svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อาจารย์สามสี"แนะคนรักปชป.จริงต้องช่วยแก้ไม่ใช่ลาจาก

19 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ไตรรงค์ สุวรรณคีรี"เผยคนย้ายจากประชาธิปัตย์ หากรักจริงควรอยู่ช่วยแก้ไม่ใช่ลาจาก พร้อมยกคำพูด "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช" ปชป.ไม่พรรคผึ้งแตกรัง แต่เป็นสถาบันการเมือง

19 มีนาคม 2565 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งในงานสัมมนา ส.ส.พรรค ที่จ.เชียงใหม่ ว่า การรวมกลุ่มของนักการเมือง หากไม่มีอุดมการณ์ที่แน่วแน่มั่นคง ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ ก็เป็นแค่กลุ่มการเมืองที่หวังผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่พรรคการเมือง ดังนั้นอุดมการณ์ของพรรคถือเป็นสิ่งสำคัญ และคนจะมารวมกันได้ต้องมีอุดมการณ์ที่ตรงกันก่อน ต้องเห็นพ้องต้องกันถึงจะมารวมกัน ไม่ใช่เห็นแก่ประโยชน์หรืออามิสสินจ้าง อย่างนี้ไม่ใช่พรรคการเมือง

ส่วนกรณีที่มีคนในพรรคลาออกไปหลายคน ต้องยอมรับว่าบางคนมาหาตนถึงบ้าน บางคนโทรศัพท์มาเล่า ส่วนตัวได้ฟังแล้วก็รู้สึกว่า เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ว่าการบริหารงานในพรรคใจแคบ มีการดูเฉพาะกลุ่มคนของนายจุรินทร์ บางคนก็บอกระแวงว่า ในช่วงสมัยของทั้ง นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ และนายจุรินทร์ มีอำนาจแฝงชักใยอยู่เบื้องหลังที่มีอำนาจมากกว่า

 

"ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรับฟังมา แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องจริง หรือเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่กินใจคนเหล่านั้น ถ้าเรารักพรรคประชาธิปัตย์ เราก็ควรต้องหนักแน่น และแก้ไขปัญหาภายในพรรค ไม่ใช่ลาออกทิ้งพรรคไป สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องรับฟัง ให้ความสำคัญ และนำมาแก้ไขปรับปรุงภายในพรรคของเรา " นายไตรรงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เหมือนยุคหนึ่งที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ได้เชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรค มาหารือกัน โดย ม.ร.ว.เสนีย์ บอกว่าพรรคการเมืองตั้งขึ้น โดย 3 อ. คือ

 

1.อำนาจ ที่สั่งโดยนักการเมือง

 

2. อามิส คือ การให้เงินไปซื้อส.ส.มารวมกัน

 

3. อุดมการณ์ ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นไม่มีอุดมการณ์ มีแค่อำนาจและอามิส ที่สุดแล้วพรรคนั้นก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อหมดอำนาจหรืออามิส พรรคเหล่านั้นก็ต้องสูญสลายไปเหมือนผึ้งแตกรัง ซึ่งเป็นรังผึ้งที่ไม่มีนางพญาอยู่ แต่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ ดังคำพูด ม.ร.ว.เสนีย์ พูดเอาไว้ เมื่อประชาธิปัตย์อายุ 12 ปี ซึ่งปัจจุบันประชาธิปัตย์มีอายุถึง 76 ปีแล้ว


 

logoline