svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

คดี"แตงโม"-คลี่คดีแบบ"ไม่มโน"ต้องทำอย่างไร?

03 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ท่ามกลางกระแสข่าวและข้อมูลล้นทะลักในคดี"แตงโม นิดา"ทั้งจากสื่อกระแสหลัก และสายสืบโซเชียลฯ ตลอดจนการคิด วิเคราะห์ ขุดค้น และคาดเดากันไปต่างๆ นานา บรรยากาศแบบนี้แม้จะสร้างความสนใจและความอยากรู้อยากเห็นให้กับผู้คนในสังคม

แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่า อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และตีตราคนบางคนล่วงหน้า ด้วยข้อหาเกินจริง

 

โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองจเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สป.ยธ. คือบุคคลผู้หนึ่งที่ออกมาเตือนสติสังคม ว่าไม่ควร "มโน" มากเกินไป ควรยึดตามพยานหลักฐานที่เห็นอย่างเป็นทางการ ขณะที่ตำรวจก็ควรไขความกระจ่าง เพื่อลดความสับสนของสังคม

 

ความเห็นของ พ.ต.อ.วิรุตม์ สรุปได้ดังนี้ 

 

-จนถึงเวลานี้ยังไม่พบพยานหลักฐานอะไรที่บ่งชี้ว่า แตงโมถูกกระทำให้ตายโดยเจตนา ทั้ง "ประสงค์ต่อผล" โดยตรง หรือ "ย่อมเล็งเห็นผล" ไม่ว่าจากผู้ใด 

 

-กรณีข้อหาเรื่องความประมาท อาจเป็นเพราะคนขับเรือไม่มีใบอนุญาต ซึ่งจะถือเป็นสัญญาณแห่งความประมาทอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ในมุมของ "กฎหมายและความยุติธรรม" จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ยังไม่มีความชัดเจน 

 

-การไม่มีใบอนุญาตขับเรือ เป็นเรื่องของกฎหมายห้าม ส่วนความประมาทเป็นเรื่องของ พฤติกรรมการกระทำหรือไม่กระทำในสิ่งที่มีหน้าที่ต้องทำ หรือวิญญูชนพึงกระทำ 

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองจเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังได้ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีใบอนุญาตขับรถ แต่ขับรถตามกฎจราจรทุกประการ เวลาชนกัน จะบอกว่าเราประมาท เพราะไม่มีใบขับขี่ได้หรือไม่ 

 

-เท่าที่เห็น พฤติการณ์ที่ถือว่าเป็นความประมาทจริงๆ คือ การที่คนขับเรือขณะเกิดเหตุ ไม่ดูแลให้ผู้โดยสารสวมใส่เสื้อชูชีพ 

 

-ตำรวจต้องดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐาน และชี้แจงต่อสังคมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผู้คนจะได้ไม่ "มโน" กันไปเตลิดเปิดเปิงเช่นที่เป็นอยู่

 

-คำว่า "ความลับ" ในสำนวน ควรจะเลิกพูดกันเสียที เพราะเมื่อแจ้งข้อหากับผู้ถูกกล่าวหาแล้ว จะมี "ความลับ" ได้อย่างไร 

 

คดี"แตงโม"-คลี่คดีแบบ"ไม่มโน"ต้องทำอย่างไร?

-ถ้าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ ก็ไม่ควรแจ้งข้อหาใคร และไม่จำเป็นต้องเสนอศาลออกหมายจับด้วย แค่ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อหาก็ได้ ทำไมถึงไม่ทำ 

 

-เรื่องเสื้อขาด รอยช้ำ และข้อสงสัยอื่นๆ ทุกคนสามารถคิดและจินตนาการได้ แต่การที่รัฐจะกล่าวหาใครว่ากระทำผิดอาญา จำเป็นต้องมี "พยานหลักฐานที่ชัดเจนมากพอที่จะเสนอให้อัยการสั่งฟ้องและพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้" ไม่ใช่มีพยานหลักฐานแค่ "พอฟ้อง"

 

สมมติ หากไม่เชื่อที่ "แซน" พูดว่า "แตงโม" ไปปัสสาวะนั่งท้ายเรือแล้วพลัดตกไปขณะลุกขึ้นยืน ก็ต้องถามว่าเพราะอะไร มีพยานหลักฐานแตกต่างไปหรือพิสูจน์ว่า "แซน" พูดเท็จ ฯลฯ

logoline