท แต่ครอบครัวมองว่าไม่เป็นธรรม ทำให้ตกลงกันไม่ได้

     วันที่ 25 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากสามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่ลูกสาวได้รับผลกระทบจากการบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ส่งตัวภรรยาไปทำคลอดที่โรงพยาบาลของรัฐ จนทำให้บุตรสาวที่เกิดออกมากลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง พิการซ้ำซ้อน ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หูหนวก และ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา แม้ว่าทางหน่วยงานของรัฐอย่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ระบุว่ารพ.เอกชนแห่งนี้ บริการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แต่ยังไม่สามารถตกลงแนวทางเยียวยากับโรงพยาบาลดังกล่าวได้

 

     ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง ในหมู่บ้านเสาหิน ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบน.ส.นฤมล รัตนนพนันท์  อายุ 47 ปี กำลังดูแล น้องปังปัง ด.ญ.ปาณิศา รัตนนพนันท์ ลูกสาววัย 5 ขวบ 7 เดือน ที่กลายเป็นเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวตั้งแต่แรกเกิด ต้องนอนอยู่แต่บนเตียงและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา โดยอาการป่วยเกิดจากการบริการไม่เป็นไปตามมาตรฐานของรพ.เอกชนแห่งนี้

แม่ร่ำไห้รพ.เอกชนไร้เยียวยาลูกสาวพิการนาน5ปี

 

     นางสาวนฤมล กล่าวว่า เมื่อปี2559 ตนเองตั้งครรภ์น้องปังปัง ซึ่งเป็นบุตรคนที่ 3 ตนเองได้ใช้สิทธิ์บัตรทองฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 7 ก.ค.2559 ได้ไปตรวจครรภ์ตามนัด อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ แพทย์บอกว่าครรภ์ปกติ

 

    หลังจากนั้นวันที่ 8 ก.ค.2559 ตนเองได้มีอาการเจ็บครรภ์ จึงได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ แพทย์ห้องฉุกเฉินตรวจครรภ์และส่งขึ้นห้องคลอดทันที แต่เมื่อถึงห้องคลอดพบว่าเด็กไม่กลับหัว แต่เอาเท้าออกมา 1 ข้าง แพทย์เวรจึงทำเรื่อง ส่งต่อไปที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง  เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีหน่วยบริบาลทารกแรกเกิด โดยระหว่างนำส่งไม่มีแพทย์เฉพาะทางไปด้วย มีเพียงพยาบาลห้องคลอดและผู้ช่วยพยาบาลนั่งไปด้วย ปรากฏว่าระหว่างทางเด็กได้คลอดออกมา โดยที่ส่วนหัวยังติดอยู่กับช่องคลอดในรถฉุกเฉิน ได้ยินเสียงพยาบาลบอกว่าเด็กตัวเขียวเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

แม่ร่ำไห้รพ.เอกชนไร้เยียวยาลูกสาวพิการนาน5ปี

     เมื่อถึงโรงพยาบาลรัฐ ทีมแพทย์ได้ให้การช่วยเหลือ แต่พบว่าเด็กที่คลอดออกมา ไม่หายใจแล้ว แพทย์ได้ฟื้นคืนชีพและใส่เครื่องช่วยหายใจรวมถึงการเจาะคอ จนเป็นสาเหตุให้น้องปังปังกลายเป็นเด็กพิการมาจนถึงทุกวันนี้ โดยตอนนี้น้องมีภาวะโรคปอดเรื้อรัง ต้องใช้เครื่ิองช่วยหายใจ ดูดเสมหะผ่านท่อที่ต่อกับคอ รับอาหารผ่านสายยาง และ ยังมีปัญหาภาวะสมองพัฒนาการช้า

 

    นางสาวนฤมล เล่าทั้งน้ำตาต่อว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ต้องลาออกจากงานประจำที่เป็นพนักงานในร้านจำหน่ายสินค้ามือสอง เพราะต้องมาดูแลบุตรสาวที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ เช่นเดียวกับสามีที่ทำธุรกิจค้าขายของเก่าที่ไม่สามารถเดินทางไปรับส่งสินค้าได้ตามปกติ เพราะต้องมาคอยเปลี่ยนกันดูแลลูก ส่วนพี่สาวของน้องปังปังอีกสองคนก็ต้องออกจากโรงเรียน มาเรียนกศน.แทน เพื่อช่วยกันดูแลน้องสาวคนสุดท้อง

แม่ร่ำไห้รพ.เอกชนไร้เยียวยาลูกสาวพิการนาน5ปี

    เรื่องที่เกิดขึ้นทางครอบครัวได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปหลายหน่วยงาน ทั้ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แพทยสภา และ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ซึ่งในตอนแรกการวินิจฉัยระบุการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ทางครอบครัวได้อุทธรณ์

 

    จนกระทั่ง 12 ก.ค. 2564 ทางสปสช. แจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ ระบุว่าการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ( 1 ) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยเห็นว่าการนำส่งโดยไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นการส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และในการดูแลผู้ป่วยรายนี้ที่เข้าสู่ระยะการคลอดและเป็นการคลอดผิดปกติ ไม่มีสูติแพทย์มาตรวจอาการ ทำให้การดูแลรักษามีความล่าช้า จึงเป็นการให้บริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขด้วยเช่นกัน

แม่ร่ำไห้รพ.เอกชนไร้เยียวยาลูกสาวพิการนาน5ปี

    นางสาวนฤมล บอกว่า ตลอด 5 ปี ไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ แต่หลังได้คำวินิจฉัยจาก สปสช. ทางครอบครัวได้นัดเจรจากับทางโรงพยาบาลหลายครั้ง ทุกครั้งทางโรงพยาบาลยืนยันว่าไม่ผิด แต่ได้ยื่นข้อเสนอเยียวยาให้กับครอบครัวเป็นเงิน 2 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม หากไม่พอใจให้ให้ไปพิสูจน์กันที่ศาล แต่ทางครอบครัวเห็นว่าไม่เป็นธรรม ปัจจุบันสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยมีทนายความเข้ามาช่วย เตรียมฟ้องดำเนินคดีเรียกค่าชดเชยความเสียหายกับทางโรงพยาบาล

 

“การดูแลน้องปังปังตั้งแต่แรกคลอดมาจนถึงวันนี้ ทำให้ครอบครัวมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าจากการต้องเปิดเครื่องผลิตออกซิเจนตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งค่าอาหารทางการแพทย์ รวมทั้งกางเกงผ้าอ้อม รวมแล้วเดือนละกว่า 6,000 บาท โดยรายได้ที่ลดลงทำให้ทุกวันนี้ยังค้างจ่ายค่าไฟฟ้ามานานกว่า 1 ปี แต่โชคดีที่การไฟฟ้ายังเห็นใจผ่อนผันให้ เช่นเดียวกับค่าเช่าบ้านที่ยังค้างจ่ายอีกหลายเดือน โดยปัจจุบันตนเองกับสามีเปิดขายหมูปิ้งในช่วงเช้า และ ขายปิ้งย่างริมถนนในช่วงเย็น แต่ก็มีรายได้ไม่เพียงพอ” นางสาวนฤมล กล่าว

 

ข่าว / ภาพ เกรียงไกร รัตนา ศูนย์ข่าวเนชั่นภาคเหนือ

แม่ร่ำไห้รพ.เอกชนไร้เยียวยาลูกสาวพิการนาน5ปี

 

logoline