svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปมร้อนลุกลามในใจ "อุ๊งอิ๊ง" หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ไม่สามารถแก้ตก

ทุกจังหวะการเคลื่อนไหวทางการเมือง "อุ๊งอิ๊ง" บุตรสาวทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับตำแหน่ง "หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย" พยายามคิดหาสร้างประเด็นใหม่กลบจุดอ่อนของตนเอง แต่ทว่า กลับมีประเด็นหนึ่งและเป็นประเด็นสำคัญที่ "อุ๊งอิ๊ง" ไม่สามารถหาคำอธิบายหักล้างได้สำเร็จ

 

ทันทีที่ แพทองธาร ชินวัตร หรือ "อุ๊งอิ๊ง"  บุตรสาวคนสุดท้องของอดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร   ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการรับตำแหน่ง "หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย"  ในการจัดกิจกรรม "ครอบครัวเพื่อไทย : บ้านหลังใหญ่ หัวใจเดิม" ภายในศูนย์ประชุมมณฑาทิพย์ จังหวัดอุดรธานี ทำให้        สปอตไลท์ทางการเมืองสาดส่องมาที่ "อุ๊งอิ๊ง"  อีกครั้ง 

แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนสุดท้องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

 

เป็นการสาดส่องที่ไม่แพ้กับการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 64  โดย "อุ๊งอิ๊ง"  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย

 

เพราะไม่เพียงแต่นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์  เกี่ยวกับตำแหน่ง "ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย"  มาถึงตำแหน่ง "หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย" ตามที่พรรคเพื่อไทยพยายามปลุกปั้นตำแหน่งต่างๆให้ บุตรสาวอดีตนายกฯทักษิณแบบเรียบๆเคียงๆขี่ม้ารอบค่าย  

 

เพราะแต่ละตำแหน่งล้วนบ่งบอกถึงการพยายามสร้างบทบาทนำทางการเมืองให้ "อุ๊งอิ๊ง" โดดเด่นอย่างสม่ำเสมอ

   

คงไม่แปลกที่ บุตรสาวอดีตนายกฯ รายนี้ พยายามบ่ายเบี่ยงตอบคำถามตรงๆ เกี่ยวกับแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย โดยรอให้มีการยุบสภาเสียก่อน  

 

อีกเช่นกัน ในแต่ละบทตอนของการเคลื่อนไหวจัดหนักจัดเต็มเพื่อให้สปอต์ไลท์สาดส่องออกมาเป็นข่าวหน้าหนึ่งพาดหัวตัวไม้

 

จากเมื่อวันที่ 28 ต.ค.64  "แพทองธาร" เคยประกาศลั่นผ่านเวทีขอนแก่น  

 

"ในฐานะคนไทยและลูกของคุณทักษิณที่ไม่เคยลืมพี่น้องคนไทย และคนไทยก็ไม่เคยลืมพ่อ ซึ่งพ่อหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะกลับมากราบแผ่นดินไทยอีกครั้ง"  


แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.65  หรือผ่านมาห้าเดือนให้หลัง คำประกาศที่อยากพาพ่อกลับมากราบแผ่นดินไทยก็เปลี่ยนไป 

 

"เรื่องของคุณพ่อ (ทักษิณ ชินวัตร ) ที่ประกาศจะกลับประเทศเป็นเพียงเรื่องส่วนตัวที่ตั้งใจจะกลับมาเลี้ยงหลานเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพรรคเพื่อไทย" 

 

อย่างที่กล่าวไว้ แต่ละห้วงจังหวะการเคลื่อนไหวของ "อุ๊ง อิ๊ง" บุคคลที่กำลังถูกขับเน้นจากคนแดนไกลให้ลุ้นเก้าอี้นายกฯ ต้องมีการตระเตรียมบทแถลง การให้สัมภาษณ์ หักล้างจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยและตนเอง ให้กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบทางการเมือง 


แต่ทว่า กลับมีอยู่ประเด็นหนึ่งและเป็นประเด็นสำคัญ ที่"อุ๊ง อิ๊ง"ไม่สามารถหาคำอธิบายหักล้างได้สำเร็จ นั่นคือ กรณีการสอบเอ็นทรานซ์ เข้ามหาวิทยาลัย ในปี 2547  ที่แม้ผ่านมา 18 ปี ก็ยังเป็นปมปริศนาคาใจประทับตราไว้ในแวดวงอุดมศึกษา   

 

ปมร้อนลุกลามในใจ \"อุ๊งอิ๊ง\" หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ไม่สามารถแก้ตก

 

ก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์ ไชยันต์ ไชยพร  เคยโพสต์ เฟซ บุ๊ก ว่า ปมปริศนาความไม่เสมอภาคและความอยุติธรรมทางการศึกษาในปีพ ศ 2547  กรณีข้อสอบ Entrance ปี 47 รั่ว  พร้อมขึ้นข้อความว่า    

 

"แพทองธาร" คะแนนสูงมหัศจรรย์

เมื่อคะแนน Ent ครั้งนั้นออก 

ผลการสอบของลูกสาวนายกฯ เทียบกับครั้งแรกตะลึง

ภาษาไทย จาก 52 เพิ่มเป็น 72

สังคม จาก 41.25 เพิ่มเป็น 67.5 

ภาษาอังกฤษจาก 64 เพิ่มเป็น 84 

คณิตศาสตร์ 2 จาก 27 เพิ่มเป็น 63 

 
ครั้งนั้น   "แพทองธาร ชินวัตร"  โพสต์ข้อความแอปฯ Instagramชื่อ@ingshin21 ในโหมดสตอรี่ตอบคำถามถึงกรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่วปี 2547ในช่วงที่เจ้าตัวสอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จุฬาฯเส้นเข้าได้ด้วยเหรอ คำถามบางทีต้องใช้วิจารณญาณด้วย สอบเข้าไปเอง อ่านหนังสือ เรียนพิเศษเป็นบ้าเป็นหลังเหมือนเด็กที่เตรียมเอ็นทรานซ์ในสมัยนั้นทุกคน

 

"ขอบคุณทุกคนครับ ขอบคุณทุกกำลังใจด้วยนะ สบายมาก เรื่องนี้เก่าไปมาก เค้าสอบสวนกันจบเรียบร้อยตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนแล้ว จะ 20 ปียังนะ ยังต้องขุดแหละ เดี๋ยวไม่มีสีสันไปทำอาหารให้ลูกดีกว่า วันเสาร์แล้ว"  แพทองธาร" ระบุ


คำอธิบายของ"แพทองธาร"  ดูจะไม่ได้ทำให้สังคมเกิดความกระจ่างชัดหรือช่วยไขความคาใจ

 

ตรงกันข้าม แวดวงนักวิชาการ นักการศึกษา พยายามค้นหาเบื้องหน้าเบื้องหลังมีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ เพื่อหาทางแก้ไขป้องกันไม่ให้เกิดรอยด่างพร้อยในวงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ดีกว่า ตัดบทจบสั้นๆห้วนๆ แบบที่ "อุ๊งอิ๊ง" บุตรสาวของคนแดนไกลที่กำลังปลุกปั้นไขว่คว้าเก้าอี้ผู้นำประเทศ  

 
"ไชยันต์  ไชยพร"  คือ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำสถาบันที่ "อุ๊งอิ๊ง"สอบเข้า ได้ค้นหารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงขณะนั้นมาตีแผ่โดยสรุปให้เข้าใจง่าย   

 

ด้วยเนื้อหาดังนี้ 

 

ศ.ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดซองต้นฉบับการ์ดข้อสอบ วิชาภาษาไทยและ วิชาสังคมศึกษาก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการพิมพ์ข้อสอบ

 

ผลสรุปเอ็นทรานซ์รั่ว “ทักษิณ-อดิศัย”ต้องรับผิดชอบ(14 มิ.ย.47)


สรุปเอ็นทรานซ์รั่ว "ทักษิณ-อดิศัย"ต้องรับผิดชอบ
กรณีข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเอ็นทรานซ์รั่วที่ปรากฎขึ้นในรัฐบาลชุดนั้นถือเป็นรอยด่างให้กับวงการศึกษาไทยครั้งใหญ่ ทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อระบบการสอบเอ็นทรานซ์ที่เคยได้รับความเชื่อถือศรัทธามานานนับสิบปีต้องสั่นคลอนอย่างหนัก

 

ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่างยืนยันว่า "ข้อสอบไม่รั่ว" รวมทั้งแสดงพฤติกรรมปกป้องคนผิดมาตลอด 

 

เมื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุด นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธาน มีข้อสรุปว่า "ข้อสอบรั่ว"

ศูนย์วิจัยฯ พรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้น เห็นว่าเมื่อผลสรุปออกมาแบบนี้ ทั้งนายกฯทักษิณ และ รมต.อดิศัย ต้องแสดงรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ผลสรุปคณะกรรมการสอบสวนฯ ตบหน้า “ทักษิณ-อดิศัย”


ก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเหตุการณ์อื้อฉาว สังคมตั้งข้อสงสัยเรื่องข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว เพราะมีการเปิดเผยพฤติกรรมของข้าราชการระดับสูงบางคน โดยเฉพาะ ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(ก.อ.) ว่าไม่โปร่งใส มีการเปิดดูข้อสอบหรือนำข้อสอบไปเก็บไว้ในห้องทำงาน

 

ในครั้งนั้นบรรดานักเรียน ผู้ปกครองรวมทั้งประชาชนทั่วไปเกิดความสงสัยและเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาโดยเร็ว 

 

แต่ปรากฎว่า ได้รับการขัดขวางทุกวิถีทางทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะนายกฯทักษิณ และรมต.อดิศัยต่างออกมาปฏิเสธ และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด 

 

อีกทั้งในบางครั้งยังออกมาพูดในทำนองว่าเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นเป็นเกมการเมืองหรือมีบางกลุ่มต้องการสร้างกระแสเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสสังคมเริ่มกดดันขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลทนฝืนกระแสต่อไปไม่ไหว ก็มีการย้าย ร.ต.อ.วรเดช ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา แทนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้คลายความสงสัยกับสังคม หรือยังมีการตบรางวัลความดีความชอบตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพิ่มให้อีก 2 ขั้น


ที่สุดแล้วเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงต้องยอมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และมีข้อสรุปในเวลาต่อมาว่า "ข้อสอบรั่ว" 


รวมทั้งยังระบุว่า การกระทำของ ร.ต.อ.วรเดช เป็นการไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 ข้อ 30 


เพราะในรายงานการสอบสวนยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนอีกว่า ร.ต.อ.วรเดช เป็นผู้เปิดดูซองข้อสอบและเปลี่ยนแปลงสถานที่เก็บข้อสอบถึงสองครั้ง

 

พฤติกรรมดังกล่าวของ ร.ต.อ.วรเดช ทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงยังระบุว่า มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ฐานปฏิบัติราชการไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการและมติคณะรัฐมนตรี ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการตามมาตรา 85และมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 และมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่


ดังนั้น เมื่อรายงานผลการสอบสวนออกมาตรงกันข้ามกับท่าทีและคำยืนยันของผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล 
สังคมจึงต้องการรู้ว่า ทั้งสองคนดังกล่าวจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

 

"อดิศัยท้าทายสังคม "ตัดตอน" ผลสอบเอ็นทรานซ์รั่ว" 

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อะไรคือสาเหตุจูงใจให้ ร.ต.อ.วรเดช และ รมต.อดิศัย ถึงกล้าแสดงพฤติกรรมที่ท้าทายสังคมมาตลอด 

 

อย่างไรก็ดี ถ้าหากมองย้อนไปในอดีตแล้วก็สามารถเชื่อมโยงได้ทันทีจากคำพูดของนายกฯทักษิณ ที่เคยกล่าวว่า จะให้ นายอดิศัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไปจนครบ 4 ปี ซึ่งถือว่าเป็นการประกันเก้าอี้กันไว้ล่วงหน้า ทำให้หลายฝ่ายเข้าใจนี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ รมต.อดิศัย ไม่สนใจต่อสังคมมากนัก


ประกอบกับเวลานี้สิ่งที่สังคมยังตั้งข้อสงสัยและไม่พอใจคือ ความพยายามในการบิดเบือนข้อสรุปของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจาก นายอดิศัย โพธารามิก ที่เคยออกมาแถลงรายงานผลการสอบสวนเพียงบางส่วนโดยสรุปเหลือเพียง 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 15 หน้า 

 

การแถลงดังกล่าวของ นายอดิศัย ทำให้หลายฝ่ายรวมทั้ง นายสุเมธ ถึงกับแสดงความผิดหวังพร้อมทั้งระบุว่า นายอดิศัยพยายาม "ตัดตอน" ผลการสอบสวนพฤติกรรมการ "อุ้ม" พวกเดียวกันจากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะกรณีที่ นายอดิศัย แต่งตั้ง นายวีระศักดิ์ วงศ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) ซึ่งเป็นคนของกระทรวงศึกษาธิการด้วยกันเป็นประธานการสอบสวนวินัย ร.ต.อ.วรเดช แทนที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นผู้สอบสวนตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ


พฤติกรรมของ นายอดิศัย ดังกล่าว นอกจากบ่งบอกถึงความไม่ต้องการให้มีการแสวงหาความจริงกรณีข้อสอบรั่ว รวมทั้งมีท่าทีปกป้องผู้กระทำผิดอย่างชัดเจนดังกล่าวแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในด้านการศึกษาและการบริหารทางการศึกษา 

 

ซึ่งกรณีนี้นักวิชาการด้านกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ระบุว่า ร.ต.อ.วรเดชมีความผิดวินัยร้ายแรง แต่ นายอดิศัย ระบุว่า แค่มีความผิดวินัยเท่านั้น หรือกรณีการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการซี 11 นั้นโดยหลักการแล้วจะต้องพักราชการผู้ถูกสอบวินัยร้ายแรงเอาไว้ก่อน

 

อีกทั้งผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินการสอบสวนนั้นต้องไม่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้มีส่วนได้เสียอีกด้วย

 

ปมร้อนลุกลามในใจ \"อุ๊งอิ๊ง\" หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ไม่สามารถแก้ตก

 

นักวิชาการจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ถึงกับระบุอย่างตรงๆ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2547 ว่า สาเหตุที่นายอดิศัยไม่ยอมเปิดเผยรายงานผลการสอบสวนทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า มีเงื่อนงำและมีการบิดบังความจริงต่อสาธารณชนอย่างแน่นอน

 

"องค์กรภาคประชาชนไม่ปล่อยคนผิดลอยนวล"


จากพฤติกรรมพยายามปิดบังซ่อนเร้นดังกล่าวของกระทรวงศึกษาธิการทำให้เกิดการรวมพลังเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรประชาชนหลายองค์กรที่กำลังเคลื่อนไหว 2 แนวทางตามขั้นตอนคือ 


แนวทางแรก ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อให้วินิจฉัยสั่งการให้ นายอดิศัยเปิดเผยรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ


แนวทางที่สองนั้น จะใช้มาตรการทางสังคมโดยจะทำหนังสือถึงนายอดิศัย ขอให้ส่งรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงไปให้ ก.พ.เพื่อดำเนินการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับ ร.ต.อ.วรเดช 


เนื่องจากเห็นว่า นายอดิศัยมีส่วนได้เสียจึงไม่มีสิทธิ์ที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ร.ต.อ.วรเดช

 

นอกจากนี้ยังจะปรึกษาไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้หรือไม่ และหากถึงที่สุดแล้วยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ก็จะใช้มาตรการตั้งโต๊ะเพื่อล่ารายชื่อ ร.ต.อ.วรเดช ให้ออกจากราชการ และขับไล่ นายอดิศัย ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

 

สรุป

 

ความเคลื่อนไหวของสังคมที่เกิดขึ้นเวลานั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกรณี "ข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว" เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนั้น

 

ที่สำคัญการกระทำผิดและการปกป้องการกระทำในครั้งนี้ถูกจับได้ไล่ทัน ด้วยผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นมาเอง 

 

ฉะนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและนายกรัฐมนตรีขณะนั้น นิ่งเฉยไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบใดๆ เหมือนกับกรณีอื่นๆ เป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้