svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ราชวิทยาลัยจุฬาฯ เผย หยุด โอมิครอน ได้ที่ปลายจมูก ชี้ เข็ม 3-4 ป้องกันไม่ได้

20 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผย ข้อมูล หยุดโควิด "โอมิครอน" ได้ที่...ปลายจมูก ระบุ ถึงฉีดเข็ม 3-4 ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ชี้ วิธีป้องกันให้ได้ผลมากกว่า คือ ป้องกันจุดที่ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย

20 มีนาคม 2565 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยข้อมูล หยุดโควิดร้าย...ที่ปลายจมูก โดยระบุว่า การระบาดของเชื้อโอมิครอน ชี้ให้เห็นว่าการได้รับวัคซีน 3 หรือ 4 เข็ม ก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แม้ว่าจะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเพราะวัคซีนแบบฉีดจะไปกระตุ้นการผลิตแอนติบอดีในเลือดเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่เข้ามาภายในร่างกายแล้ว วิธีป้องกันให้ได้ผลมากกว่าน่าจะเป็นการป้องกันจุดที่ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกาย ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาวัคซีนรูปแบบต่าง ๆ จนนำไปสู่การผลิตวัคซีนแบบพ่นจมูก ที่อาจกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่แท้จริงในสงครามโควิด-19

ราชวิทยาลัยจุฬาฯ  เผย หยุด โอมิครอน ได้ที่ปลายจมูก ชี้ เข็ม 3-4 ป้องกันไม่ได้

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า วัคซีนแบบพ่นจมูกมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิดีกว่าแบบฉีด ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากรได้เร็วกว่า ลดการแพร่กระจายของเชื้อดีกว่าและยังใช้ง่ายกว่า นักวิจัยเชื่อว่าวัคซีนแบบพ่นจมูกนี้อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ สามารถป้องกันไวรัสได้ตรงจุด นั่นก็คือ เยื่อบุทางเดินหายใจซึ่งเป็นด่านแรกที่ไวรัสโคโรนาจะผ่านเข้าสู่ร่างกาย เปรียบเสมือนการวางทหารรักษาการที่ประตูเพื่อสกัดผู้บุกรุก เมื่อเทียบกับวัคซีนแบบฉีดที่เป็นการวางกองกำลังขับไล่ข้าศึกที่รุกล้ำเข้ามาถึงตัวแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนแบบพ่นจมูกที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไม่น้อยกว่า 12 ตัวทั่วโลก

วัคซีนแบบพ่นจมูกจะป้องกันพื้นผิวเยื่อเมือก (mucosal vaccine) ของจมูก ปาก และลำคอ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของไวรัสได้ดี มากกว่าวัคซีนแบบฉีด ดร.มิชาล ทาล (Michal Tal) นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือกมีความสำคัญมากสำหรับการป้องกันการติดเชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อมักจะมีภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือกที่แข็งแรงขึ้น นั่นอาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ถึงมีภูมิต่อต้านเชื้อเดลตามากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน

ราชวิทยาลัยจุฬาฯ  เผย หยุด โอมิครอน ได้ที่ปลายจมูก ชี้ เข็ม 3-4 ป้องกันไม่ได้

นักวิจัยทำการทดลองให้วัคซีนกระตุ้นภูมิทางจมูก กับสัตว์ทดลองหลายชนิด ได้แก่ หนู แฟร์ริต หนูแฮมสเตอร์และลิง ผลการวิจัยพบว่า วัคซีนดังกล่าว สามารถป้องกันไวรัสโคโรนาได้หลากหลายสายพันธุ์ ศ.อากิโกะ อิวาซากิ นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ผู้เป็นหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า วัคซีนแบบพ่นจมูกกระตุ้นเซลล์หน่วยความจำภูมิคุ้มกันและแอนติบอดีในจมูกและลำคอ ช่วยเสริมการป้องกันจากการฉีดวัคซีนปฐมภูมิ โดยวัคซีนแบบพ่นจมูกจะผลิตแอนติบอดีที่เรียกว่า IgA บนผิวเยื่อเมือก ซึ่งการพ่นวัคซีนเป็นฝอยละอองจะสามารถเคลือบระบบทางเดินหายใจทั้งหมด รวมทั้งปอด ไม่ใช่แค่เพียงปลายจมูกและลำคอเท่านั้น วัคซีนแบบพ่นจมูกจึงเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ สอดคล้องกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแบบฉีดครบ ๒ โดสแล้วบางรายมีแอนติบอดี IgA เพียงร้อยละ ๓๐ เท่านั้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อขั้นรุนแรงได้

ปัจจุบัน การฉีดวัคซีนโควิดเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพื่อฝึกเซลล์ภูมิคุ้มกันให้ผลิตแอนติบอดี IgG ไหลเวียนอยู่ในเลือดเพื่อรับมือกับไวรัส ซึ่งแม้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิตได้ แต่ก็เป็นภูมิชั่วคราวและอาจจะไม่ทันต่อการกลายพันธุ์ของไวรัส และที่สำคัญคือแอนติบอดี IgG ยังเดินทางไปไม่ถึงจมูกและลำคอ การฉีดเข็มกระตุ้นภูมิจึงยังเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนยังต้องอาศัยอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนเข็มและกระบอกฉีดยาได้

ดังนั้น วัคซีนแบบพ่นจมูกอาจจะเป็นอาวุธที่ช่วยให้เรายุติสงครามโรคโควิด-19 เร็วขึ้น

อ้างอิง

https://time.com/6148257/nasal-vaccines-covid-19/

https://www.nytimes.com/2022/02/02/health/covid-vaccine-nasal.html

ข้อมูล-ภาพ จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ราชวิทยาลัยจุฬาฯ  เผย หยุด โอมิครอน ได้ที่ปลายจมูก ชี้ เข็ม 3-4 ป้องกันไม่ได้

logoline