svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กทม. แนะนำประชาชน ปฏิบัติตัวอย่างไร ห่างไกลโรคช่วงหน้าร้อน

19 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กทม. แนะนำประชาชน ปฏิบัติตัวอย่างไร ห่างไกลโรคช่วงฤดูร้อน เผยในหน้าร้อนมักพบผู้ป่วยอุจจาระร่วง บิด อาหารเป็นพิษ ลมแดด รวมถึงโรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า

19 มีนาคม 2565 นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยสุขอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่มักพบการระบาดของโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ อุจจาระร่วง บิด อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย ลมแดด รวมถึงโรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ โดยแนะนำการปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธีเพื่อให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคในช่วงฤดูร้อน

 

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย โดยอาการเริ่มแรก คือ ถ่ายอุจจาระเหลวบ่อยครั้ง ปวดท้อง มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ในรายที่เสียน้ำมากอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ 

 

กทม. แนะนำประชาชน ปฏิบัติตัวอย่างไร ห่างไกลโรคช่วงหน้าร้อน

ประชาชนจึงควรระมัดระวังและดูแลความสะอาดของอาหารและน้ำ โดยการเลือกรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เลือกซื้ออาหารที่สดและสะอาด ดื่มน้ำและเครื่องดื่มรวมถึงน้ำแข็งที่ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพ (อย.) ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียม ปรุง และรับประทานอาหาร หรือหลังเข้าห้องสุขา อีกทั้งถ่ายอุจจาระในห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ 

ส่วน โรคลมแดด (Heat Stroke) เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งมีอาการสำคัญ คือ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ 

 

กทม. แนะนำประชาชน ปฏิบัติตัวอย่างไร ห่างไกลโรคช่วงหน้าร้อน

อย่างไรก็ตาม สามารถป้องกันโรคลมแดดได้ โดยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน โปร่งสบาย และระบายอากาศได้ดี สวมแว่นกันแดด กางร่ม หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดและดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

นอกจากนี้ยังพบโรคที่เกิดกับสัตว์เลี้ยงในฤดูร้อน ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ ซึ่งเกิดจากสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล โดยสัตว์พาหะนำโรคที่สำคัญที่สุด ได้แก่ สุนัข แมว ลิง ชะนี กระรอก กระแต

 

เมื่อคนได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการปรากฏภายใน 15–60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วันหรือนานเป็นปี ซึ่งผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าเสียชีวิตทุกราย 

 

กทม. แนะนำประชาชน ปฏิบัติตัวอย่างไร ห่างไกลโรคช่วงหน้าร้อน

 

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ระวังบุตรหลานไม่ให้คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้รับวัคซีน

 

เมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อีกทั้งควรกักขังสัตว์ที่กัดไว้อย่างน้อย 10 วัน เพื่อสังเกตอาการว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ถ้าสัตว์ตายในระหว่างกักตัวให้แจ้งสัตวแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อส่งตรวจโรค

 

"ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันตนเองและบุคคลรอบข้างจากโรคที่เกิดในช่วงฤดูร้อนและเพื่อสุขอนามัยที่ดีต่อไป" นพ.ชวินทร์ กล่าวในที่สุด

 

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร

logoline