svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดประกาศ กคพ. รับ"คดีแตงโม"เป็นคดีพิเศษได้หรือไม่

12 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ผู้ใดบ้างมีสิทธิร้องขอให้ DSI รับคดี "แตงโม-นิดา" เป็นคดีพิเศษ

ตามที่ อดีตสมาชิกวุฒิสภา รสนา โตสิตระกูล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "คดีแตงโม" ที่นักแสดงสาว "แตงโม นิดา" พลัดตกเรือจมน้ำกลางเจ้าพระยาท่ามกลางข้อสงสัยต่างๆในสังคม อดีตฯ ส.ว.ได้มีการเสนอให้นายกรัฐมนตรี ส่งคดีนี้ไปให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ด้วยเหตุผล 3 ข้อ อีกทั้ง DSI เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการทำคดีที่มีเงื่อนงำซับซ้อนมากกว่า และเป็นการรักษาภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วย นั้น

 

เปิดประกาศ กคพ. รับ\"คดีแตงโม\"เป็นคดีพิเศษได้หรือไม่

 

"สำนักข่าวเนชั่น" ได้ตรวจสอบประกาศ กคพ. พบว่ามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123/ตอนพิเศษ 95 ง/หน้า 54/31 สิงหาคม 2547 ประกาศ ณ วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2547

สำหรับ "หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ" นั้น พ.ร.บ.การสอบสวนดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 10(4) และมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้

  • ข้อ 1 "หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ.2547"
  • ข้อ 2 "หลักเกณฑ์นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ 21 ส.ค.2547
  • ข้อ 3ให้ประธาน กคพ. รักษาการตามหลักเกณฑ์นี้

 

สำหรับผู้ที่จะร้องขอให้เป็นคดีพิเศษ กำหนดไว้ในหมวด 1 บททั่วไป ข้อ 4 ให้ "ผู้ร้องขอ" มีดังนี้
(1) กรรมการคดีพิเศษ
(2) ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(3) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
สามารถคำร้องขอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ

 

เปิดประกาศ กคพ. รับ\"คดีแตงโม\"เป็นคดีพิเศษได้หรือไม่

 

หมวด 2 "คำร้องขอ" กำหนดรายละเอียดไว้ในข้อ 5 คำร้องขอเพื่อให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษอย่างน้อยจะต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ และที่อยู่ ผู้ร้องขอ
(2) สักษณะและพฤติการณ์ของการกระทำความผิด พร้อมพยานหลักฐานหรืออ้างพยานหลักฐาน
(3) ความเสียหายที่ได้รับ (ถ้ามี)
(4) ชื่อผู้กระทำความผิด (ถ้ามี)
(5) เหตุผลที่ยื่นคำร้องขอ
(6) ได้เคยมีการร้องทุกข์ กล่าวโทษ ยื่นคำร้องขอ หรือฟ้องคดีมาก่อนหรือไม่ ผลเป็นประการใด
(7) ลายมือชื่อผู้ร้องขอ
ข้อ 6 คำร้องขอและเอกสารประกอบการร้องขอ ให้ทำเป็นภาษาไทย หรือแปลเป็นภาษาไทย ที่ได้รับรองความถูกต้องแล้ว

ส่วนการดำเนินการตามคำร้องขอ อยู่ในหมวด 3 ข้อ 7 ให้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เว้นแต่ในกรณีที่กรรมการคดีพิเศษ เป็นผู้ร้องขอ ให้ปฏิบัติตามข้อ 12  

 

ข้อ 8 เมื่อกรมฯ ได้รับคำร้องขอตามข้อ 6 แล้ว ให้ส่งคำร้องขอดังกล่าวไปยังคณะอนุกรรมการที่กคพ.แต่งตั้ง และให้ประธานอนุกรรมการฯ จัดประชุมเพื่อดำเนินการพิจารณาโดยเร็วก่อนส่งคำร้องไปยังคณะอนุกรรมการฯ ตามวรรคหนึ่ง หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเห็นว่าข้อมูล ข้อเท็จจริง ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ จะสั่งให้ทำการสืบสวนเพื่อตรวจสอบ ข้อเท็จจริงก่อนก็ได้
ให้ กคพ. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะ ก็ได้ ให้แต่ละคณะมีจำนวนไม่เกิน 5 คน โดยมีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษระดับ 9 ขึ้นไป เป็นประธานอนุกรรมการฯ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษระดับ 8 ขึ้นไป เป็นอนุกรรมการและเลขานุการฯ

 

ข้อ 9 ให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาคำร้องโดยเร็ว และให้คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นประกอบการพิจารณาด้วยว่าสมควรที่ กคพ. จะมีมติให้คดีความผิดทางอาญานั้น เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ประการใด โดยให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำเรื่องเข้าสู่วาระการประชุม กคพ. เพื่อพิจารณาต่อไป


ข้อ 10 การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมด การลงมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการให้ถือเสียงข้างมาก อนุกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

 

เปิดประกาศ กคพ. รับ\"คดีแตงโม\"เป็นคดีพิเศษได้หรือไม่


ข้อ 11 เมื่อ กคพ. มีมติเป็นประการใดแล้ว ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหนังสือแจ้งผู้ร้องขอทราบถึงมติดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 7 วันทำการ นับแต่วันที่ กคพ. มีมติ

 

ข้อ 12 กรณีกรรมการเป็นผู้ร้องขอ ให้ส่งเรื่อง หรือแจ้งให้อธิบดีทราบก่อนวันประชุม กคพ. อย่างน้อย 3 วันทำการ และให้อธิบดีนำเรื่องเข้าสู่วาระการประชุม กคพ. เพื่อพิจารณาต่อไป เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือเป็นเรื่องสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรรมการอาจเสนอให้พิจารณาในวันประชุม กคพ. ก็ได้

 

ข้อ 13 ในกรณีที่ กคพ. เคยมีมติไม่รับเรื่องใดเป็นคดีพิเศษแล้ว ไม่ตัดสิทธิผู้ร้องขอที่จะยื่นคำร้องขอไหม่ใด้อีก หากผู้ร้องขอได้แสดงให้เห็นว่ามีเหตุผลหรือข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เป็นเหตุให้สมควรจะทบทวนมติเดิม

 

ข้อ 14 ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าผู้ร้องขอเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอหรือไม่ ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้ขี้ขาด

 

ผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ เปิดเผย "สำนักข่าวเนชั่น"ว่า การร้องนายกฯ เพื่อขอให้รับคดีแตงโม-นิดา เป็นคดีพิเศษ สามารถทำได้ เพราะนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ตามกฎหมาย

logoline